“ประติมากรรมแห่งสันติ” ใน “สวนสันติภาพนางาซากิ”
หลังจากเปิดประเทศในยุคเมจิซึ่งนั่นก็ตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เข้าไปแล้ว ญี่ปุ่นได้เร่งพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักทั้งหลาย ทำให้มั่นใจในศักยภาพการรบจนเข้าทำศึกทั้งกับจีนและรัสเซีย แถมยังเอาชนะมาได้ อีกทั้งในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เข้ากับฝ่ายผู้มีชัย สามารถยึดเอาดินแดนในแปซิฟิกที่เยอรมนีครอบครอง แล้วยังเดินหน้ายกทัพบุกทางบก-ทางทะเลอย่างต่อเนื่อง กำราบเจ้าอาณานิคมตะวันตกทั้งหลาย นำไปสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา
ทว่าการที่ไปเล่นแรงเอากับอเมริกาพญาอินทรีในการถล่ม “เพิร์ลฮาร์เบอร์” ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความปราชัยแบบเสียหายย่อยยับ ยังผลให้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงอย่างแท้จริง จากที่ก่อนหน้านั้น “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ของนาซีเยอรมันเป่าสมองตัวเองดับไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรกำชัยเหนือฝ่ายอักษะในสมรภูมิยุโรปไปก่อน
เช้าวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ท้องฟ้าเหนือเมืองโคคูระ ในจังหวัดฟุกุโอกะ เต็มเป็นด้วยกลุ่มเมฆที่บดบังทัศนวิสัย เครื่องบิน B-29 “Bockscar” จึงหันเหทิศทางลงใต้สู่เป้าหมายสำรองคือเมืองนางาซากิ แล้วหย่อนระเบิดปรมาณู “Fat Man” ลงสู่เบื้องล่างในเวลา 11.02 น. ระเบิดเชื้อเพลิงพลูโตเนียมถูกจุดชนวนที่ความสูง 500 เมตรเหนือพื้นดิน สัดส่วนทำลายล้างที่มีแรงระเบิด 50 %, รังสีความร้อน 35 % และสารกัมมันตรังสี 15 % ส่งผลให้ผู้คน 150,000 เสียชีวิตและบาดเจ็บหนักในจำนวนพอๆ กัน จากชาวเมืองทั้งสิ้นประมาณ 240,000 คนในเวลานั้น ทำให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการในอีก 6 วันต่อมา
น้ำพุสันติภาพผุดพุ่งเป็นรูปปีกนกกระเรียน สัญลักษณ์แห่งโชคและความสมหวัง
ผมนั่งรถรางสาย 1 จากที่พัก Casa Noda บนถนน Ohato ไปยังสถานี Matsuyama-machi เดินต่ออีกหน่อยก็ถึง “สวนสันติภาพนางาซากิ” (Nagasaki Peace Park) บนเนินเขาที่ในอดีตคือเรือนจำย่อยอุราคามิ มีพื้นที่ถึง 20,000 ตารางเมตร ครอบคลุม 3 ตำบล ได้แก่ Matsuyama-machi, Oka-machi และ Hashiguchi-machi โดย 13,000 ตารางเมตรเป็นส่วนของอาคาร คุกแห่งนี้เป็นสถานที่ทางราชการที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของระเบิดมากที่สุด ทำให้กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 4 เมตร หนา 25เซนติเมตรพังครืน อาคารที่ทำด้วยไม้กลายเป็นเถ้าถ่าน นักโทษและผู้คุมเสียชีวิตทันที 134 คน
หลังเหตุวิปโยคผ่านไปได้ 10 ปี สวนสันติภาพนางาซากิก็เริ่มเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1955 มีรูปปั้นและอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงเหยื่อระเบิดปรมาณูและเรียกร้องสันติภาพจำนวนหลายชิ้น จากศิลปินและองค์กรต่างๆ หลายประเทศ มีรูปปั้น “แม่และลูก” อยู่อย่างน้อย 4 ชิ้น หนึ่งในนั้นคือ รูปปั้นชื่อ “Protect of Our Future” จากเนเธอร์แลนด์ จารึกข้อความไว้ที่ฐานว่า “ประติมากรรมแม่อุ้มลูกน้อยชูขึ้นเพื่อให้ปลอดภัยจากอันตราย สื่อความหมายว่าเราต้องปกป้องไม่เฉพาะเพียงคนยุคเราเท่านั้นแต่ต้องรวมถึงคนรุ่นต่อๆ ไปด้วย เพื่อให้ชาวโลกอยู่ด้วยกันอย่างสุขสงบ”
บรรดารูปปั้นในโซน “สัญลักษณ์สันติภาพ” หลายชิ้นเป็นรูปปั้นแม่กับลูก
นอกจากชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากระเบิดมหาประลัยของสหรัฐอเมริกาลูกนั้นแล้ว ยังมีชาวจีนและเกาหลีที่ถูกจับเป็นเชลยและถูกบังคับให้ทำงานอยู่ในเมืองนางาซากิอีกด้วย จึงมีทั้งอนุสรณ์ของจีนและเกาหลีเพื่อให้ญาติของเหยื่อ รวมถึงเพื่อนร่วมชาติได้เดินทางมาสักการะและระลึกถึงผู้จากไป
รูปปั่นที่โดดเด่นที่สุดคือ “Peace Statue” หรือ “ประติมากรรมแห่งสันติ” ตั้งอยู่ส่วนท้ายสุดของสวนสันติภาพ เป็นรูปปั้นบรอนซ์ความสูง 10 เมตร “Seibo Kitamura” ประติมากรได้จารึกข้อความไว้ว่า
“ภายหลังสงครามอันสยดสยอง, การเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยม, ความเลวร้ายที่เกินทานทน ใครเล่าจะเดินผ่านเลยโดยที่ไม่สวดมนต์อ้อนวอนขอสันติภาพ ? รูปปั้นนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อชี้ถึงการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความสมัครสมานกลมเกลียวของชาวโลก และแสดงถึงความลึกซึ้งในปัญญาและความงาม
“มือขวาชี้ไปยังระเบิดปรมาณู มือซ้ายชี้ไปยังสันติภาพ ใบหน้าสวดภาวนาให้กับเหยื่อสงคราม, เอาชนะกำแพงแห่งชนชาติ และรำลึกถึงความเมตตาของพระพุทธและพระเจ้า นี่คือสัญลักษณ์แห่งความมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของนางาซากิ และความหวังเหนือสิ่งอื่นใดแห่งมวลมนุษย์”
เด็กๆ ทัศนศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของสงครามและสันติภาพ ติดๆ กับเสา “ศูนย์กลางระเบิดปรมาณู”
ด้านข้างของรูปปั้นทั้ง 2 ฝั่งคือซุ้มศาลารูป 3 เหลี่ยม ภายในมีนกกระเรียนกระดาษตัวเล็กๆ ที่พับติดกันยาวห้อยลงมาจำนวนหลายเส้น ด้านบนสุดคือนกกระเรียนสีเหลืองตัวใหญ่ ซึ่งนกกระเรียนสำหรับชาวญี่ปุ่นคือสัญลักษณ์แห่งโชคและความสมหวัง
หน้าประติมากรรมแห่งสันติคือลานกว้าง และต่อจากลานกว้างคือ “น้ำพุสันติภาพ” ที่ผุดพุ่งเป็นรูปปีกนกทั้งสองปีก มีรัศมีกว้าง 18 เมตร และสูงตั้งแต่ครึ่งเมตร ถึง 6 เมตร มีข้อความเขียนไว้ว่า
“เมื่อเกิดเหตุระเบิดปรมาณูขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ผู้คนหลายหมื่นทรมานแสนสาหัสจากการถูกเผาไหม้และตายไปเพราะขาดน้ำ
“เมืองนางาซากิ และสภาแห่งชาติเพื่อสันติภาพของโลกและการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ได้สร้าง‘น้ำพุสันติภาพ’ นี้ขึ้นด้วยเงินบริจาคที่ได้รับจากคนทั่วทั้งประเทศ เพื่ออุทิศดั่งการให้น้ำกับเหยื่อผู้ประสบภัยและสวดภาวนาแด่ดวงวิญญาณในสุคติภูมิ…”
นาฬิกาแขวนผนังที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
ผมลงจากสวนสันติภาพบนเนินเขาด้วยทางเลื่อนเช่นเดียวกับขาขึ้น แล้วเดินไปทางทิศใต้เพียงประมาณสองร้อยเมตรก็ถึงจุดศูนย์กลางของระเบิดปรมาณู (Hypocenter) หลังจากเกิดระเบิดความร้อนหลายพันองศาไม่กี่วันก็มีผู้นำเสาหินมาปักไว้ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเสาสีดำและฐานเสาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และนี่คือจุดสำคัญสำหรับการสวดมนต์แผ่ส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ
มีผู้รอดชีวิตคนหนึ่งเล่าเหตุการณ์วันเกิดเหตุเป็นบันทึกไว้ว่าแม่น้ำ Shimonokawa ที่ไหลผ่านบริเวณนี้เต็มไปด้วยศพเหยื่อที่ขาดน้ำและถูกเผาไหม้อย่างรุนแรง
“...จำนวนศพที่มากมายดูเหมือนว่าศพเหล่านั้นได้กลายเป็นคันเขื่อนในแม่น้ำ อย่างกับว่านี่คือวันสิ้นโลก นรกชัดๆ...”
ใกล้ๆ กันคือชิ้นส่วนของกำแพงโบสถ์อุราคามิ ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นโบสถ์คาธอลิคที่มีความสำคัญที่สุดในญี่ปุ่น โบสถ์แห่งนี้อยู่ห่างออกไปจากจุดศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร ทางเมืองนางาซากิได้นำเสาจากส่วนหนึ่งของกำแพงโบสถ์ซึ่งมีรูปปั้นของพระเยซูและนักบุญอีกหนึ่งท่านมาแสดงไว้
นาฬิกาอีกเรือนในพิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ หยุดเวลาไว้ที่ 11.02 น. เช่นกัน
จากนั้นผมเดินข้ามแม่น้ำ Shimonokawa ไปยัง “พิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ”(Nagasaki Atomic Bomb Museum) ซึ่งเปิดให้เข้าชมมาตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1996 มีค่าเข้าชม200 เยน
ในโซน A จัดแสดงภาพถ่ายของเมืองนางาซากิก่อนวันถูกทำลาย เห็นโบสถ์อุราคามิ ตั้งเด่นอยู่กลางภาพ ซึ่งใกล้ๆ กันยังมีโรงเรียนประถม, โรงเรียนมัธยมหญิงล้วน และโรงเรียนคนตาบอด ส่วนที่เป็นไฮไลท์ของโซนนี้ก็คือนาฬิกาติดผนังในตำนานที่หลายคนเคยเห็นในสื่อต่างๆ นาฬิกาเรือนนี้ถูกพบที่บ้านหลังหนึ่งใกล้ๆ ศาลเจ้าซันโน ห่างจากจุดศูนย์กลางระเบิดประมาณ 800 เมตร เข็มนาฬิกาหยุดอยู่ที่ 11.02 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ระเบิดถูกจุดชนวน
โซน B จัดแสดงสิ่งของที่สื่อให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดจากระเบิด อาทิ แท็งค์น้ำที่ขาตั้งบิดเบี้ยวจากโรงเรียนแห่งหนึ่ง กระดูกแขนคนที่ถูกความร้อนหลอมเข้ากับกระจกกลายเป็นเนื้อเดียวกัน กะโหลกคนในหมวกกันน็อค ขวดที่บิดเบี้ยวหลอมละลาย เสื้อผ้ารุ่งริ่งของเหยื่อระเบิด ภาพบาดแผลของเหยื่อจากรังสีความร้อน กล่องข้าวกลางวันของเด็กหญิงคนหนึ่ง ข้าวในกล่องโลหะกลายเป็นเถ้าสีดำ รูปม้ามของคนโดนระเบิดซึ่งใหญ่กว่าคนปกติราว 10 เท่า
นอกจากนี้ก็ยังนิทรรศการแสดงลำดับเหตุการณ์ก่อนที่เมืองนางาซากิและสงครามของญี่ปุ่นจะมาถึงจุดจบ, ระเบิด Fat Man จำลองเท่าของจริง, ใบปลิวที่กองทัพอเมริกาโปรยลงมาระบุถึงหายนะที่ได้เกิดแล้วกับเมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม เตือนให้ชาวเมืองหลบหนีและหยุดการต่อสู้, โมเดลแสดงสภาพภูมิประเทศจำลองของนางาซากิโดยมีไฟสีแดงส่องลงมาจากเพดานระบุตำแหน่งเครื่องบินและจุดทิ้งระเบิดพร้อมเสียงบรรยาย
สภาพภูมิประเทศของเมืองนางาซากิ จุดสีแดงคือศูนย์กลางระเบิดปรมาณู
โซน C แสดงนิทรรศการวิวัฒนาการของระเบิดนิวเคลียร์, สถานการณ์การสะสมอาวุธนิวเคลียร์หลังสงครามโลก, ขบวนการต่อต้านการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก ส่วนโซน D คือห้องดูวิดีโอสารคดีเกี่ยวกับระเบิดนิวเคลียร์ และมีมุมให้ทำข้อสอบที่เรียกว่า Q & A about the Atomic Bomb and Peace
ผมเดินกลับไปที่โซน C อีกครั้ง มีข้อความจากรายงานต่างๆ เกี่ยวกับระเบิดปรมาณูที่ใช้ถล่มญี่ปุ่นแสดงประกอบนิทรรศการ
