“นายกฯ” ย้ำไร้ข้อขัดแย้งแก้ไข รธน. โยนพรรคร่วมฯกำหนดประเด็นแก้ไข ยันไม่มีร่างฉบับ ครม. ให้เป็นหน้าที่สภาดำเนินการ "ก้าวไกล" หงายไพ่! เหตุไม่สังฆกรรมฝ่ายค้าน เล็งแก้ไขหมวด 1-2 เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย-พระมหากษัตริย์ อ้างมีการแก้ไขมาโดยตลอด หนุน 10 ข้อเรียกร้องนักศึกษาควรค่าแก่การพิจารณา ปธ.วิปฝ่ายค้านปัดขัดแย้งกัน เพียงเห็นแตกต่างแค่บางประเด็น
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 18 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านบางพรรคต้องการให้แก้อำนาจและที่มา ส.ว. 250 คน ก่อนที่แก้มาตรา 256 เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รวมถึงข้อเสนอของผู้ชุมนุมที่ขอให้ยุบ ส.ว. 250 คนภายใน ก.ย.นี้ว่า ตนไม่ได้มีข้อขัดแย้งกับใครใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องการหารือร่วมกันของแต่ละพรรค รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเตรียมการเรื่องเหล่านี้ว่าจะแก้ไขกันอย่างไร ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน อาจจะต้องไปพิจารณาในส่วนคณะกรรมการและคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องในสิ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอเข้ามาด้วย ในส่วนภาคเอกชนก็ต้องรอความชัดเจนทั้งหมด เมื่อทุกอย่างได้ข้อสรุปหมดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุม ครม.กรณีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเสนอให้แก้มาตรา 256 เปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. 200 คน เรื่องนี้รัฐบาลจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาลในการพิจารณา โดยจะไม่เสนอร่างฉบับของ ครม. แต่จะให้แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลเสนอประเด็นของตัวเอง โดยให้ไปคิดกำหนดเอง ซึ่งคาดว่าจะได้คำตอบในเร็วๆ นี้ ซึ่งนายกฯ ยืนยันพร้อมเดินหน้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นการศึกษาจาก กมธ.วิสามัญ รวมถึงฟังความคิดเห็นของทุกพรรคการเมือง และภาคประชาชนที่เสนอความคิดเห็นมาก็จะปล่อยให้เป็นเรื่องของสภา
"ส่วนเรื่องของรัฐบาลนั้นจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาบ้านเมืองต่อไป ดูแลให้เกิดความสงบสุข และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะวันนี้รัฐบาลมีโครงการใหญ่ๆ ที่เดินหน้าต่อ และในระยะยาวจะเรียกความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติหลังผ่านช่วงโควิด-19 ไป" น.ส.รัชดากล่าว
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือที่ปรึกษาวิปรัฐบาล ยืนยันว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ครม.จะไม่เสนอร่างแก้ไขฉบับ ครม. และจะไม่มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะต้องการให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอประเด็นที่ต้องการแก้ไขอย่างมีอิสระ ส่วนจะเป็นการพิจารณาอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการ โดยตนจะนำเรื่องนี้ไปคุยกันในวิปรัฐบาลต่อไป
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า ในส่วนของรัฐบาลคงไม่มีการเสนอร่างแก้ไข ต้องรอความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะมีแนวทางอย่างไร แต่ส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จะมีการเสนอร่างหรือวิธีการแก้รัฐธรรมนูญจะหารือกันในวันพุธนี้ 19 ส.ค. ส่วนเรื่องการปรับบทบาทของ ส.ว. 250 คน พรรคยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียด รวมทั้งการแก้รัฐธรรมนูญเองก็ต้องคุยกันในวงกว้าง อาจจะต้องหารือกันในวิปรัฐบาลด้วย
ก้าวไกลขอแก้ไขหมวดกษัตริย์
ที่รัฐสภา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคก้าวไกลไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการแยกเรื่องการยื่นญัตติกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในประเด็นหลักที่พรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณาคือ การปลดล็อก การแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมาพิจารณา โดยเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 พรรคก้าวไกลในฐานะหนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมพิจารณาตรงนี้มาโดยตลอด และสนับสนุนร่างของพรรคเพื่อไทยที่ได้ยื่นญัตติไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ในร่างฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดบางประการที่พรรคก้าวไกลต้องขอสงวนไว้ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามจะผลักดันต่อไป
