20 ส.ค. 2563 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมล่าสุด ครั้งที่ 7/2563 ประจำเดือนสิงหาคม ได้มีการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีผู้บริโภค 3 ราย ซึ่งเป็นผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินหรือแบบจ่ายล่วงหน้า (พรีเพด) ต้องการปิดบริการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายหนึ่ง จำนวนทั้งสิ้น 24 เลขหมาย รวมยอดเงินกว่า 237,000 บาท แต่ถูกปฏิเสธการคืนเงินคงเหลือในระบบให้ จึงได้ร้องเรียนความเดือดร้อนดังกล่าวมายังสำนักงาน กสทช.
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ โดยได้เชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเข้าชี้แจง พบว่า ผู้ร้องเรียนกลุ่มนี้ขอปิดบริการครั้งละหลายเลขหมาย และในแต่ละเลขหมายมียอดการขอคืนเงินสูงเกือบ 10,000 บาท ซึ่งด้านโอเปอเรเตอร์อ้างว่า ยอดเงินในเลขหมายที่สูงมากนี้มีลักษณะไม่ใช่การเติมเงินไว้เพื่อการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามปกติ แต่ใช้เป็นช่องทางการโอนเงินหารายได้ แล้วมาขอรับเป็นเงินสด
อีกทั้ง ยอดเงินบางส่วนก็เป็นการรับโอนต่อมาจากเลขหมายอื่นผ่านบริการของบริษัทที่ให้ผู้ใช้บริการระบบรายเดือน (โพสต์เพด) สามารถเติมเงินค่าโทรให้กับผู้ใช้เบอร์เติมเงินได้ ซึ่งพบว่า มีผู้ใช้บริการแบบรายเดือนบางรายถูกหลอกให้เติมเงินให้ผู้อื่นและยังไม่ชำระค่าบริการให้แก่บริษัท ดังนั้น บริษัทจึงต้องการอายัดเงินดังกล่าวทั้งหมดไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบ
ขณะที่ ด้านผู้ร้องเรียนชี้แจงว่า ที่มาของเงินในระบบส่วนใหญ่มาจากการซื้อค่าโทรผ่านร้านค้าออนไลน์ที่มีส่วนลดให้ และผู้ร้องเรียนบางรายมีการซื้อค่าโทรผ่านคนรู้จัก ซึ่งเมื่อได้รับการเติมเงินค่าโทรแล้ว ก็จะโอนเงินสดผ่านบัญชีธนาคารไปให้ผู้เติม ซึ่งค่าโทรที่ได้รับจะมีมูลค่าสูงกว่ายอดเงินที่จ่ายไป โดยที่ไม่รู้ว่าค่าโทรที่ได้รับเป็นการโอนมาจากผู้ใด
ขณะที่ ภายหลังการไต่สวนข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่าย ที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ มีมติชี้ขาดว่า เนื่องจากประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ระบุว่า เมื่อสัญญาเลิกกัน ในกรณีที่โอเปอเรเตอร์มีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ โอเปอเรเตอร์ก็ต้องคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับโอเปอเรเตอร์ โดยที่ต้องดำเนินการคืนเงินภายใน 30 วันนับจากวันที่มีการบอกเลิกสัญญา และในกรณีที่บริษัทไม่สามารถคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการได้ภายในกำหนดระยะเวลา บริษัทต้องชำระค่าเสียประโยชน์เพิ่มเติมในอัตราเท่ากับดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้โดยนับตั้งแต่ 30 วันหลังจากวันที่มีการบอกเลิกสัญญา ดังนั้น ในกรณีนี้บริษัทจึงไม่มีสิทธิปฏิเสธการคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการ แต่หากบริษัทไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวในการที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง รวมทั้งอาจขอศาลอายัดเงินจำนวนดังกล่าวไว้ก่อนได้
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ กล่าวว่า กฎหมายของ กสทช. กำหนดไว้ชัดเจนว่า หากมีการปิดเบอร์ระบบเติมเงินและผู้ใช้บริการขอเงินในระบบคืน เมื่อได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วว่าเป็นเจ้าของเบอร์ บริษัทก็ต้องคืนเงินให้ ซึ่งในกรณีผู้ร้องเรียนทั้งสามรายนี้ ชัดเจนว่ามีการลงทะเบียนซิมเป็นเจ้าของเบอร์ และมีหลักฐานการโอนเงินให้กับร้านค้าออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งร้านค้าเหล่านี้ก็มีการประกาศโฆษณาขายค่าโทรบนอินเตอร์เน็ตอย่างเปิดเผยชัดเจน ดังนั้น จึงเป็นการซื้อค่าโทรที่ได้มาโดยสุจริต
ส่วนการรับซื้อค่าโทรที่โอนค่าโทรมาจากเลขหมายรายเดือนก็มีลักษณะเป็นการยินยอมตกลงใจกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากทางบริษัทเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องไปสกัดกั้นที่ตัวกลางหรือไล่ทลายตัวกลาง ไม่ใช่มายึดเงินที่ปลายทางแล้วเก็บเงินไว้ในบัญชีบริษัท ซึ่งการทำเช่นนั้นย่อมไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เงินที่เติมเข้าไปในระบบคือเงินชำระค่าบริการล่วงหน้า ซึ่งผู้บริโภคอาจจะใช้บริการมากน้อยหรือไม่ใช้บริการเลยก็เป็นสิทธิของผู้บริโภค ดังนั้น เมื่อมีการยกเลิกบริการ มีเงินเหลือเท่าไรก็ต้องคืนให้ผู้บริโภคเต็มจำนวน ส่วนถ้าบริษัทยังมีความประสงค์ที่ไม่ต้องการคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการ ก็ต้องไปใช้สิทธิตามกฎหมายอื่น เช่นฟ้องศาลเพื่อขออายัดเงินดังกล่าว แต่บริษัทก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเงินค่าโทรส่วนใดที่ได้มาโดยทุจริตหรือได้มาจากการต้มตุ๋นหลอกลวง ส่วนค่าโทรที่ได้มาโดยสุจริตก็ต้องคืนให้กับผู้ใช้บริการตามกฎหมายที่มีอยู่
“หากเป็นการครอบครองเบอร์โดยสุจริตและเป็นการเติมเงินโดยสุจริต ก็เป็นความชอบธรรมที่ผู้ใช้บริการต้องได้เงินคงเหลือคืน ส่วนการที่ผู้ใช้บริการได้ค่าโทรมาในราคาถูกแล้วไปขอคืนเงินในราคาเต็มนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการต้องไปอุดช่องโหว่ในการทำโปรโมชั่นทางการตลาดกับตัวแทนส่งเสริมการขายของบริษัทเอง รวมถึงบริษัทยังสามารถพิจารณาปรับลดวงเงินคงเหลือสะสมสูงสุดในแต่ละเลขหมาย ซึ่งปัจจุบัน กสทช. กำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 10,000 บาท แต่บริษัทก็สามารถปรับลดลงได้เอง เช่น 2,000 บาท หรือ 3,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบปกติ และเพื่อไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจนำช่องทางนี้ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือว่าในส่วนของบริการที่เปิดให้ผู้ใช้บริการรายเดือนสามารถเติมเงินให้กับเบอร์เติมเงินได้นั้น บริษัทก็อาจกำหนดให้ผู้ใช้บริการสามารถเติมเงินให้ได้เฉพาะกับเบอร์ภายในครอบครัวหรือปลายทางที่รู้จักชัดเจน เพื่อแสดงความประสงค์ว่ามีความต้องการเติมเงินให้จริง แต่ถ้าบริษัทเลือกที่จะนิ่งเฉยไม่พยายามอุดช่องโหว่เหล่านี้ ก็จะส่งผลเสียกับบริษัทเอง” นายประวิทย์ กล่าว
นายประวิทย์ กล่าวว่า ส่วนในประเด็นที่โอเปอเรเตอร์จะปฏิเสธไม่คืนเงินค่าบริการคงเหลือในระบบ โดยอ้างเหตุเพราะยังไม่ได้รับชำระหนี้การเติมเงินนั้น ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากบริการที่บริษัทให้เครดิตลูกค้ารายเดือนสามารถเติมเงินให้ลูกค้าระบบเติมเงินนั้น เป็นบริการที่บริษัทนำเสนอขึ้นมาเอง และโดยระบบแล้ว เมื่อเงินมีการโอนก็ย่อมเป็นสิทธิของผู้ใช้บริการระบบเติมเงินโดยทันที ส่วนบริษัทก็มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะไปเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการระบบรายเดือนที่เป็นผู้เติมเงินได้ในภายหลัง
“ฝากเตือนถึงผู้ใช้บริการทั่วไปเกี่ยวกับการใช้บริการเบอร์รายเดือนเติมเงินค่าโทรให้กับเบอร์เติมเงินว่า ต้องระมัดระวังเรื่องการถูกหลอกลวง โดยควรต้องตรวจสอบว่าปลายทางมีตัวตนที่ชัดเจน เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทมือถือ แต่เมื่อถึงกำหนดชำระค่าบริการ ผู้ใช้บริการก็จะกลายเป็นหนี้ค่าบริการกับบริษัท และอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ใช้บริการต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือเรื่องรหัสโอทีพี โดยต้องเก็บเป็นความลับเฉพาะบุคคล อย่าบอกกับผู้อื่นในทุกกรณี เพราะจะทำให้มิจฉาชีพสวมรอยทำธุรกรรมออนไลน์ในฐานะที่เป็นตัวเราได้ ต้องเตือนตัวเองไว้เสมอว่า การบอกรหัสโอทีพีให้กับบุคคลอื่นก็เหมือนกับเป็นการยื่นกุญแจบ้านให้โจรเข้ามาขโมยของในบ้านของเราเอง ดังนั้นหากมีใครมาขอให้บอกรหัสโอทีพี ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า คนๆ นั้นอาจเป็นมิจฉาชีพ อย่าหลงเชื่อง่ายๆ เด็ดขาด” นายประวิทย์ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |