ความเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้มีประเด็นให้ต้องจับตาที่ 2 ปีกในฝ่ายนิติบัญญัติ คือฝ่ายสภาสูง-วุฒิสภากับฝ่ายพรรคร่วมฝ่ายค้าน
เริ่มที่ฝ่าย "วุฒิสภา" ต้องบอกว่าลำพังแค่ความพยายามเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญภายใต้กลไกที่เขียนล็อกไว้ในมาตรา 256 ที่ต้องฝ่าหลายด่านกว่าจะผลักดันให้สำเร็จได้ในขั้นตอนการเห็นชอบจากเสียงสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ทั้งหมด ก็หืดขึ้นคอแล้ว โดยเฉพาะ "ด่านสภาสูง-วุฒิสภา” ที่หากเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่เข้ามาตามกลไกปกติ แม้จะยาก แต่ก็น่าจะพอลุ้นให้ ส.ว.มาร่วมมือได้ แต่มายุคปัจจุบันที่ ส.ว.ทั้ง 250 คนที่เข้ามาตามช่องทาง "บทเฉพาะกาล” ซึ่งให้อดีต คสช.มีส่วนร่วมในการคัดเลือก-ทำโผรายชื่อทั้งหมด จึงทำให้แผงอำนาจในสภาสูงที่มีวาระ 5 ปีซึ่งจะครบในปี 2567 เลยไม่พ้นถูกมองว่า ส.ว.คือเครือข่ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน
ดังนั้น หากจะมีฝ่ายไหนเคลื่อนไหวแก้ไข รธน. ถ้าเป็นการแก้ไข รธน.ที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.เสียการคอนโทรลอำนาจ ฝ่ายที่เคลื่อนไหวก็ยากที่จะฝ่าด่าน-ทะลวงแผงเหล็กการแก้ไข รธน.ให้สำเร็จลงได้ หากรัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐ-ส.ว.ไม่เอาด้วย
ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากเวทีม็อบหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่แกนนำ-ผู้ประสานงานคงมั่นใจว่า "ม็อบจุดติดแล้ว” จึงมีการประกาศเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวทางการเมือง นอกเหนือจาก 1.ให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน 2.ให้แก้ไข รธน. 3.ให้ยุบสภา โดยมีเงื่อนไข-ข้อเสนอใหม่ที่ขีดเส้นไว้ให้ทำภายในไม่เกินเดือนกันยายนก่อนปิดสมัยประชุมสภา นั่นก็คือการเรียกร้องให้มีการแก้ไข รธน.-ยกเลิก รธน.มาตรา 269-272 ที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องที่มาและอำนาจของ ส.ว.ชุดปัจจุบัน เช่น อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่ก็คือข้อเสนอเพื่อให้นำไปสู่การ “โละ-รื้อทิ้ง 250 ส.ว." ออกไปจากรัฐธรรมนูญและรัฐสภาภายในเดือนกันยายน 2563 ไม่เช่นนั้นจะมีการนัดชุมนุมเพื่อกลับมาทวงถามข้อเรียกร้องและพิจารณาเรื่องการยกระดับการชุมนุม
จากข้อเรียกร้องดังกล่าวที่การจะทำได้ หมายถึงต้องมีการแก้ไข รธน.รายมาตรา ที่จะต้องดำเนินการภายใน รธน.มาตรา 256 อยู่ดี และที่สำคัญต้องอาศัยเสียงสมาชิกวุฒิสภาที่กลุ่ม "ประชาชนปลดแอก-แฟลชม็อบนักศึกษา คนรุ่นใหม่” ตั้งป้อม “รบ-ล้ม-โละ" มาร่วมโหวตด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนเสียง ส.ว.250 คน ที่ก็คือไม่น้อยกว่า 84 เสียง ซึ่งโดยธรรมชาติทางการเมืองของ ส.ว.ชุดนี้ ก็ตั้งป้อมไม่เอาด้วยกับแฟลชม็อบอยู่แล้ว เมื่อต่างฝ่ายต่างตั้งป้อมไม่ยอมรับอีกฝ่าย แล้วฝ่ายคณะประชาชนปลดแอกมาทิ้งบอมบ์การเมืองให้โละ ส.ว.ทั้งแผงแบบนี้ โดยที่ ส.ว.ก็มีอำนาจในการที่จะโหวตไม่เอาด้วยกับการแก้ไข รธน.อยู่แล้ว อีกทั้งก็ไม่มีทางแน่ที่ฝ่ายรัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐจะมายอมทุบทิ้งสภาสูง ฐานอำนาจอันมั่นคงของตัวเองแบบง่ายๆ ทั้งๆ ที่วุฒิสภายังเหลืออายุอีกร่วม 4 ปี