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ในการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องมี ส.ส.ร่วมลงชื่อทั้งสิ้น 100 คน หรือ 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดในสภา ซึ่งสิ่งที่ไม่ได้มีความแตกต่างกันคือการปิดสวิตช์ ส.ว.ที่จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 พรรคก้าวไกลจัดทำร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการส่งให้พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ พิจารณา คาดว่าสัปดาห์หน้าจะสามารถยื่นญัตติด่วนดังกล่าวขึ้นไปอีกฉบับหนึ่งได้ ถ้าดำเนินการเสร็จพรรคก้าวไกลจะยื่นเพิ่มเติมเข้าไปอีกฉบับหนึ่งต่างหาก สถานการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมาถึงทุกวันนี้ไม่มีเหตุผลอื่นแล้วที่จะไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. บังเอิญว่าในร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทยมีการระบุไว้ว่าจะไม่มีการแก้ไขในหมวดที่ 1-2
“ด้วยเหตุจำเป็นและในสภาพปัจจุบัน รัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 ซึ่งเป็นหมวดทั่วไป ไม่ใช่ไม่เคยมีการแก้ไขเลย แต่มีการแก้ไขหลายครั้ง ทั้งปี 2540 และปี 2550 ข้อถกเถียงหนึ่งที่เคยพูดคุยกันเช่น อำนาจอธิปไตยเป็นของหรือมาจากประชาชนชาวไทย เราไม่อยากให้มีการปิดล็อกในหมวดดังกล่าวไว้ ส่วนหมวดที่ 2 เป็นหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มีการตั้งคำถามว่าถ้าหากมีการแก้ไข เกรงว่า ส.ส.ร.จะนำข้อความแก้ไขเลยเถิดออกไป ตามกรอบที่เราไม่อาจกำหนดได้ ขอเรียนว่าในหมวดพระมหากษัตริย์ยังมีมาตรา 255 ที่ระบุไว้อยู่แล้วว่ารูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ขณะเดียวกันจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐได้ จริงๆ สิ่งเหล่านี้ถูกล็อกไว้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องไปเขียนเพิ่มเติม จะยกเว้นการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2”
ส.ส.พรรคก้าวไกลกล่าวอีกว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้พูดในสภาถึงความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนในสังคมไทย เราควรจะเปิดกว้างให้มีการพูดคุยเรื่องเหล่านี้อย่างมีวุฒิภาวะ ดังนั้นเมื่อมี ส.ส.ร.ขึ้นแล้ว ทุกๆ ความเห็นจะถูกนำเสนอเป็นระบบเพื่อให้ ส.ส.ร.พิจารณา การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดเราไม่ได้เรียกร้องเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายค้าน แต่เรียกร้องไปถึง ส.ส.รัฐบาลได้ร่วมลงชื่อร่างแก้ไขกับเราด้วยเช่นกัน
เมื่อถามว่า ในการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 จะมีนิยามข้อไหนที่พอจะจำกัดความได้ว่าจะไม่กระทบต่อระบบการปกครอง นายณัฐวุฒิกล่าวว่า อย่างที่ได้ระบุไว้ว่า ข้อความรายละเอียดในมาตรา 255 มันไม่มีเรื่องของการให้นิยามเป็นอื่นไปได้ มันคือคำที่มีความหมายชัดเจนในตัว ส่วนแรกเรื่องรูปแบบของรัฐว่ารัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบดังกล่าวได้ และไม่อาจตีความเป็นอื่นไปได้ ส่วนที่สอง ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่สามารถเปลี่ยนแก้ไขคำสำคัญนี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมวด 1 และ 2 ยังมีรายละเอียดอื่นๆ นอกจากนั้น คิดว่าสังคมไทยต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะและรับฟังกันอย่างเปิดกว้าง โดยเมื่อมี ส.ส.ร. ก็ให้ ส.ส.ร. รับข้อเสนอของทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีการแตะในส่วนของมาตรา 255 แต่แตะในส่วนที่สังคมไทยเรียกร้องและถกเถียงอย่างมีวุฒิภาวะ
หนุน 10 ข้อประชาชนปลดแอก
ถามว่า 10 ข้อเรียกร้องของนักศึกษาถ้าแก้ไขจะกระทบต่อการปกครองตามมาตรา 255 หรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เรายืนยันว่า ต้องมีการเปิดพื้นที่ในการรับฟัง ย้ำว่า 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน เป็นประเด็นหลักที่ประชาชนส่วนใหญ่และนักศึกษาเห็นร่วมกันแล้ว ใน 10 ข้อดังกล่าว มีหลายข้อควรค่าแก่การพิจารณา เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยจริงๆ ที่จะพูดคุยกันได้ และจำเป็นต้องมีกระบวนการการรับฟังที่เป็นระบบ และต้องการความคิดเห็นที่หลากหลาย ท้ายที่สุดเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบบของประชาพิจารณ์จะเป็นตัวที่เข้ามากำหนดอีกครั้ง สุดท้ายผลของการแก้ไขจะเป็นอย่างไร มั่นใจว่ามาตรา 255 เป็นตัวกำหนดทิศทางเรื่องของหมวดที่ 1 และ 2 อยู่แล้ว ซึ่งภาพรวมยืนยันข้อเรียกร้อง 10 ข้อนี้ไม่กระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐยังเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่อาจแบ่งแยกได้
เมื่อถามว่า การที่ให้แก้ไขในหมวดที่ 1 และ 2 ได้ เป็นจุดที่ทำให้ไม่สามารถร่วมลงชื่อกับพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ใช่หรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้ยังคงถกเถียงกันในกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรค ท้ายที่สุดมีความเห็นร่วมกันว่าการคงข้อความดังกล่าวไว้ไม่เป็นประโยชน์ในแง่การผลักดันร่าง การไม่มีข้อความดังกล่าวก็ไม่ส่งผลต่อการผลักดันให้มี ส.ส.ร. นาทีนี้คิดว่าประเด็นหลักคือการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดพื้นที่ได้จริง และมี ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญได้จริง ถ้ายืดเวลาไปอีกก็ไม่เป็นผลดีต่อวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้น
ถามอีกว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะไม่ลงชื่อร่วมในการยื่นญัตติของพรรคของก้าวไกล เพราะเป็นคนละแนวทางกัน นายณัฐวุฒิบอกว่า อยู่ระหว่างการพูดคุย และพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่มีมติที่ชัดเจนว่ามีลักษณะแบบนั้น ขณะนี้ญัตติที่จะร่วมเสนอในนามพรรคก้าวไกลนั้น ได้เสียงสนับสนุนเกินกว่าจำนวน ส.ส.ของพรรคก้าวไกลไปแล้ว แต่ยังไม่ถึง 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ในสภาหรือ 98 คน และอยู่ในระหว่างประสานงาน หลังจากนี้เชื่อว่าจะได้เสียงครบตามจำนวน
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ต่อกรณีพรรคก้าวไกลไม่ร่วมลงชื่อกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในแนวทางเดียวกับนายณัฐวุฒิ โดยบอกว่า ประเด็นที่เราสงวนความเห็นไว้ก็คือ ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ยื่นกันไปเมื่อวานนี้นั้นไปกำหนดไว้ว่า ส.ส.ร.ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ประเด็นแรก การไปล็อกไว้ว่า ส.ส.ร.จะไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 จะไปผลิตซ้ำความเข้าใจผิดว่ารัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ 2 แตะต้องแก้ไขไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วมีการแก้ไขมาโดยตลอด ไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามหรือแปลกประหลาด
"ต้องการให้ ส.ส.ร.เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกฝ่ายมาหาข้อยุติร่วมกันได้จริง เชื่อว่าใน ส.ส.ร.จะทำให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถได้ทุกอย่างอย่างที่ตนเองต้องการ แต่จะเป็นพื้นที่ให้สังคมสามารถหาฉันทามติหรือหาจุดสมดุลได้ และสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องนำไปผ่านประชามติ เสียงส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นผู้ตัดสินว่ายอมรับหรือไม่ ดังนั้น จึงอย่าวิตกกังวลกันมากจนเกินไป" นายชัชธวัชกล่าว
วิปฝ่ายค้านปัดขัดแย้ง
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การยื่นญัตติเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา มี ส.ส.ของพรรคก้าวไกลร่วมลงชื่อด้วย 37 คน แต่มาขอถอนชื่อในภายหลัง 5 นาที ก่อนที่จะยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของทางสภาที่จะตรวจสอบยืนยันว่า ส.ส.ที่ได้ร่วมลงชื่อก่อนหน้านี้ จะขอถอนรายชื่อหรือจะคงรายชื่อไว้ตามเดิม ยืนยันว่าไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้งของพรรคฝ่ายค้าน และยังคงทำงานร่วมกันได้ ซึ่งหากจะเห็นแตกต่างกันก็เป็นเพียงแค่บางประเด็นเท่านั้น
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ กล่าวว่า ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้แจ้งด้วยวาจาว่า ส.ส.พรรคก้าวไกลจะขอถอนชื่อออกจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของร่าง เพราะสามารถขีดฆ่าชื่อของ ส.ส.ดังกล่าวออกได้ และกระบวนการตรวจสอบญัตติน่าจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมต่อไป
นายเชาว์ มีขวด ทนายความ และอดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง แก้รัฐธรรมนูญทางออกประเทศก่อนเกิดสงครามกลางเมือง ว่า ผมสบายใจขึ้นเมื่อเห็นเวทีการชุมนุมกลุ่มประชาชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อสองวันก่อนไม่มีการพูดถึง 10 ข้อเรียกร้อง แต่กลับมาสู่ 3 ข้อเรียกร้องเดิม คือ หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญและยุบสภา ซึ่งอยากให้รัฐบาลส่งตัวแทนเจรจากับแกนนำกลุ่มนี้และปลดชนวนระเบิดการเมืองด้วยการเดินหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความชัดเจนว่าจะแก้บางมาตราหรือให้ ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายบรรยากาศทางการเมืองที่กำลังตึงเครียดอยู่ในขณะนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |