สะเทือนพระสงฆ์ไทยในต่างประเทศ!เมื่อมหาเถรสมาคมติดเบรกศตภ.


เพิ่มเพื่อน    

19 ส.ค.2563 -  เว็บไซต์อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม ซึ่งเป็นเว็บของวัดไทยในลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจในหัวข้อ “พศ. งัดข้อ ศตภ.!  สำนักพุทธยื่น มส. ตีความมติ ศตภ. กรณีออกมติให้พระไปต่างประเทศช่วงโควิด ผลก็คือ มส. เข้าข้าง พศ. สั่งเบรก ศตภ. ห้ามไม่ให้ออกมติอีกต่อไป” มีเนื้อหาว่า

อา..ถือว่าเป็นมวยรุ่นใหญ่ที่ไม่ได้ชมมานานหลายปี เรียกว่าเป็นศึกใหญ่ครั้งแรกในสมัยพระสังฆราชอัมพรก็ว่าได้ เมื่อสำนักพุทธฯ ซึ่งเป็นทั้งข้าราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้ส่งเรื่องแย้ง ศตภ. (ศูนย์ควบคุมพระภิกษุสามเณรไปต่างประเทศ) ไปให้มหาเถรสมาคมตัดสิน ผลปรากฏว่า มส. (มหาเถร) เห็นดีตาม พศ. สั่งห้าม ศตภ. ออกมติอีก ฉีกหน้ากันยับยู่ยี่เลย

คือดังว่า แต่เดิมนั้น มส. สั่งตั้ง "ศูนย์ควบคุมพระภิกษุสามเณรไปต่างประเทศ-ศตภ." ขึ้นมา เพื่อคัดกรองพระภิกษุสามเณรไปต่างประเทศ ครั้นมีโครงการอบรมพระธรรมทูตขึ้นมาในปี 2538 ก็สั่งแยกงานพระธรรมทูตออกจาก ศตภ. ให้พระธรรมทูตเดินเรื่องผ่าน มส. ได้โดยตรง โดยให้มีสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นหน่วยงานใหม่ ดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ

การเดินทางไปต่างประเทศของพระเณรไทยจึงแยกออกเป็น 2 สาย สายพระธรรมทูตต้องผ่านสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ สายทั่วไป เช่น จะไปกิจนิมนต์ชั่วคราว ไปไหว้พระที่อินเดีย หรือสายอื่นใดที่มิใช่พระธรรมทูต ก็ให้ไปขึ้นต่อ ศตภ.

ปัจจุบัน ศตภ. มีสำนักงานอยู่ที่วัดสังเวชวิศยาราม และมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ.9) วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธาน

ส่วนสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศนั้น ปัจจุบันมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ประสฤษดิ์ เขมงฺกโร ป.ธ.3) วัดยานนาวา เป็นประธาน
 
แต่ก็มีความลักลั่นกันอีก คือว่า ถ้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ พิจารณารับคำร้อง (ทั้งเรื่องหนังสือเดินทางและวีซ่า) แล้ว ก็จะต้องนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่ออนุมัติเป็นด่านสุดท้าย (ผ่านไม่ผ่านก็อยู่ที่มหาเถรสมาคม)

ขณะที่ ศตภ. เมื่อผ่านมติแล้วก็เป็นอันสิ้นสุด ไม่ต้องส่งเรื่องผ่าน มส. อีกต่อไป แต่ ศตภ. จะส่งเรื่องไปสั่งให้สำนักพุทธฯ ออกหนังสือรับรองทั้งทำวีซ่าและพาสปอร์ตแก่พระเณรรูปนั้นๆ ได้โดยตรงเลย

เห็นไหมว่า หน่วยงานของ มส. ทั้งสองแห่ง มีแนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน ทั้งๆ ที่มีเนื้องานเหมือนกัน และขึ้นตรงต่อ มส. เหมือนกัน มันก็แปลกแต่จริง

กรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำเรื่อง ศตภ. ผ่านมติให้พระภิกษุสามเณรไปต่างประเทศ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ไปให้มหาเถรสมาคมพิจารณา จึงถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำมติ ศตภ. เข้า มส. แถมผลที่ออกมาปรากฏว่า มส. เห็นด้วยกับ พศ. คือสั่งระงับมติของ ศตภ. ให้ตกไป

ถึงแม้ ศตภ. จะอ้อมแอ้มอ้างว่า มติที่ออกไปนั้น แค่ให้พระเณรไปทำพาสปอร์ต ยังไม่ได้ให้ไปต่างประเทศ ดังนี้ก็ตาม แต่ พศ. ก็แย้งว่า แล้วถ้าพระเณรที่มีวีซ่าอยู่ก่อนแล้ว เอามติ ศตภ. ครั้งนี้ไปทำพาสปอร์ต ก็จะสามารถไปต่างประเทศได้ (ทำนองลักไก่) ดังนั้น จึงถือว่าไม่ปลอดภัยสำหรับ มส. ที่ต้องเข้มงวดการเดินทางของพระเณรไทยในช่วงนี้ เถียงแบบนี้ทาง ศตภ. ก็สู้ไม่ได้ และสุดท้าย มส. ก็ถือหาง พศ. สั่งให้มติ ศตภ. ตกไปต่อหน้าต่อตามสมเด็จสนิทที่นั่งประชุมอยู่ใน มส. ครั้งนี้ด้วย

กรรมการสนามมวยลุมพินีชี้ว่า ผลการชกครั้งนี้ พศ. ชนะขาดลอย ส่วน ศตภ. ของสมเด็จสนิทนั้น "หลับสนิทศิษย์หามลง" เพราะคงมิใช่แค่มติครั้งนี้ที่ไม่ผ่าน แต่อาจจะถึงกับ "ปิดห้องประชุม ศตภ. วัดสังเวช" ไปอีกนาน เพราะถูก มส. ห้ามออกมติให้พระไทยไปต่างประเทศ ก็เท่ากับ "ห้ามประชุม ศตภ." จนกว่าจะยกเลิกมติดังกล่าว ตกงานกันเป็นแถวเลย คณะกรรมการ ศตภ. ชุดนี้

แต่ว่าปัญหามันมิได้จำกัดวงอยู่เพียงแค่ "เมืองไทย" เท่านั้น เพราะมติ มส. ที่ออกมาครั้งนี้ มีผลกับพระไทยทั่วโลก ทั้งที่ไปปฏิบัติศาสนกิจชั่วคราว (ไม่เกิน 6 เดือน และส่วนใหญ่กลับไทยแล้ว) ทั้งที่ไปเป็นพระธรรมทูตอยู่ต่างประเทศนานหลายปี ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 มีตำแหน่งในต่างแดน เช่นเป็นเจ้าอาวาส เป็นพระเลขา และถือกรีนคาร์ดของต่างประเทศ สามารถเข้าออกได้ตลอดเวลา (แต่ยังถือพาสปอร์ตไทย) ถ้าพระธรรมทูตมีกิจสำคัญเร่งด่วนต้องเดินทางกลับประเทศไทย ก็จะตกอยู่ในฐานะ "เข้าได้ แต่ออกไม่ได้" เพราะติดมติ มส. ดังกล่าว

คือถ้ามหาเถรสมาคม ไม่ยอมให้พระไทยต่ออายุหนังสือเดินทาง ก็จะทำให้พระธรรมทูตไทยในต่างประเทศ "เดินทางไม่ได้" เพราะหนังสือเดินทางมีไว้สำหรับเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนวีซ่านั้นมีไว้สำหรับผ่านด่านเข้าประเทศ รวมทั้งพระธรรมทูตที่มีธุระจะเดินทางกลับไทยในช่วงนี้ ก็จะเดินทางกลับออกนอกประเทศไม่ได้ เพราะ มส. ห้ามไม่ให้พระไทยไปต่างประเทศ ไม่ว่ากรณีใดๆ

มติ มส. ที่ออกมา จึงถือว่าไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม ตีขลุมมั่วไปหมด ไม่ว่าพระเณรไทยอยู่ในสถานะไหนก็ห้ามตะพึด ไม่มีการจำแนกแยกแยะว่า ประเภทไหนสมควรได้รับการผ่อนปรน ประเภทไหนที่ห้ามไม่ให้ไปโดยเด็ดขาด ถือว่าขาดเหตุผลอย่างตื้นเขินเลย ดูแต่รัฐบาลไทย แม้จะมีมาตรการกักกันผู้เดินทาง "เข้า-ออก" ประเทศ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นไว้หลายประเภท นั่นแสดงว่าเข้าใจและทำงานเป็น

กรณีที่ ศตภ. ชี้แจงว่า มติที่ออกมานั้น เพียงแค่ให้ต่อพาสปอร์ต ยังมิได้ให้ทำวีซ่า แต่การทำวีซ่ากับพาสปอร์ตก็ใช้มติเดียวกันนั่นแหละ มันจึงสุ่มเสี่ยงต่อการเลี่ยงบาลี แต่ถ้าระบุว่า "สำหรับการต่อพาสปอร์ตสำหรับพระธรรมทูต หรือพระไทยที่มีตำแหน่งในต่างประเทศเท่านั้น" แบบนี้ มส. ก็ควรรับฟังและพิจารณาเป็นรายๆ ไป มิใช่ตีตกทั้งมติ ทั้งพวกที่ไปอยู่นานและพวกที่ไปชั่วคราว

มีข้อสังเกตว่า การนำเรื่อง ศตภ. ไปฟ้อง มส. ของ พศ. ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐและคณะสงฆ์ ภายใต้มหาเถรสมาคมทั้งสองแห่ง ไม่มีการทำงานร่วมกัน คือต่างคนต่างทำ คนหนึ่งออกมติมา อีกคนคัดค้าน ถึงกับ มส. ต้องออกมาเป็นกรรมการชี้ขาดว่าใครผิดใครถูก แบบนี้จึงเข้าทำนอง "ประสานงา" เพราะถ้ามีการประสานงานกันตั้งแต่แรก ปรึกษาหารือกันให้ลงตัว ก็จะไม่เกิดปัญหา แต่ปัญหาเกิดเพราะทำงานไม่เป็น เลยต้องมาทะเลาะกันให้ชาวบ้านเห็น เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ บ้านเมืองมีปัญหา พระศาสนามีปัญหา แต่ถ้าคนไม่มีปัญญาแก้ไข ก็เท่ากับซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม น่าจะสังคายนาองค์กรต่างๆ ในการดูแลของมหาเถรสมาคมได้แล้ว

ขอย้ำว่า มติ มส. ที่ออกมาครั้งล่าสุด จึงมิใช่แค่ "ห้ามพระไทยไปต่างประเทศ" เท่านั้น แต่ยัง "ห้ามพระไทยในต่างประเทศเข้าประเทศ" อีกด้วย เพราะถ้าเข้าแล้วออกไม่ได้ เขาจะเข้าไปทำไม หรือคิดว่าพระธรรมทูตเขาไม่จำเป็นต้องกลับไทยเลยในช่วงนี้

ก็นี่แหละ เวลาให้โอวาทอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ก็ปากหวาน "พวกท่านเป็นผู้เสียสละ เป็นหน่วยหน้ากล้าตายให้คณะสงฆ์ไทยในต่างประเทศ รู้ว่าพวกท่านอยู่ยากกินยาก แต่ต้องลำบากแทนพวกเรา ขอให้กำลังใจในการปฏิบัติศาสนกิจในต่างแดน" แต่พอมีปัญหาก็ไม่ช่วยแก้ไข แถมยังซ้ำเติมกันอีก  ออกมติตะพึด ไม่ถามไม่ไถ่กันซักคำ แบบนี้นี่เองกิจการพระศาสนามันถึงได้สาละวันเตี้ยลงทุกวัน เป็นพระนะ อย่าให้ณรงค์จูงจมูกสิครับ ท่านมหาเถร !
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"