วิถี'ออเจ้า'เคล้านาฏศิลป์  เพิ่มทักษะเด็กเล็ก


เพิ่มเพื่อน    


    กระแสละครย้อนยุคเรื่อง 'บุพเพสันนิวาส' ขณะนี้ ได้เป็นส่วนสำคัญทำให้คนไทยตื่นตัวและชื่นชอบประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก เห็นได้จากภาพที่มีการแต่งชุดไทยไปเที่ยว ชักชวนกันไปหาอาหารการกินสำรับไทย และที่คึกคักมากคือมีผู้คนเดินทางไปตามรอยโบราณสถาน เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ซึ่งเป็นฉากในละครเรื่องนี้ 
    ไม่เพียงผู้ใหญ่ วัยทำงานหรือคนรุ่นใหม่เท่านั้น ปรากฏการณ์ความนิยมดังกล่าวได้ส่งผลไปสู่เด็กและเยาวชน อินกับละครกลายเป็นพี่หมื่นและแม่หญิงการะเกดกันมากมาย

ละครฮอต "ต่อยอด" รักษ์ไทย
    จากความฮอตฮิตของละคร มีการต่อยอดทำให้เด็กๆ เข้าถึงและรู้จักวัฒนธรรมไทยมากขึ้นอย่าง โครงการอบรมนาฏศิลป์-ดนตรีสำหรับเด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไปภาคฤดูร้อน ประจำปี 2561 ซึ่งวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เปิดอบรมในช่วงปิดเทอมนี้ มีพ่อแม่ ผู้ปกครองส่งลูกหลานมาเรียนซัมเมอร์รำไทยมากขึ้น จุดเด่นของการอบรมมีการใช้คำพูดของตัวละคร อย่างคำว่า 'ออเจ้า' อันโด่งดัง บทละครที่คุ้นเคย จนกระทั่งเพลงละครมาเล่นกับเด็กๆ ทำให้การเรียนรู้นาฏศิลป์เต็มไปด้วยความสนุกสนานและเข้ายุคสมัยสุดๆ
 

   และที่น่าประทับใจสาวน้อยยุค 4.0 แต่ละคนนุ่งโจงห่มสไบสวยงามเลียนแบบแม่หญิงการะเกดเข้าเรียน ณ ตึกละคร วิทยาลัยนาฏศิลป จ.นครปฐม ซึ่งในห้องเรียนนี้มีตั้งแต่เด็กเล็กอายุ 3 ขวบครึ่งจนกระทั่ง 7 ขวบ โดยมี 'ครูน้อง' หรืออาจารย์จิตตินัฏ ชุ่มชื่น ครูละครประจำภาควิชานาฏศิลป์ไทย รับหน้าที่ถ่ายทอดวิชารำไทย พร้อมสอดแทรกเกร็ดความรู้วัฒนธรรมให้เด็กๆ ทุกคน
    ครูน้อง-จิตตินัฏ กล่าวว่า ช่วงนี้กระแสความเป็นไทยกำลังมาแรงมาก เริ่มตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชทานงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว" มีประชาชนแต่งชุดไทยไปเที่ยวงาน จากนั้นละคร "บุพเพสันนิวาส" ออกอากาศจนโด่งดัง นางเอกเป็นคนสมัยใหม่ที่ข้ามกลับมายุคโบราณ ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมไทย ทั้งกิริยา มารยาท การทำอาหารและขนมไทย แม้แต่คำพูดโบราณ กลายเป็นส่วนเสริมให้การเรียนนาฏศิลป์และงานฝีมือได้รับความสนใจมากขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่ดีที่เกิดขึ้น

    "การอบรมนาฏศิลป์สำหรับเด็กปีก่อนๆ จะนุ่งโจงแดง แต่ซัมเมอร์นี้กระแสออเจ้าฮิตมาก ครูจึงเตรียมผ้าสไบอัดพลีตสีต่างๆ มาให้แต่งเพิ่ม เด็กจะชอบมาก เพราะเหมือนออเจ้าในละคร ทุกคนดูละครเรื่องนี้กันหมด ถามว่าทำไมชอบละคร เด็กๆ ชอบแม่การะเกด ซึ่งเป็นผู้หญิงร่าเริง เก่ง ฉลาด ครูใช้ตัวละครนี้ให้เด็กๆ ที่มาเรียนรำเลียนแบบได้ จะสื่อสารกับพวกเขา ถ้าอยากเป็นการะเกดจะต้องเป็นเด็กดี เรียนเก่ง มารยาทงาม ระหว่างเรียนครูจะเรียกออเจ้าๆ ลงท้าย เจ้าคะ โอเคมั้ยคะ พร้อมท่าทางประกอบ เด็กเล็กเป็นวัยกำลังเรียนรู้และจดจำ การใส่เรื่องวัฒนธรรมไทยไปด้วยยิ่งดี" ครูละครขวัญใจเด็กๆ กล่าว
    ใน 14 วันของการอบรมรำไทย ครูน้องบอกว่า เด็กๆ จะได้เรียนรู้ท่ารำพื้นฐาน เพลงช้า เพลงเร็วแบบตัด รู้จักการตั้งวง ดัดมือ ดัดเท้า จีบล่าง จีบบน จนกระทั่งสอดสร้อยมาลา รวมถึงท่ารำประกอบเพลงเด็กๆ เป็นเพลงสั้นๆ ภาษาไม่ซับซ้อน แต่มีความหมาย ทั้งเพลงทรงพระเจริญ สอดแทรกเรื่องความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือเพลงอธิษฐาน ที่มีการร่ายรำประกอบเพลงที่มีคุณค่าและงดงาม เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมครั้งนี้จะจัดแสดงผลงานชุดรำอธิษฐานด้วย ถ้ามีเด็กเพียงหนึ่งคนเรียนต่อนาฏศิลป์ ครูก็ปลื้มใจแล้ว ในห้องเรียนยังสอดแทรกการละเล่นอย่างไทยเพื่อพัฒนาทักษะและพัฒนากล้ามเนื้อของเด็กๆ ตลอดจนได้เปิดมุมมองใหม่ๆ รู้จักกฎกติกา การละเล่นแบบนี้ฝึกการอยู่ร่วมกัน ต่างจากการเล่นเกมหรือติดหน้าจอ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน  

    "ออเจ้าทั้งหลายยังได้ซึมซับมารยาทไทย ความมีระเบียบตั้งแต่หัวจรดเท้า เสื้อผ้า หน้าผม นุ่งผ้าแดง ก่อนเรียนและเลิกเรียนจะมีการไหว้อย่างอ่อนน้อม ระหว่างเรียนถ้าจะไปเข้าห้องน้ำต้องขออนุญาต คนโบราณใช้คำว่า ไปมาลาไหว้ การนั่งคุยกับครูจะนั่งพับเพียบเรียบร้อย ก็ไม่ถึงขนาดผ้าพับไว้ แต่เด็กมีสัมมาคารวะมากขึ้น เมื่อกลับไปที่บ้าน ผู้ปกครองหลายคนแปลกใจ ลูกๆ น่ารักกว่าเดิม เคารพผู้ใหญ่ รู้จักไหว้ หากครอบครัวช่วยกันต่อยอดจะกลายเป็นนิสัย และออเจ้าจะช่วยกันรักษาวัฒนธรรมไทย ละครมีตอนอวสาน แต่การปลูกฝังความเป็นไทยในชีวิตประจำวันสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องบังคับ แต่ทำให้พวกเขารักความเป็นไทยเท่านั้น" ครูน้อง-จิตตินัฏ กล่าว

    ออเจ้า..ลูกหลานเปิดความรู้สึก
    บรรยากาศการเรียนรำ ออเจ้าตัวน้อยแต่ละคนจัดเต็มสุดพลัง ทุกคนตั้งใจเรียนเป็นอย่างมาก โดยน้องน่านฟ้า-เด็กหญิงพิชานันท์ พิสิทธิ์เมธี อายุ 4 ปี บอกว่า อยากมาเรียนรำทุกวัน ชอบการรำและชอบแต่งชุดไทยเหมือนการะเกด เพื่อนๆ ก็น่ารักทุกคน ครูน้องใจดีมาก เรียกหนู ออเจ้า แล้วก็สอนให้ไหว้สวยๆ ถ้ามีเรียนรำไทยอีกจะให้คุณแม่พามา ชอบที่สุด อยากชวนให้เพื่อนๆ แต่งชุดไทยกัน

