20 ส.ค.63 - นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของพรรค ชทพ.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จากการที่ชทพ.ได้เป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปการเมืองตั้งแต่เมื่อปี 2538 สมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงคิดว่าแนวทางการใช้ ส.ส.ร.นั้น จะเป็นแนวทางเดินที่จะสามารถทำให้ช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ และหลายฝ่ายก็เรียกหาอยู่
นายวราวุธ กล่าวว่า แต่การที่จะมี ส.ส.ร.ต้องมีเงื่อนไขว่าในหมวดที่ 1 และหมวดที่2 นั้นจะต้องไม่มีการปรับปรุง จะต้องไม่ไปแตะต้อง เพราะเป็นสิ่งที่พวกเราคนไทยเคารพนับถือ ในส่วนการแก้ไขมาตราอื่นนั้นไม่ว่าจะเป็นที่มาของวุฒิสภา(ส.ว.) ก็ต้องมาหารือกัน เพราะก่อนหน้านี้ที่มี ส.ว. ชุดปัจจุบันก็เกิดข้อครหาขึ้น แต่เมื่อมี ส.ว. ที่มีการเลือกตั้งขึ้นมาในสมัยนั้น ชทพ.ก็จำได้ว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสภาผัวเมีย สภาพ่อลูกบ้าง ก็เกิดข้อครหาเช่นกัน ฉะนั้นปัญหาเหล่านี้ทาง ส.ส.ร. จะต้องนั่งถกกันให้ดีว่าจะเอาอย่างไร จะเลือกหรือไม่เลือก ต่างกันอย่างไร จะสอบถาม ความเห็นทั่วประเทศผ่านประชาชนหรือไม่ เพราะเราทุกคนเห็นมากันหมดแล้วทั้งเลือกตั้ง ส.ว. แต่งตั้ง ส.ว. ดังนั้นวันนี้จึงต้องถามกับสังคมไทยว่า เลือกตั้งหรือไม่เลือก สังคมไทยอยากได้แบบไหน คนไทยคิดว่าอย่างไร กลไกเหล่านี้ ต้องเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. ที่จะตัดสินว่าที่มาของส.ว. จะเป็นอย่างไร ดังนั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือการหาที่มาของ ส.ส.ร. จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
"ชทพ.เห็นว่าถึงอย่างไรก็ต้องมี 2 สภาคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพราะในหลายๆประเทศจะต้องมีสองสภาเอาไว้คานกัน ตรวจสอบซึ่งกันและกันและแน่นอนว่าส.ส.ร.จะต้องประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่ น้องๆที่ออกมาแสดงความเห็นกันมากมายในขณะนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีตัวแทนของพวกเขาขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกัน ชทพ.เห็นว่าก็ต้องมีคนรุ่นใหญ่อยู่ด้วยเช่นกัน อย่างที่หัวหน้าชทพ.เคยพูดไว้ว่าประเทศชาติถ้าไม่มีคนรุ่นใหญ่ รุ่นคุณพ่อคุณแม่ ก็คงจะมาไม่ถึงวันนี้ แต่ถ้าหากไม่มีคนรุ่นใหม่ เข้ามาเสริมเราก็ไม่สามารถจะเดินต่อไปข้างหน้าได้ ดังนั้น ส.ส.ร. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผสมผสานกัน ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่เข้าด้วยกัน เหมือนที่ ชทพ.ทำอยู่ทุกวันนี้ และคนรุ่นใหญ่จะต้องยอมรับฟังความเห็น คนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่เองก็ต้องพยายามเข้าใจคนรุ่นใหญ่ด้วยเช่นกันว่าที่มาที่ไปของแนวความคิดต่างๆนั้นมาได้อย่างไร"
นายวราวุธ กล่าวว่า และที่สำคัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเราทำมาหลาย 10 ครั้งแล้ว ดังนั้นจะต้องตั้งเป้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ให้ดีว่าท้ายที่สุดแล้วเราต้องการบริบทของสังคมไทยในอนาคตหลังจากโควิด-19 แล้วเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็ต้องถอยกลับมาดูว่าเป้าประสงค์ของ ส.ส.ร. ชุดที่จะมีขึ้นนั้นควรจะออกมาในรูปแบบใด แต่อย่างไรก็ตาม ส.ส.ร. จะต้องมีความเป็นอิสระ เหมือนในสมัยที่นายบรรหารทำนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับจากคนทุกสาขาอาชีพที่เข้ามา และได้ให้อิสระ ในการปฎิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่
ดังนั้น จึงเป็นความสำคัญว่าถ้ามีการตั้งส.ส.ร.ขึ้นมา ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่นั้นในนาทีนี้แรงกดดันทางการเมืองที่มีขึ้นในประเทศไทยขณะนี้เกิดขึ้นโดยการใช้อารมณ์เป็นตัวตั้งอยู่พอสมควร ดังนั้นการจะตั้ง ส.ส.ร. จากนี้อย่าเพิ่งทำด้วยความสะใจ อย่าเพิ่ง เอาเพื่อใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสิน เพราะถ้าใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินแล้วรัฐธรรมนูญที่ออกมาก็จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกมาด้วยการใช้อารมณ์ ถึงได้เน้นว่าทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่หากมีการประชุมก็ต้องเข้าใจความต้องการ และเข้าใจในเหตุผลซึ่งกันและกัน เพราะไม่เช่นนั้นถ้ารุ่นใหญ่จะเอาแต่ตัวเอง ว่าที่ผ่านมาจะเอาแบบนี้ก็คงไม่เกิดประโยชน์ หรือถ้ารุ่นใหม่บอกว่าจะต้องเปลี่ยนไปเป็นแบบนี้ มันก็ จะไม่จบและออกมาบูดๆ เบี้ยวๆ ดังนั้น ต้องคัดเลือกคนที่เข้ามา ทำหน้าที่ ส.ส.ร.ให้ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ชทพ.จะเสนอแนะให้นำข้อดีของรัฐธรรมนูญปี 40 มาปรับใช้ในการ แก้ไขปรับปรุงและธรรมนูญฉบับใหม่นี้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ทุกฉบับมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ฉบับปี 40 ข้อดีก็มีมาก แต่ก็มีข้อด้อยเหมือนกัน แม้แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันข้อดีก็มีข้อด้อยก็เยอะ ดังนั้นถ้าจะนำข้อดีของแต่ละฉบับมารวมกัน แล้วศึกษาข้อด้อยของแต่ละฉบับว่าเป็นอย่างไรคงต้องเป็นบทบาทของ ส.ส.ร.ที่จะต้องพิจารณาแนวทางดำเนินการ
เมื่อถามว่า บางพรรคเห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ตามข้อเสนอของภาคประชาชน นายวราวุธ กล่าวว่า คงต้องมาดูกันว่าเมื่อถึงวันที่รับธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อแก้แล้วออกมาใช้ แล้วสภาชุดนี้มีเวลาเหลืออีกเท่าไหร่ รวมไปถึงความพร้อมในการเตรียมการตามรัฐธรรมนูญนั้น มีเวลาเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น ยังตอบในขณะนี้ไม่ได้ จึงต้องดูสถานการณ์ในวันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างเสร็จว่าจะดำเนินการกันอย่างไร
เมื่อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะหารือเรื่องแก้ไขแล้วธรรมนูญเมื่อไหร่ นายวราวุธ กล่าวว่า ทราบว่าในวันเดียวกันนี้จะมีการพูดคุยหารือกันในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งทาง ชทพ.ได้มอบหมายให้นายนิกร จำนง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นตัวแทนร่วมหารือ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |