วันนี้ - นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563 - 2565) ตามที่ วธ. เสนอเป็นแผนพัฒนางานด้านสื่อปลอดภัยฉบับแรกของไทย โดยจัดทำขึ้นบนพื้นฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบในการดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วนในสังคมได้ใช้เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาของเด็กและเยาวชน และวิถีชีวิตของคนไทย ภายใต้กระแสวัฒนธรรมโลกในยุคดิจิทัล วางเป้าหมายให้ไทยมีสื่อคุณภาพสูงภายใต้หลักแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ มีจริยธรรม และความรับผิดชอบในการสื่อสาร มีทักษะและพฤติกรรมใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ รวมถึงมีกฎหมายที่ทันสมัย และกลไกในการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ
นายอิทธิพล กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1.สนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2.ส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อพฤติกรรมการใช้สื่อเชิงสร้างสรรค์ เฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ 3.บูรณาการกลไกการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนผ่านการสื่อสารสาธารณะ และ4.พัฒนาและบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติและคณะอนุกรรมการ 78 คณะ ร่วมกำหนดมาตรการและสนับสนุนให้มีการพัฒนาประมวลจริยธรรม และแนวทางปฏิบัติที่ดีของสื่อแต่ละแขนง รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการส่งเสริมหรือจูงใจให้สื่อสร้างจรรยาบรรณของสื่อมวลชน เป็นมาตรฐานกลาง สร้างแรงจูงใจในการผลิตสื่อและเผยแพร่สื่อคุณภาพอย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบ พัฒนาอุตสาหกรรมสื่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมทั้งศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อที่มีความหลากหลายและครอบคลุมทุกพื้นที่
" จากการสำรวจพฤติกรรมการรับสื่อและความคิดเห็นต่อการเฝ้าระวังสื่อ พบว่า คนไทยใช้โซเซียลมีเดียมากสุด คือ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตากรม ยูทูบ ติ๊กต๊อก ประเด็นน่าห่วงที่ต้องสร้างเสริมให้สังคมรู้เท่าทัน ได้แก่ ข่าวลวงร้อยละ 79.9 สื่อลามก ร้อยละ 69.1 การพนัน ร้อยละ 59.9 การระรานทางไซเบอร์ ร้อยละ 57.7 ประทุษวาจา ร้อยละ 52.6 สื่อและเกมใช้ความรุนแรง ร้อยละ 31.3 ดังนั้น จึงนำผลมาวิเคราะห์และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เช่น การจัดทำระบบ Media Watch เฝ้าระวังสื่อทั้งสื่อใหม่และสื่อเดิม โดยจับตาดูกระแสและแนวโน้มการเสพสื่อ การกำหนดสมรรถนะการรู้เท่าทันสื่อให้เป็นพื้นฐานในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ โดยให้เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอนเรื่องรู้เท่าทันสื่อกับสถาบันอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีศูนย์วิจัยสื่อขึ้นในกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิชาการในการศึกษาเรื่องการรับสารของคนไทยอย่างเป็นระบบ" นายอิทธิพล กล่าว
...