    ส่วน น้องกัสจัง-เด็กหญิงบุรพร อ่อนละมูล อายุ 7 ปี บอกว่า ชอบดูละครบุพเพสันนิวาส อยากเป็นทั้งแม่หญิงการะเกดและแม่หญิงจันทร์วาด เห็นในละครแต่งชุดไทยสวยงาม มาเรียนที่นี่ได้แต่งชุดไทยห่มสไบชอบมากๆ ครูน้องสอนเรื่องการรำประกอบเพลงต่างๆ หนูเคยเรียนมาบ้าง แต่ยังสนุก ตอนนี้หนูรักวัฒนธรรมไทย ปิดเทอมหน้าอยากจะมาเรียนนาฏศิลป์อีก มีความสุขได้รำไทย พบกับเพื่อนๆ ได้ร้องเล่นกันอย่างสนุกสนาน
    ออเจ้าอีกคน น้องนุ้กนิ้ก-เด็กหญิงกมลชนก ศรีบุญเรือง อายุ 7 ปี มั่นอกมั่นใจในความสวยเหมือนการะเกด แต่ละท่วงท่ารำสร้างรอยยิ้ม บอกว่า ชอบพี่หมื่นในละครมาก แล้วก็อยากจะเป็นการะเกด เพราะทั้งเก่งและเป็นคนดี เวลาเรียนก็สนุกมาก เพราะครูสอนรำไทย แล้วก็ให้เล่นแม่งูเอ๋ย ซ่อนแอบ จ้ำจี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเล่นมาก่อน ขอบคุณครูน้องที่ช่วยสอน หนูเห็นว่าวัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อยากให้ทุกคนรักความเป็นไทย

    ที่วิทยาลัยนาฏศิลปนอกจากบุคคลภายนอกอย่างน้องๆ เด็กเล็กที่มาเรียนซัมเมอร์ ช่วงนี้มีน้องใหม่นักเรียนชั้น ม.1 วิทยาลัยนาฏศิลป มาเรียนปรับพื้นฐานก่อนเปิดเทอมกันคึกคัก ในมุมมองนักเรียนนาฏศิลป์ต่อกระแสออเจ้า น้องไหม-ภคพร วงษ์วรภาส กล่าวว่า ดีใจที่คนไทยหันกลับมาสนใจความเป็นไทย แต่งชุดไทยไปทำงาน ไปเที่ยวกันมากขึ้น ตนก็ได้ดูละครเรื่องนี้ จุดเด่นปลูกฝังให้คนรักความเป็นไทย มารยาทไทยในอดีต ตนก็เป็นเยาวชนคนหนึ่งที่รักนาฏศิลป์ไทย การเรียนนาฏศิลป์ได้ฝึกกิริยามารยาท ความฝันสูงสุดในชีวิตอยากจะเป็นครูละคร จะตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่  

    ขณะที่ น้องเฟิร์น-อภิรดา เปรมานุพันธ์ นร.ชั้น ม.1 บอกว่า ละครมาแรงมากทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์ และอยากเรียนรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับความเป็นไทย  นาฏศิลป์เป็นอีกวิชาหนึ่งที่อยากจะชวนให้ทุกคนมาทำความรู้จัก นอกจากพัฒนาทักษะ ยังเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพที่สำคัญ ตนจะพยายามอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยของแผ่นดินและบอกต่อคนรอบข้างให้มากที่สุด
    นับเป็นอีกหนึ่งห้องเรียนช่วงปิดเทอมที่เกาะกระแสออเจ้าได้เกิดประโยชน์สุดๆ เติมเต็มเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าใจความสวยงามของวัฒนธรรมได้ชัดเจนมากขึ้น แนวทางของวิทยาลัยนาฏศิลปใครจะไปประยุกต์ใช้ก็ไม่หวงนะเจ้าคะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"