จัดหนักแกนนำม็อบ ตร.ใช้กฎหมายไล่จับ9ราย-เตือนปรอทแตก/1กย.ถกแก้รธน.


เพิ่มเพื่อน    

  บช.น.ตั้งโต๊ะแถลงยิบปฏิบัติการฟ้าแลบจับ 9 แกนนำม็อบปลดแอก โดนจัดหนักผิดมาตรา 116 และสารพัดข้อหา  ลั่นไม่ได้กลั่นแกล้งทำตามกฎหมายพร้อมคำนึงสิทธิมนุษยชน   “ศาล” พิเคราะห์พยานหลักฐานตำรวจมีอำนาจเต็ม แต่ให้ประกันตัวระหว่างสู้คดี ตีราคาประกันคนละแสนไม่ต้องมีมูลค่า กำชับห้ามทำผิดซ้ำ “ก้าวไกล-จตุพร” เตือนระวังปรอทแตกลุกลาม รัฐสภานัด 1 ก.ย. ถกญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านเสนอ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม ยังคงมีความต่อเนื่องจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมแกนนำจัดกิจกรรมชุมนุมต่างๆ ในช่วงวันที่ 19-20 ส.ค. โดย พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. แถลงความคืบหน้าว่า บช.น.ได้จับกุมแกนนำจัดกิจกรรมชุมนุมต่างๆ ตามหมายจับศาลอาญา โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.กรณีการจัดกิจกรรม "เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 3 ส.ค. เพื่อเรียกร้องในประเด็นต่างๆ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้จับกุมตัวนายอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ตามหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 11 ส.ค. ในข้อหา 1.กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน 2.เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ 3.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 4.นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ จากนั้นนำตัวส่ง สน.ชนะสงคราม ดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา
 พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวต่อว่า กรณีจัดกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. เพื่อเรียกร้องในประเด็นต่างๆ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งได้จับกุมแกนนำตามหมายศาลในช่วงก่อนหน้านี้ไปแล้ว 3 ราย คือ นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายอานนท์ และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และเมื่อวันที่ 19-20 ส.ค.ได้จับกุมตัวแกนนำตามหมายศาลอาญา ลงวันที่ 11 ส.ค.2563 อีก 8 ราย ได้แก่ นางสุวรรณา ตาลเหล็ก, นายบารมี ชัยรัตน์, นายกรกช แสงเย็นพันธ์, นายทศพร สินสมบุญ, นายเดชาธร บำรุงเมือง, นายธานี สะสม, นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ และนายธนายุทธ ณ อยุธยา โดยเป็นการจับกุมในข้อหา 1.ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน 2.ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 3.ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค 4.ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร 5.ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่นหรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร 6.ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนนฯ 7.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (ทุกรายยกเว้นนายทศพร) 8.นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ (เฉพาะนายทศพร) นำตัวส่ง สน.สำราญราษฎร์ ดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา
ตร.ลั่นยึดสิทธิมนุษยชน
"บช.น.ขอเรียนให้ทราบว่าการดำเนินคดีและการจับกุมแกนนำจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของผู้ถูกจับกุม ได้ให้แพทย์ตรวจร่างกาย แจ้งสิทธิ และควบคุมตัวตามกฎหมาย" พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าว และว่า กรณีการชุมนุมวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีการออกมาจับกุมแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ที่ศาลอาญา พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้นำตัวนายบารมี, น.ส.สุวรรณา และนายกรกช  ผู้ต้องหาคดีชุมนุมร่วมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก มายื่นคำร้องฝากขังต่อศาลอาญาครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 20-31 ส.ค.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-3 ไม่ประสงค์ให้การต่อพนักงานสอบสวน
ต่อมา นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า เตรียมยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน โดยได้ยื่นคัดค้านทั้ง 4 ราย (รวมนายอานนท์) ที่จะถูกนำฝากขัง
จากนั้นเวลา 11.10 น. พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้ควบคุมตัวนายอานนท์มาฝากขัง โดยท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบพบว่าผู้ต้องหานี้ยังเป็นบุคคลเดียวกับผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ จ.325/2563 ลงวันที่ 14 ส.ค.2563 ด้วย
ส่วนที่ สน.สำราญราษฎร์ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าสังเกตการณ์สถานการณ์หลังเมื่อช่วงเช้านายเดชาธร หรือฮอคกี้ กลุ่มแรปเปอร์ RapAgainstDictatorship ถูกตำรวจ สภ.สมุทรปราการจับกุมตัวก่อนนำส่ง สน.สำราญราษฎร์ หลังขึ้นร้องเพลงในงานชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. โดยในเวลา 11.11 น. ตำรวจพานายเดชาธรนั่งรถตู้ของตำรวจมาถึงโรงพัก โดยเจ้าตัวไม่ได้พูดอะไรกับสื่อมวลชน เพียงแต่ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว แล้วยกมือไหว้ทักทายก่อนเดินขึ้นโรงพักทันที ซึ่งต่อมานายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัวนายเดชาธร
นายการุณให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบตำรวจเพื่อขอใช้ตำแหน่งประกันตัวว่า ตำรวจได้จับกุมแกนนำ 5 คนที่ขึ้นชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ, นายเดชาธร, นายธานี, นายทศพร และนายธนายุทธ ในความผิดเดียวกันฐานยุยงปลุกปั่น มาตรา 116 และอื่นๆ รวม 7-8 ข้อหา ตอนนี้ได้ทำบันทึกจับกุมที่ สน.สำราญราษฎร์ ก่อนนำส่งศาลอาญาเพื่อพิจารณาฝากขัง โดย ส.ส.กำลังทำเรื่องขอใช้ตำแหน่งประกันตัว ซึ่งจากการที่สังเกตกลุ่มแกนนำนั้นพบว่าทุกคนยังสบายดี
ต่อมาเวลา 14.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจคุม 5 ผู้ต้องหาขึ้นรถควบคุมตัวผู้ต้องหาของตำรวจ 2 คัน ก่อนพาไปฝากขังยังศาลอาญา โดยทั้งหมดพากันชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว
ศาลให้ประกันตัว
ในเวลา 17.30 น. ที่ศาลอาญา การยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหากลุ่มคณะประชาชนปลดแอก ที่มีการยื่นฝากขังช่วงเช้า 4 ราย กับต่อมาในช่วงบ่ายอีก 5 รายนั้น ภายหลังศาลอาญาไต่สวนคำร้องและคำคัดค้านฝากขังของผู้ต้องหาแล้ว นายกฤษฎางค์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งเก้า โดยใช้หลักทรัพย์เป็นตำแหน่ง ส.ส.ของนักการเมือง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาว่าจะให้ประกันตัวในชั้นฝากขังหรือไม่
ต่อมาในเวลา 18.29 น. ศาลอาญาเผยแพร่เอกสารข่าวกรณีฝากขัง 9 ผู้ต้องหาแกนนำคณะประชาชนปลดแอก โดยศาลได้ไต่สวนคำร้องขอหมายขัง มีทนายความของผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าร่วมฟังการไต่สวนในห้องพิจารณา พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจขอสอบสวนได้ และเมื่อเป็นการร้องฝากขังครั้งที่ 1 ซึ่งพนักงานสอบสวนมีเวลาสอบสวนเพียง 48 ชั่วโมง กรณีจึงมีเหตุจำเป็นเพื่อการสอบสวนต่อไป ส่วนข้อคัดค้านอื่นไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาให้ตามขอ นอกจากนี้ศาลได้แจ้งสิทธิการขอประกันตัวหรือขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องหาทราบแล้วว่า ผู้ต้องหาสามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวหรือขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ทันที หรือสามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ  
หลังจากศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมด ผู้ขอประกันได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องหาทั้งหมด  ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณาชั่วคราว โดยมีประกันในวงเงินคนละ 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่มีเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน ศาลได้แจ้งคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวและปล่อยตัวผู้ต้องหาแล้ว
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงการจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลหลายคน ว่าตำรวจทำตามกฎหมาย? ก็ให้ว่าไปตามกฎหมาย หากไม่รักษากฎหมายเราจะอยู่กันอย่างไร? ก็ต้องแล้วแต่ตำรวจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า? จำเป็นต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาเพื่อป้องกันการปะทะและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตร?กล่าวว่า ไม่รู้ เมื่อถามย้ำว่ามีความเป็นห่วงการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีๆ
พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงการชุมนุมของนักเรียน นิสิต และนักศึกษาว่า เราเฝ้าดู เพราะเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งเป็นพัฒนาการของมนุษย์ เพราะเด็กเป็นคนที่ใฝ่รู้ หากอยู่ในกรอบก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ส่วนความเห็นของนักการเมืองนั้น นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ยุทธวิธีแจ้งข้อหาหนัก ไล่จับกุมแกนนำทีละคน ไม่ช่วยให้พลังมวลชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนลดลง แต่ในทางตรงกันข้าม กลับยิ่งทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคำอวดอ้างของรัฐบาลในเวลาก่อนหน้านี้ ว่าจะรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาและประชาชน รัฐบาลชุดนี้คือเชื้อโรคแห่งความแตกแยกที่กัดกินร่างกายของคนไทยให้เจ็บป่วยเรื้อรังมานานหลายปีแล้ว สิ่งที่รัฐบาลกระทำเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำลายบรรยากาศของการหันหน้าเข้าพูดคุยกันอย่างสันติ
นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า วิธีที่รัฐบาลนำมาใช้จัดการผู้ชุมนุม คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เป็นการใช้ยุทธวิธีปราบปราม โดยไม่ใช้อาวุธปราบปราม เพื่อลดทอนพลังของการชุมนุมให้อ่อนล้า จนกลายเป็นการแข่งความอึด ขอถามไปยังตำรวจ ทหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทั้งหลายว่าจะยอมพลีตนเป็นกลไกให้เขาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายอนาคตของชาติแบบนี้หรือ ทำไมไม่อยู่ข้างที่ถูกต้อง ทำไมถึงเลือกอยู่กับระบอบที่กดขี่คนส่วนใหญ่ ระบอบที่ท่านกำลังรับใช้อยู่ ไม่มีวันดำรงอยู่ได้ตลอดไป วันหนึ่งมันต้องล่มสลายแน่นอน เลือกมาอยู่ข้างประชาชนเถิด เมื่อท่านอยู่ข้างประชาชน ประชาชนจะคุ้มครองท่าน
เตือนระวังปรอทแตก
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า ปัจจุบันการเคลื่อนไหวไม่มีแกนนำเด่นชัด ราวกับเป็นการนำหมู่ เกิดคนรุ่นใหม่มาแสดงบทบาทมากมาย ดังนั้นจึงอธิบายไม่ได้ว่าเมื่อถูกจับกุมการชุมนุมก็จบ ซึ่งดูแล้วไม่จบแน่นอน การเคลื่อนไหวครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือความชอบธรรมเป็นภูมิต้านทานอย่างแข็งแรง โดยถ้ามีการจัดการกันอย่างรวดเร็ว ในการแก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนองในสิ่งที่เรียกร้องแล้ว เท่ากับทำให้สถานการณ์ที่กำลังร้อนได้เย็นลง แต่ถ้าไม่ซื่อสัตย์ต่อเขา เล่นเกมกับเขา หลอกเขา ครั้งนี้ปรอทแตกแน่นอน
ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์ถึงการชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 ข้อ 1.บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่การใช้เสรีภาพย่อมอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย ต้องไม่เป็นการพูด แสดงท่าทาง หรือกระทำโดยวิธีการอื่น ที่ก้าวร้าว ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือจาบจ้วง หรือการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) 2.เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถแสดงความคิดเห็นได้เสรีในเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก แต่การใช้สิทธิดังกล่าว ก็ต้องเคารพต่อสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่นด้วย 3.ขอให้ผู้ชุมนุมแจ้งข้อเรียกร้องที่มีความชัดเจน มีเหตุผลที่อธิบายได้ ไม่เลื่อนลอย ไม่ผูกขาดความถูกต้องสมควรแต่ฝ่ายเดียว
4.ขอให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 5.ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้หลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการการชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการที่จัดทำโดยผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มอย่างสันติ 6.กรณีมีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัย เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้จะไม่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงไม่ว่ากรณีใดๆ 7.ขอให้ทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน เคารพต่อความคิดเห็น ความเชื่อและศรัทธาที่แตกต่าง และ 8.ขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักสิทธิมนุษยชนและใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา (อ่านรายละเอียดหน้า 4)  
1ก.ย.ถกแก้รัฐธรรมนูญ
วันเดียวกัน ยังคงมีความต่อเนื่องในการเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดย นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า จากการตรวจสอบความถูกต้องหลังจากฝ่ายค้านยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่มีการขีดฆ่าชื่อ ส.ส.พรรคก้าวไกลที่ร่วมเสนอญัตตินั้น ผู้นำฝ่ายค้านได้ทำหนังสือลงวันที่ 19 ส.ค. ระบุว่าการยื่นญัตติในวันที่ 17 ส.ค.มีผู้ลงชื่อ 152 คน แต่ขีดฆ่าออกไป 21 คน ทำให้เหลือผู้เสนอญัตติจริง 132 คน ซึ่งเพียงพอต่อการเสนอญัตติ โดยผู้นำฝ่ายค้านยืนยันว่า ส.ส.ที่ถอนชื่อทั้ง 21 คนประสงค์ขอถอนชื่อจริง และได้เซ็นชื่อกำกับเรียบร้อยแล้ว ทำให้กระบวนการยื่นญัตติดังกล่าวสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับแล้ว  
        “วันเวลาที่จะประชุมร่วมรัฐสภาคือ ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ หากอภิปรายแล้วไม่จบจะอภิปรายต่อในวันใดนั้นจะแจ้งอีกครั้ง” นพ.สุกิจกล่าว
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ในวันที่ 21 ส.ค. จะประชุม กมธ.เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และจะส่งให้ที่ประชุมสภาพิจารณาได้ในปลายเดือน ส.ค. โดยเนื้อหาหลักๆ นอกจากเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว ยังเสนอถึงปัญหาในรัฐธรรมนูญต่างๆ
ขณะที่ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธให้สัมภาษณ์ท่าทีของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่เสนอให้ยุบสภาภายหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ว่า "อู้ย ไปตัดต่อๆๆ คำพูดของหัวหน้าพรรคเขา"
นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรค ภท. ในฐานะโฆษกพรรค แถลงว่า พรรคพร้อมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และกำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพรรค ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ในสัปดาห์หน้า และหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว พรรคไม่ขัดข้องให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน โดยสาระสำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคนั้นคล้ายพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชนมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนการแก้ไขอำนาจหน้าที่ ส.ว.นั้น ให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. พรรคไม่ขอชี้นำ
    นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา? (ชทพ.) กล่าวว่า แนวทางการใช้ ส.ส.ร.จะเป็นแนวทางเดินที่ทำให้ช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ แต่มี ส.ส.ร.ต้องมีเงื่อนไขว่าในหมวดที่ 1 และ 2 นั้นต้องไม่มีการปรับปรุง ต้องไม่ไปแตะต้อง? เพราะเป็นสิ่งที่พวกเราคนไทยเคารพนับถือ? ในส่วนการแก้ไขมาตราอื่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นที่มาของ ส.ว. ก็ต้องมาหารือกัน?
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า พรรคสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้แก้ไข รธน. รวมทั้งการเลือก ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยึดโยงกับประชาชนและประชาธิปไตย
    นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุในหัวข้อ “อย่าเอามือของคนปัจจุบันไปบีบคอคนในอนาคต ส.ส.ร.ต้องเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนได้ทุกเรื่องทุกประเด็นของรัฐธรรมนูญ” มีเนื้อหาว่า บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวด 15 นั้น ไม่ได้กำหนดห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด โดยในมาตรา 256 (8) ยังระบุว่าการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ต้องนำไปทำประชามติด้วย ซึ่งสื่อความหมายว่าการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 สามารถกระทำได้
“หากเราตั้งข้อจำกัดตั้งแต่ต้นว่าบางเรื่องบางประเด็นนั้นห้ามพูด จะมีประโยชน์อะไรที่จะสร้างพื้นที่แห่งการพูดคุยแลกเปลี่ยนแห่งนี้ขึ้นมา นั่นคงไม่ใช่แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สังคมไทยอยากเห็นอย่างแน่นอน ผมเห็นว่าในเมื่อตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแล้ว เราไม่ควรจำกัดว่า ส.ส.ร.ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ แต่ควรเปิดให้คุยกันได้ในทุกเรื่องในทุกประเด็น อนาคตของประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นควรเป็นเช่นไร อย่าได้เอามือของคนปัจจุบันไปบีบคอคนในอนาคต อย่าปิดปากประชาชนไม่ให้พูดในสิ่งที่ควรพูด ในสิ่งที่พวกเขาอยากพูดอีกเลยครับ” นายรังสิมันต์โพสต์
    ขณะเดียวกัน ที่สำนักงาน?คณะกรรมการ?การ?เลือกตั้ง (?กกต.) ?นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบและเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคก้าวไกล (กก.) กรณี ส.ส.พรรคก้าวไกลออกมาระบุว่าพรรคเตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 1 และหมวด 2
วันเดียวกัน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. พร้อมคณะ ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดยไม่ลงมติ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อซักถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะรัฐบาลใน 2 เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติการเมือง เนื่องจากสถานการณ์ประเทศ โดยนายชวนระบุว่า จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของญัตติก่อน ซึ่งตอนนี้มีหลายเรื่อง โดยในวันที่ 1 ก.ย.เป็นการประชุมร่วมรัฐสภาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการอภิปรายตามมาตรา 152 กำลังพิจารณาหาวันอยู่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา หรือหลังจากประชุมร่วมรัฐสภา ทั้งนี้ต้องรอหารือกับรัฐบาลก่อน.

 

    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"