ปลดล็อกท้องถิ่น เลือกตั้งกลางปี ก่อนระดับชาติ


เพิ่มเพื่อน    

"วิษณุ" คาดชงร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเลือกตั้งท้องถิ่นเข้า สนช.กลาง ก.พ.นี้ แย้มเป็นไปได้จัดกลางปีเพราะไม่อยากให้กระชั้นชิดเลือกตั้งระดับชาติ พร้อมเร่งคลายล็อกผู้บริหารท้องถิ่นติด ม.44 ประธาน กกต.เชื่อ สนช.ไม่แก้ร่าง กม.เพิ่มอำนาจ กกต.ตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล หวั่นเป็นดาบสองคมมีอำนาจมากเกินไปอาจใช้ในทางมิชอบ
    เมื่อวันจันทร์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับว่า ตนได้เชิญผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาพบเพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว รวมถึงได้พบกับนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง จึงทราบว่าในวันที่ 9 ม.ค.นี้ กกต.จะประชุมหารือถึงเรื่องดังกล่าว ส่วนการปรับแก้ไขที่กฤษฎีกาทำไว้นั้น เป็นการปรับในเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  แต่เมื่อ กกต.พบประเด็น 30-40 ประเด็นที่ต้องแก้ไขไปพร้อมกันด้วย เราจึงต้องรอฟังที่ประชุม กกต.ก่อน เมื่อส่งมาแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งให้กฤษฎีกาปรับแก้ประเด็นต่างๆ 
    "คาดว่าใช้เวลาไม่นานและจะนำเข้า ครม.อีกครั้งก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเดือน ก.พ. ส่วน สนช.จะใช้เวลาพิจารณานานเท่าใดนั้นไม่ทราบ แต่เมื่อสนช.พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เป็นเรื่องที่ คสช.จะพิจารณาว่าจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด  ระดับใด เมื่อใด อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นสามารถจัดได้หลังกฎหมายประกาศใช้ประมาณ 45-60 วัน ไม่เหมือนเลือกตั้งระดับชาติที่ใช้เวลาภายใน 5 เดือน" นายวิษณุกล่าว 
    เมื่อถามว่ารัฐบาลตั้งตุ๊กตาจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงใด รองนายกฯ กล่าวว่าตนไม่สามารถตอบได้เพราะกฎหมายยังไม่เข้า สนช. ถามย้ำว่ามีผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยเสนอควรเลือกตั้งช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. รองนายกฯ กล่าวว่าเช้าวันเดียวกันนี้ได้หารือกับปลัด มท.เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น  ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้บริหารบางท่านของ มท.ให้ความเห็น ตนได้สอบถามไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้วก็ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ เพราะไม่รู้ว่ากฎหมายจะเสร็จเมื่อไหร่ อย่างไร
    ถามย้ำว่าการเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่ามีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น เราไม่อยากให้กระชั้นชิดกับการเลือกตั้งระดับชาติ หากแบ่งได้ก็อาจเลือกตั้งบางอย่างก่อน อย่างไรก็ดีตามประกาศ คสช.ที่ให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระอยู่ทำหน้าที่ต่อไปนั้น ไม่ได้ระบุว่าให้อยู่ถึงเมื่อใด แต่ระบุไว้เพียงว่าให้อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือ คสช.จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น 
    "เวลานี้รัฐบาลกำลังคลี่คลายการตรวจสอบผู้บริหารท้องถิ่น ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าใครควรจะให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเพื่อกลับสู่ระบบเลือกตั้ง" นายวิษณุกล่าว
    ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม จะให้ กกต.แก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นว่า เบื้องต้นยังไม่มีวาระเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ในวันที่ 9 ม.ค. แต่ในฐานะผู้ปฏิบัติพร้อมปฏิบัติตาม กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งและได้เตรียมการทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นหรือเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ตามยังไม่ขอให้ความเห็นว่าควรจะเลือกตั้งอะไรก่อน ขอให้เป็นหน้าที่ คสช.พิจารณา
     ประธาน กกต.กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ สนช.จะแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และให้อำนาจ กกต.ตรวจค้นได้โดยไม่มีหมายศาลนั้น ต้องขอบคุณกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ที่จะขอแปรญัตติเรื่องดังกล่าว แต่ขอยืนยันว่าก่อนหน้านี้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนของ กกต.เคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ประเด็นนี้ได้ถูกตัดไป ซึ่งมองได้ว่าเป็นดาบสองคมให้อำนาจ กกต.มากเกินไป อาจมีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ถ้ามองเจตนาที่ดีก็เพื่อความรวดเร็ว ให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งมีหลายอย่างในเรื่องแนวความคิด แต่ตามกฎหมายที่ออกมาเมื่อมีการเลือกตั้งก็ให้อำนาจ กกต.เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หากจะค้นต้องขอหมายศาลซึ่งต้องทำด้วยความรับผิดชอบ เพียงแต่หากทำด้วยความรวดเร็ว การไปค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาลจะทำให้การแก้ปัญหาทุจริตเร็วขึ้น แต่ต้องไม่มีการกลั่นแกล้ง  อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ สนช.พิจารณาผ่านไปแล้ว การจะแก้ไขเหมือนทำกลับไปกลับมาเหมือนกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่า สนช.คงไม่พิจารณาให้อำนาจเรื่องนี้หรอก  
    เมื่อถามว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อยื้อเวลาการออกกฎหมายหรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่าไม่ทราบ แต่อย่างที่บอกการออกกฎหมายต้องใช้บังคับกับคนทั้งประเทศ ออกไปแล้วไปแก้ทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ออกมาอย่างไร กกต.ก็พร้อมปฏิบัติตาม 
     นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของ สนช. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม กมธ.ว่า  ขณะนี้ได้พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวเสร็จครบทุกมาตราแล้ว โดยมีการปรับแก้ 17 มาตรา ขณะนี้เป็นขั้นตอนของการรับฟังเหตุผลของผู้แปรญัตติจำนวน 4 คน รวมทั้งนำความคิดเห็นที่เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์มาประกอบการพิจารณา ซึ่งการประชุมวันนี้จะมีการพิจารณามาตรา  129 เกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่กรรมาธิการบางคนได้เสนอขอปรับแก้การวิธีการคิดคำนวณ ซึ่งสอดคล้องกับของตัวแทน กกต.ที่เห็นด้วยให้ปรับแก้ในบางประเด็นที่อาจมีปัญหา 
    "โดยตามหลักการในร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำวิธีการคำนวณมาจากประเทศเยอรมนี ที่ใช้วิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ไม่ได้กำหนดตายตัว คือเมื่อคำนวณคะแนนแล้วมีเศษ 0.5 ก็จะเป็นปัดเศษนี้ขึ้นเป็น 1 คน แต่ของเรามีการกำหนดจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตายตัว  150 คน ดังนั้น ส.ส.ไม่เกินจำนวนนี้ หากคิดจึงต้องมีวิธีคิดว่าจะจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามคะแนนที่คำนวณจากคะแนน ส.ส.แล้วไม่เต็มจำนวนอย่างไร ซึ่งก็ต้องมีการพิจารณากัน"
    นายทวีศักดิ์กล่าวว่า กมธ.บางคนแสดงความเป็นห่วง หากมีการปรับแก้ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ รวมทั้งการปรับแก้จะต้องสอดคล้องกับมาตรา 44 ที่ประกาศขยายเวลาการปรับฐานสมาชิกตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองด้วย ที่กำหนดกรอบเวลาการปรับฐานสมาชิกใหม่ ซึ่งพรรคเก่าและพรรคที่จะจดทะเบียนใหม่จะมีเวลาที่เหลื่อมกัน ดังนั้นการพิจารณาของ กมธ.ก็ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกัน
    เมื่อถามว่าหลายคนเป็นห่วงเกรงว่า สนช.จะคว่ำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ นายทวีศักดิ์กล่าวว่าไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาของ กมธ. เพราะการพิจารณาจะลงเรื่องรายละเอียดในรายมาตรา จากนั้นจะทำรายงานเสนอต่อประธาน สนช. ก่อนเสนอให้วิป สนช.กำหนดวันพิจารณาในที่ประชุม สนช. และ กมธ.มีหน้าที่ไปอธิบายข้อสงสัยของสมาชิก สนช.ในมาตราที่ กมธ.แก้ไข ส่วนการคว่ำหรือไม่เป็นการลงมติของ สนช. ทั้งนี้ กมธ.มีเวลาพิจารณาถึงวันที่ 26 ม.ค. หากไม่เสร็จรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้นำร่างเดิมของ กรธ.มาใช้เลย แต่เชื่อว่า กมธ.จะพิจารณาเสร็จทันตามกรอบเวลากำหนด และเสนอต่อที่ประชุมวิป สนช.เพื่อบรรจุเข้าระเบียบวาระต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"