ด้วยเหตุนี้ ในทางการเมือง แม้ต่อให้อาจมี ส.ว.บางคนยอมถอยเปิดทางให้มีการแก้ไข รธน. แต่ก็คงยอมแค่บางเรื่อง เช่น ตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเห็นชอบนายกฯ เท่านั้น ส.ว.เสียงส่วนใหญ่คงไม่มีใครมาโหวตแก้ รธน.เพื่อให้ตัวเองตกงาน-หมดอำนาจ-เสียสถานะการเมืองแบบง่ายๆ แน่นอน และหากเป็นไปตามนี้ การนัดชุมนุมทางการเมืองของม็อบคนรุ่นใหม่-นักศึกษาในช่วงเดือนตุลาคม หลังเงื่อนไขยุบทิ้ง ส.ว.ไม่เกิดขึ้น ยังไงก็เกิดขึ้นแน่
ส่วนความเคลื่อนไหวที่สองในส่วน "พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ที่เป็นกลุ่มการเมืองในรัฐสภาซึ่งรุกไล่ให้มีการแก้ไข รธน.อย่างหนัก แต่เป็นการเคลื่อนไหวในปีกฝ่ายนิติบัญญัติเอง กลับพบว่าเกิดความไม่เป็นเอกภาพขึ้นในพรรคร่วมฝ่ายค้าน หลัง ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ต้องยอมรับกันว่ายังไงก็มีเงาของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล ทับซ้อนอยู่ เกิดกระโดดออกจากขบวนรถไฟแก้ รธน.ของฝ่ายค้านด้วยกันเอง ที่ได้ยื่นญัตติแก้ไข รธน.ต่อประธานรัฐสภาไปเมื่อ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังแนวทางการแก้ไข รธน.ของพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยการนำของ "เพื่อไทย” ไม่ตรงกับสิ่งที่ฝ่ายพรรคก้าวไกลต้องการ
ประเด็นที่เกิดขึ้น “ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล-มือขวาธนาธร อดีต หน.อนาคตใหม่" แจงเบื้องต้นกับสื่อบางสำนักว่า การที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลไม่ร่วมยื่นญัตติดังกล่าว เพราะมีบางประเด็นที่พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ระบุไว้ในร่างแก้ไขเพิ่มเติม ที่ห้าม ส.ส.ร.แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไป และหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะพรรคมองว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจาก รธน.มาตรา 255 กำหนดข้อห้ามไม่ให้แก้ไขเพิ่มเติมที่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
เลขาธิการพรรคก้าวไกลยังบอกว่า พรรคมีเหตุผลอีกประการคือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีการแสดงความเห็นต่อสถาบัน สิ่งที่สังคมต้องตั้งหลักคือมีวุฒิภาวะ และข้อเสนอนั้นหากล็อกไว้ทำให้ลดวุฒิภาวะของสังคมต่อการรับฟัง ทำให้ปิดพื้นที่ปลอดภัยและเกิดความรู้สึกต่อสังคมว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่ดำเนิการเป็นสิ่งต้องห้าม หากล็อกไว้อาจลดความต้องการของ ส.ส.ร.ที่หวังว่าจะเป็นทางออกร่วมกันที่ทุกฝ่ายและหาข้อยุติร่วมกันอย่างสันติ
ทั้งนี้ ญัตติขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติม รธน.จะต้องมีสมาชิกร่วมลงชื่อไม่น้อยกว่า 100 คน ซึ่งพรรคการเมืองในปัจจุบันมีแค่สองพรรคเท่านั้นที่มี ส.ส.เกิน 100 คน คือเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ โดยพรรคก้าวไกลปัจจุบันมีประมาณ 54 คน จึงทำให้หากจะเสนอญัตติขอแก้ไข รธน.โดยลำพังพรรคเดียวทำไม่ได้ ต้องไปหาเสียงสนับสนุนมาร่วมลงชื่อเพิ่ม โดยสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคฝ่ายค้านก็สะท้อนให้เห็นถึงความเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะเพื่อไทยกับก้าวไกล ซึ่งที่ผ่านมามีร่องรอยความเห็น-แนวทางการทำงานทางการเมืองที่ไม่ราบรื่นกันให้เห็นบ่อยครั้ง เช่น การที่เพื่อไทยกับก้าวไกลไม่หลีกทางให้กันในการเลือกตั้งซ่อมสมุทรปราการ เป็นต้น
สองความเคลื่อนไหวของสองปีกในฝ่ายนิติบัญญัติต่อการแก้ไข รธน.ข้างต้น ยังเป็นแค่ฉากเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวการแก้ไข รธน.เท่านั้น เพราะจากนี้ยังจะมีให้เห็นอีกหลายฉาก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |