จ.ชุมพร/ ชาวตำบลรับร่อ จ.ชุมพร จัดเวทีประชาคมแก้ไขปัญหาที่ดิน ลงมติเสนอเพิกถอนป่าสงวนฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าฯ ทับที่ทำกินชาวบ้านเกือบ 130,000 ไร่ ด้าน รศ.ดร.ธนพร ศรียากุล ที่ปรึกษาฯ งานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เผยรัฐบาลแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และเตรียมออกประกาศภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าได้ ขณะที่สมสุข บุญญะบัญชา กรรมการ พอช. แนะชาวบ้านหากได้สิทธิในที่ดินอย่าหยุดกระบวนการพัฒนาในพื้นที่ ต้องวางแผนร่วมกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ และบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ฯลฯ
ตำบลรับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร มี 23 หมู่บ้าน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 230,000 ไร่ สถาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง ที่ราบสูง ที่ราบระหว่างภูเขา และที่ลาดเชิงเนินสลับกันไปทั่วทั้งพื้นที่ มีพื้นที่บางส่วนอยู่ติดชายแดนประเทศเมียนมาร์ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน ฯลฯ มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีการประกาศเขตป่าสงวนฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าฯ ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านจำนวน 13,446 แปลง รวมเนื้อที่ 129,592 ไร่ จากประกาศดังกล่าวเป็นเหตุทำให้ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ไม่สามารถนำที่ดินไปจดจำนอง หรือใช้เป็นหลักทรัพย์ให้เกิดประโยชน์อื่นใดได้ นอกจากนี้ยังขาดงบประมาณที่จะพัฒนาพื้นที่ ชาวตำบลรับร่อจึงได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ทางราชการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่บรรลุผล
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่โรงเรียน ตชด.บ้านพันวาล ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร สภาองค์กรชุมชนตำบลรับร่อร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลรับร่อ และภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ ได้จัดเวทีประชาคมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนในตำบลรับร่อ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 5,000 คน
ในการจัดเวทีประชาคมครั้งนี้ พี่น้องชาวตำบลรับร่อได้ร่วมลงชื่อและมีมติร่วมกันเสนอให้เพิกถอนเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อและป่าสลุย (บางส่วน) ในพื้นที่ตำบลรับร่อ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพื่อให้ประชาชนที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินได้รับเอกสารแสดงสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สามารถทำประโยชน์และอยู่อาศัย เกิดความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการประกอบอาชีพ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 7 กำหนดว่า “การเปลี่ยนแปลงเขตหรือการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้กระทำได้โดยออกกฎกระทรวง และเฉพาะกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนบางส่วนให้มีแผนที่แสดงแนวเขตที่เปลี่ยนแปลง หรือเพิกถอนนั้นแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย”
นอกจากนี้ยังมีเวที “เสวนาสาธารณะการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล การแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า สู่การสร้างความมั่นคงของชุมชนท้องถิ่น” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร.ธนพร ศรียากุล ที่ปรึกษาประจำสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี คณะทำงานเฉพาะกิจขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) นายอวยพร มีเพียร นายก อบต.รับร่อ ฯลฯ
รศ.ดร.ธนพร ศรียากุล ที่ปรึกษาประจำสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี คณะทำงานเฉพาะกิจขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กล่าวว่า นโยบายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำที่ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญเร่งด่วน ก็คือปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ แต่ด้วยสภาพตัวของกฎหมาย พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เนื้อหาหลักคือ ห้ามคนอยู่ในป่า
รศ.ดร.ธนพร ศรียากุล
“ในสภาพความเป็นจริง พี่น้องประชาชนทำมาหากินอยู่กับป่า อยู่กันมาตั้งแต่ก่อนจะมีการประกาศเขตป่า แต่กลายเป็นว่า พระราชบัญญัติ 2 ฉบับ ทำให้ประชาชนกลายเป็นคนผิด จนทำให้เป็นปัญหาที่ค้างคามาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ.2541 มีการใช้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2541 เป็นมติที่พยายามจะแก้ไขปัญหานี้ ด้วยมาตราการทางบริหาร แต่เนื่องจากมติ ครม.ไม่ได้มีสถานภาพเท่ากับพระราชบัญญัติ และที่สำคัญก็คือ ตั้งแต่ใช้มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี ยังไม่เคยพิสูจน์สิทธิใครได้เลย แสดงให้เห็นว่ามติ ครม. ไม่อาจจะใช้แก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล” รศ.ดร.ธนพรกล่าว
รศ.ดร.ธนพร กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลปัจจุบันได้แก้กฎหมายพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพื่อแก้ไขปัญหานี้ วิธีการแก้ไขปัญหานี้ ข้อที่ 1 คือ ภาครัฐต้องยอมรับความจริงว่าในป่าอนุรักษ์มีพี่น้องเข้าไปทำมาหากินและอยู่อาศัยจริง ซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติเดิม พ.ศ. 2504 ซึ่งห้ามไม่ให้มีคนเข้าไปอยู่ในป่าอนุรักษ์ทั้งสิ้น
ข้อที่ 2 เมื่อมีปัญหานี้จริง มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 สำรวจมา 20 กว่าปี สำรวจไม่เสร็จสักทีว่ามีคนอยู่ในป่าทั้งหมดกี่คน มีแปลงทั้งหมดกี่ไร่ กี่งาน กี่ตารางวากันแน่ ดังนั้นพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงให้กรมอุทยานแห่งชาติ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา สำรวจการถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ ซึ่งกฎหมายได้บังคับไว้เลยคือให้สำรวจให้เสร็จภายใน 240 วัน
“เพราะฉะนั้นประเด็นที่อยากจะพูดในวันนี้คือ ประเด็นที่หนึ่ง รัฐบาลเริ่มต้นกฎหมายฉบับนี้ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงว่า คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ และมีคนอาศัยทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ป่าตามกฎหมายจริง ซึ่งแตกต่างจากปี 2504 อย่างสิ้นเชิง ประเด็นที่สอง รัฐบาลเห็นบทเรียนจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ว่า สำรวจ 20 ปีไม่เสร็จ ดังนั้นสำรวจ 240 วัน เจ้าหน้าที่ต้องสำรวจให้เสร็จ อันนี้เป็นบทเร่งรัดเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง” รศ.ดร.ธนพร กล่าว
รศ.ดร.ธนพร กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการหารือร่วมระหว่างสำนักบริหารงานนโยบายของนายกรัฐมนตรี กรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรฯ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยมีบทสรุปร่วมกันคือ 240 วัน คือบทสรุปเร่งรัดเจ้าหน้าที่ เพราะเรากลัวว่าเจ้าหน้าที่จะทำช้า
“เพราะฉะนั้นพี่น้องที่มาเข้าร่วมรับฟังในวันนี้ ถ้าใครมีที่ดินอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ครบ 240 วัน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ถ้าใครตกหล่นจริงๆ มาไม่ทันจริงๆ ให้ไปพบหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไปให้เขาไปเก็บข้อมูลเพิ่มได้ เรามีเวลาจนถึงร่างพระราชกฤษฏีกำหนดคุณสมบัติของพี่น้องประชาชนจะออก ซึ่งคาดว่าจะออกไม่เกินวันที่ 31 ตุลาคม 2563 นี้ ตอนนี้พี่น้องชาวบ้านยื่นแล้วกว่า 95 % ขั้นตอนต่อไป พอสำรวจเสร็จแล้วก็จะนำไปสู่การอนุญาตให้ชาวบ้านทำมาหากินและอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” รศ.ดร.ธนพร กล่าวในตอนท้าย
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า หลังจากที่เราได้สิทธิแล้ว อย่าไปหยุดกระบวนการงานพัฒนาในพื้นที่ ต้องมาออกแบบผังชุมชนในอนาคตร่วมกัน ไม่ว่าเรื่องของป่าไม้ พื้นที่ทำกิน ลูกหลานเกิดมาเขาจะต้องมีความมั่นคงในเรื่องที่ดิน สร้างระบบครอบครัว สังคม ระบบนิเวศน์ อำนาจในการบริหารจัดการ รวมไปถึงเศรษฐกิจในชุมชน
“เราจะสร้างตรงนี้ได้อย่างไร ที่ดินที่เราได้มาจึงจะยั่งยืน ทั้งของส่วนรวม และส่วนตัว พวกเราต้องเป็นตัวช่วยสำคัญในการออกแบบ แต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนนำมาโยงกัน สร้างระบบพัฒนา ให้เหมือนกับการพัฒนาประเทศเล็ก ชนิดที่คนอยู่ได้ มีรายได้มากกว่ารายจ่าย มีการทำเกษตรกรรมในรูปแบบที่เหมาะสม ไม่ไหลไปตามตลาด เช่น การผลิต ถ้าต่างคนต่างทำเราจะสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเราทำทั้งท้องถิ่น คิดร่วมกัน ต่อรองร่วมกัน วางแผนร่วมกัน นำผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเราในแต่ละเรื่อง เราจะสร้างรูปแบบการพัฒนาแนวใหม่ ตรงนี้อยากจะฝากให้พวกเราคิดต่อ” นางสาวสมสุขกล่าว
นางสาวสมสุขกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เราคิดต่อเมื่อมันชัดเจนขึ้น จะเป็นตัวมาบอกว่าหน้าตาของสิทธิและการจัดการพื้นที่ในเรื่องของที่ดินและเรื่องอื่นๆ จะเป็นอย่างไร การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับทิศทางที่เราจะไปข้างหน้าด้วย และจะยั่งยืนหรือไม่ เราจะฟื้นฟูทุกสิ่งทุกอย่างได้หรือไม่ ตอนนี้ขึ้นอยู่กับการจัดกระบวนการของพวกเราเพียงอย่างเดียว แต่จุดนี้เราจะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนาคน ความรู้ การศึกษา ฯลฯ ทุกอย่าง
“การกระจายอำนาจไม่ใช่แต่เรื่องท้องถิ่น กระจายโดยหน่วยงานก็ได้ เช่น ป่าพื้นที่ไหนก็ให้คนที่นั่นเขาทำ แต่มีเป้าหมายอันเดียวกัน ทำให้เกิดระบบกระจายอำนาจในทุกๆ หน่วยงาน ทุกๆ รูปแบบ ซึ่งตำบลรับร่อจะเป็นตัวสร้างแนวทางการพัฒนานี้ให้กับหน่วยงานทั้งหลายให้กับประเทศไทย ถ้าเรายังคงเดินหน้าต่อไป เราจะต้องไปถึงเป้าหมายของเราได้อย่างเต็มที่” นางสาวสมสุขกล่าวในตอนท้าย
นายอวยพร มีเพียร นายก อบต.รับร่อ กล่าวว่า การจัดเวทีเสวนาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจาก 1.ด้วยการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2522 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 871 (พ.ศ.2522) ได้กำหนดพื้นที่ในตำบลรับร่อให้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อ ป่าสลุย จำนวน 104,202 ไร่ โดยมีราษฎรครอบครอง ทำประโยชน์ และเป็นที่อยู่อาศัยจำนวน 9,001 แปลง ในเนื้อที่ 73,362 ไร่ จากประกาศดังกล่าวเป็นเหตุทำให้ราษฎรไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินซึ่งพื้นที่ดังกล่าว โดยภาครัฐมิได้จำแนกประเภทที่ดินหรือกันออกจากพื้นที่ป่าให้ชัดเจนเป็นปัจจุบัน ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกประกาศครอบคลุมไปด้วยพื้นที่ป่า ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน
นายอวยพร มีเพียร
เช่น ขาดการพัฒนาในชุมชน เนื่องจากติดระเบียบและข้อบังคับของราชการ ไม่สามารถนำงบประมาณมาพัฒนาชุมชนได้ทันต่อความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากจากงบประมาณแผ่นดินและขาดโอกาสจากนโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนดขึ้น เป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ ขาดความเสมอภาคในสังคม เกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ
“ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางของกฎหมาย สอดคล้องกับความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน 1. จึงเสนอให้เพิกถอนเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อและป่าสลุย (บางส่วน) ในพื้นที่ ต.รับร่อ ตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพื่อให้ประชาชนที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินได้รับเอกสารสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สามารถทำประโยชน์และที่อยู่อาศัย เกิดความมั่นคงในการปะกอบอาชีพ เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป” นายก อบต.รับร่อกล่าวถึงข้อเสนอจากประชาชน
2.นอกจากนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ ซึ่งกำหนดบริเวณที่ดินให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ.2537 ในพื้นที่ ต.รับร่อ มีเนื้อที่ทั้งหมด 80,601 ไร่ มีราษฎรครอบครองทำประโยชน์และเป็นที่อยู่อาศัยแล้วจำนวน 2,751 แปลง ในเนื้อที่ 19,847 ไร่ จึงเสนอให้เพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมกรมกรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ (บางส่วน) ในพื้นที่ ต.รับร่อ ตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
3.ด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมกรมหลวงชุมพรด้านทิศใต้ ซึ่งประกาศไว้ในพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ.2537 เนื้อที่ทั้งหมด 72,263 ไร่ มีราษฎรครอบครองทำประโยชน์และเป็นที่อยู่อาศัยแล้วจำนวน 1,694 แปลง ในเนื้อที่ 36,383 ไร่ จึงประสงค์ให้เพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมกรมหลวงชุมพรด้านทิศใต้ (บางส่วน) ในพื้นที่ ต.รับร่อ ตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
4.เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันในส่วนที่เพิกถอนออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อและป่าสลุย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จใรกรมกรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมกรมหลวงชุมพรด้านทิศใต้ จึงขอจัดสรรที่ดินเป็นนิคมสหกรณ์ ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 โดยจัดสรรที่ดินตามพื้นที่ครอบครองทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนรายละไม่เกิน 50 ไร่ การบริหารจัดการให้เป็นการจัดการร่วมของชุมชนท้องถิ่นเพื่อความมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า สอดคล้องกับวิถีชีวิต สิทธิชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี และบริบทพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้พื้นที่ป่าสงวนฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ที่ชาวตำบลรับร่อเสนอให้เพิกถอนมีเนื้อที่รวมทั้งหมด 129,592 ไร่ จำนวนที่ดินที่ชาวบ้านครอบครองรวม 13,446 แปลง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |