สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
วันที่ 18 ส.ค. - วันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ละครอบครัวใช้เวลาในกิจกรรมแตกต่างกันไป แต่ถ้ากำลังหากิจกรรมที่ได้ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลิน สนุกสนานกับประวัติศาสตร์ และเติมเต็มความสัมพันธ์ในครอบครัว แนะนำพากันไปเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2563 เรื่อง “ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ” ระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม – 19 พฤศจิกายน 2563 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สองปราชญ์แห่งศิลปวิทยาการระดับโลก และน้อมสำนึกในคุณูปการที่สองพระองค์ได้ทรงสร้างไว้ โดยให้ผู้ชมนิทรรศการได้เรียนรู้ เข้าใจในประวัติศาสตร์ การศึกษาด้านโบราณคดีและศิลปกรรมของไทยผ่านการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุสำคัญกว่า 300 รายการ และสื่อมัลติมีเดียที่คัดเลือกมา
สำหรับ “สาส์นสมเด็จ” เป็นหนังสือที่รวบรวมจดหมายส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระหว่าง พ.ศ. 2457-2486 เนื้อหาในจดหมายสะท้อนเรื่องราวที่ทั้งสองพระองค์ทรงสนพระทัยและเกร็ดความรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี พิพิธภัณฑสถาน วรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีและนาฏศิลป์ กรมศิลปากรได้ประมวลและถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงผลงานของทั้งสองพระองค์ที่ปรากฏในหนังสือ “สาสน์สมเด็จ” มานำเสนอในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ” โดยคัดเลือกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุสำคัญกว่า 300 รายการ และสื่อมัลติมีเดียมาจัดแสดง แบ่งการจัดแสดงที่น่าสนใจเป็น 6 หัวข้อ
เริ่มจาก สองสมเด็จ ปฐมบทแห่งสาส์นสมเด็จ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการศึกษาศิลปวิทยาด้านต่าง ๆ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสนพระทัยงานศิลปกรรม ดนตรี นาฏศิลป์ ทรงสร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับพระสมัญญา “สมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสนพระทัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทรงมีพระนิพนธ์ความรู้เผยแพร่มากมาย จนได้รับพระสมัญญา “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย”
สองสมเด็จกับการพิพิธภัณฑสถาน แรกก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย ทั้งสองพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการจัดหาโบราณวัตถุมาจัดแสดง โดยวัตถุส่วนหนึ่งได้จากการรวบรวมเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการตามหัวเมืองและต่างประเทศ บางส่วนได้จากการที่ทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์และวัดซึ่งเก็บสะสมวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้นำมาบริจาคแก่พิพิธภัณฑ์ ภายหลังการรวบรวมวัตถุ โปรดให้จัดทำทะเบียนวัตถุเพื่อการสืบค้นและการวิเคราะห์วัตถุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมจากการวิเคราะห์รูปแบบทางศิลปะ รวมถึงการจัดแสดงอย่างเป็นหมวดหมู่ นับเป็นการวางรากฐานการพิพิธภัณฑ์ไทยตามหลักวิชาพิพิธภัณฑสถานวิทยาอย่างสากล ส่งผลให้กิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน
สองสมเด็จกับงานด้านดนตรีนาฎศิลป์ พระอัจฉริยภาพด้านการดนตรีทั้งไทยและสากลของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีความโดดเด่น เห็นได้จากที่ทรงตรวจสอบและมีพระวินิจฉัยชี้แนะข้อผิดพลาดในการบันทึกเสียงดนตรีไทยเป็นโน้ตสากลได้อย่างแม่นยำ ส่วนในด้านนาฏศิลป์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นหลักในการนำองค์ความรู้จากตำราภาพท่ารำโบราณมาถอดเป็นท่ารำและบันทึกภาพ โดยใช้ผู้รำจริงแทนการคัดลอกจากสมุดไทยแบบเดิม แล้วพิมพ์เป็นหนังสือตำราที่ใช้อ้างอิงมาจนปัจจุบัน
สมุดภาพตำรารำ รัชกาลที่ 1 ต้นแบบที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชุนุภาพใช้ทำหนังสือ"ตำราฟ้อนรำ"ขึ้นใหม่
สองสมเด็จกับงานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงออกตรวจราชการและสำรวจโบราณสถานในมณฑลต่าง ๆ ทรงรวบรวมโบราณวัตถุ และจารึกที่ถูกทอดทิ้ง ทรงศึกษาต่อยอดสิ่งที่ค้นพบเหล่านี้โดยการตั้งคำถามและหาหลักฐานประกอบ เพื่อนำมาคิดวิเคราะห์และตีความ หรือแม้แต่การส่งหลักฐานไปให้ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศช่วยตรวจพิสูจน์ นับว่าเป็นวิธีคิดที่ทันสมัย สมมติฐานทางประวัติศาสตร์ที่พระองค์ทรงตั้งไว้ในขณะนั้น ได้รับการศึกษาค้นคว้าต่อจากคนรุ่นหลัง เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าในวิชาโบราณคดีสืบต่อมา ภายในนิทรรศการฯ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น งานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ความรู้เรื่องเมืองนครปฐมโบราณ โบราณคดีทักษิณ และเครื่องปั้นดินเผาภาคเหนือ
สองสมเด็จกับงานด้านภาษาและหนังสือ นอกจากจะทรงร่วมกันศึกษา วิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลประวัติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปกรรมจากเอกสารโบราณและจารึกแล้ว ยังทรงร่วมกันค้นคว้าวินิจฉัยเอกสารเรื่อง “ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีปและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” สำหรับตีพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระศพพระองค์เจ้าพรรณราย พระมารดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นับเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพเล่มแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และคราวงานศพเจ้าจอมมารดาชุ่ม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือ “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” อันถือว่าเป็นตำราทางประวัติศาสตร์ศิลปะไทยเล่มแรกที่ได้รับการอ้างอิงถึงปัจจุบัน
สองสมเด็จกับงานด้านศิลปกรรม ศิลปกรรมและงานช่างโบราณเป็นหัวข้อที่ทั้งสองพระองค์ ทรงแลกเปลี่ยนพระวินิจฉัยปรากฏอยู่เสมอในหนังสือสาส์นสมเด็จ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงศึกษาพิเคราะห์วิจารณ์งานศิลปกรรมด้วยสายพระเนตรของนักปราชญ์ผู้ชื่นชมงานศิลป์และรู้รอบด้านโบราณคดี ส่วนสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็ทรงใฝ่พระทัยในการเรียนรู้ด้านการช่างโบราณและทรงประยุกต์ใช้กับงานออกแบบงานศิลปกรรมแบบไทยประเพณีจนมีเอกลักษณ์ร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ภายในนิทรรศการฯ มีการจัดแสดงงานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ สมุดภาพรามเกียรติ์ ตาลปัตร พัดพระ งานประณีตศิลป์ไทย จากอนุสาวรีย์สู่การวางรากฐานงานประติมากรรมสากล สะพานเจริญศรัทธากับข้อสันนิษฐานเรื่องการออกแบบ
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย 2563 เรื่อง “ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ” ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.จนถึงวันที่ 19 พ.ย. เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์ - อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |