ทหารมาลียึดอำนาจจับกุมผู้นำ ประธานาธิบดีลาออกเลี่ยงนองเลือด


เพิ่มเพื่อน    

กองทัพมาลีก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันอังคาร จับกุมประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีขังในค่ายทหาร ข้ามวันประธานาธิบดีแถลงยอมลาออกเพื่อหลีกเลี่ยง "การนองเลือด" ด้านชาวมาลีที่ชุมนุมประท้วงขับไล่ผู้นำมานานหลายเดือนพากันเฉลิมฉลอง แต่นานาชาติประณามและขู่คว่ำบาตร

ฝูงชนโห่ร้องดีใจที่เห็นรถของทหารขับไปบนถนนเอกราชในกรุงบามาโกเมื่อวันอังคาร ก่อนที่ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจะโดนควบคุมตัว

    รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 19 สิงหาคม 2563 กล่าวว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีอิบราฮิม บูบาการ์ เคอีตา โดนประชาชนชุมนุมประท้วงขับไล่มานานหลายเดือน จากความไม่พอใจการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง, การคอร์รัปชัน และการปราบปรามกลุ่มอิสลามิสต์ที่ก่อความไม่สงบคร่าชีวิตผู้คนนับพันนับหมื่น

    ช่วงบ่ายวันอังคารที่ 18 สิงหาคม ทหารกบฏได้เข้าจับกุมเคอีตา และนายกฯ บูบู ซิสเซ แล้วพาทั้งคู่ไปควบคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารคาตีชานกรุงบามาโก ที่กลุ่มรัฐประหารยึดไว้ได้ในช่วงเช้า ประชาชนที่โห่ร้องดีใจมารวมตัวกันในเมืองหลวงอยู่ก่อนแล้วเพื่อกดดันให้เคอีตาลาออก พวกเขาพากันเฉลิมฉลองเมื่อทหารกบฏเคลื่อนรถไปยังบ้านประจำตำแหน่งของผู้นำวัย 75 ปีรายนี้เพื่อควบคุมตัวเขา

    หลังเวลาเที่ยงคืน เคอีตาซึ่งชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เมื่อปี 2561 ปรากฏตัวแถลงทางโทรทัศน์ด้วยท่าทีสงบ เพื่อประกาศว่าเขายุบรัฐบาลและสมัชชาแห่งชาติ และตัวเขาไม่มีทางเลือกนอกจากลาออกจากตำแหน่งโดยให้มีผลทันที เพราะเขาไม่ต้องการให้มีการนองเลือด

    ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา พวกแกนนำทหารก่อการแถลงให้คำมั่นว่า จะเปลี่ยนแปลงการเมือง และจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในเวลาที่สมเหตุสมผล อิสมาอิล วาเก รองประธานเสนาธิการทหารอากาศ กล่าวว่า เขาและเพื่อนทหารตัดสินใจรับผิดชอบต่อหน้าประชาชนและประวัติศาสตร์

    แม้จะไม่มีรายงานการบาดเจ็บล้มตายระหว่างที่กองทัพเข้ายึดอำนาจ แต่พวกนายทหารประกาศเคอร์ฟิวและปิดพรมแดน โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าเคอีตายังถูกควบคุมตัวอยู่หรือไม่ในวันพุธ

    ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเป็นคนแรกๆ ที่ประณามการยึดอำนาจครั้งนี้ สำนักงานของมาครงกล่าวว่า เขายังคงสนับสนุนความพยายามไกล่เกลี่ยโดยชาติแอฟริกาตะวันตกที่เป็นเพื่อนบ้านของมาลี

    อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสชาตินี้เป็นรากฐานของความพยายามของฝรั่งเศสเพื่อขับไล่นักรบญิฮาดออกจากภูมิภาคนั้น เพื่อนบ้านของมาลีต่างก็กังวลไม่อยากให้มาลีถลำสู่ความวุ่นวาย

    พันเอกวาเกกล่าวว่า ความตกลงในอดีตทุกฉบับจะยังคงไว้ รวมถึงการสนับสนุนภารกิจต่อต้านนักรบญิฮาดในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้พวกเขายังยึดมั่นต่อกระบวนการแอลเจียร์ หรือข้อตกลงสันติภาพปี 2558 ระหว่างรัฐบาลมาลีกับกลุ่มติดอาวุธทางเหนือของประเทศ

    ด้านอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัวเคอีตาและซิสเซทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่บรรดานักการทูตในนิวยอร์กกล่าวกันว่า คณะมนตรีความมั่นคงจะเจรจาฉุกเฉินกันในวันพุธ

    ส่วนประชาคมเศรษฐกิจรัฐแอฟริกาตะวันตก (อีโควาส) ซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศรวมถึงมาลี ออกแถลงการณ์ประณาม โดยประกาศจะปิดพรมแดนทางบกและอากาศ และแซงก์ชันทหารที่ก่อรัฐประหารรวมถึงผู้ที่ร่วมก่อการ

    เดือนที่แล้วอีโควาสเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลเอกภาพเพื่อคลี่คลายความวุ่นวายทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล แต่ข้อเสนอของกลุ่มนี้ซึ่งยังคงให้การสนับสนุนเคอีตา โดนฝ่ายค้านปฏิเสธ

    การก่อรัฐประหารเกิดพร้อมกันกับที่ฝ่ายค้านวางแผนชุมนุมประท้วงขับไล่เคอีตาอีกครั้ง การเคลื่อนไหวซึ่งใช้ชื่อเรียกว่าขบวนการ 5 มิถุนายน ตามวันที่เริ่มต้นการประท้วง มีศูนย์รวมที่ความโกรธแค้นของประชาชนต่อผู้นำและเสียงเรียกร้องที่แข็งกร้าวมากขึ้นให้เขาลาออก การรณรงค์ต่อต้านเคอีตาถลำสู่จุดวิกฤติในเดือนที่แล้วเมื่อการประท้วงก่อความไม่สงบนาน 3 วันทำให้มีคนเสียชีวิต 11 ราย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"