เจมส์ แฟรงค์ ประธานกรรมาธิการด้านการเมืองและปัญหาสังคม รายงานต่อรัฐมนตรีสงครามของสหรัฐฯ ในกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1945 ในลักษณะที่ว่า หากสหรัฐฯ จะใช้วิธีใหม่ในการเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายต่อมนุษยชาติ ก็จงทราบด้วยว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก จะเร่งให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาอาวุธทำลายล้าง และทำให้ข้อตกลงนานาชาติในการควบคุมอาวุธดังกล่าวอาจประสบความล้มเหลว
แผนที่แสดงประเทศที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ สหรัฐฯ นอนกอดอยู่ 7,300 ส่วนรัสเซียอุ่นใจที่จำนวน 8,000
ผลการศึกษาชื่อ The United States Strategic Bombing Survey ระหว่างกันยายนถึงธันวาคม ค.ศ. 1945 หรือไม่กี่เดือนหลังสงครามระบุว่า “จากการศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมด รวมถึงคำให้การของบรรดาผู้นำของญี่ปุ่นที่รอดชีวิต การศึกษานี้มีความเห็นว่าแน่นอนทีเดียวที่ก่อนวันที่ 31ธันวาคม 1945 หรือเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 1945 ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้ แม้ว่าจะไม่โดนระเบิดปรมาณู, แม้ว่ารัสเซียจะไม่ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น และแม้ว่าการบุกโจมตีภาคพื้นดินจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม”
หนังสือข้อเรียกร้องลงนามโดยนักวิทยาศาสตร์ 70 คน จากโครงการ “Manhattan Project” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ นำโดย Leo Szilard ผู้คิดค้นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ระบุว่า “...สหรัฐฯ ไม่ควรใช้ระเบิดปรมาณูในสงครามนี้เว้นเสียแต่ว่าจะได้บอกกล่าวรายละเอียดแก่สาธารณะเสียก่อน และญี่ปุ่นต้องทราบด้วยว่าจะถูกปฏิบัติอย่างไรหากไม่ยอมแพ้...”
ด้าน “ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์” ผู้บัญชาการรบในยุโรป (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่าง ค.ศ. 1953 – 1961) ได้ตอบกลับข้อมูลการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ต่อญี่ปุ่นจาก “เฮนรี สติมสัน” รัฐมนตรีสงคราม ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1945 ว่า “...อย่างแรกผมเชื่อว่าญี่ปุ่นได้พ่ายแพ้เรียบร้อยแล้ว การทิ้งระเบิดชนิดนั้นจึงเป็นสิ่งไม่จำเป็นอย่างที่สุด อย่างที่สอง ผมคิดว่าประเทศของเราควรหลีกเลี่ยงการช็อคโลกด้วยการใช้อาวุธที่ผมคิดว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อรักษาชีวิตอเมริกันชนอย่างที่นึกคิดกันอีกต่อไป ผมเชื่ออย่างที่สุดว่าญี่ปุ่นกำลังหาทางยอมแพ้ ด้วยวิธีการที่ทำให้พวกเขาเสียหน้าน้อยที่สุด” ข้อความนี้ปรากฏในหนังสือชีวประวัติของไอเซนฮาวร์ชื่อ “Mandate for Change” (Heinemann, 1963)
คำสั่งทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ญี่ปุ่น 2 ลูกโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใหม่ถอดด้าม นาม “แฮรี ทรูแมน” จึงไม่ใช่เรื่องของการปิดฉากสงครามโลก แต่น่าจะเป็นการชิงสถานะผู้นำโลกหลังสงครามมากกว่า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |