เพราะพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้ในปัจจุบันผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และยังได้พัฒนาให้กระบวนการทำผ้าไหมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไร้สารเคมี มีดีไซน์ที่เก๋ไก๋ใส่ได้ทุกงานทุกวัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น
เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ. ชัยภูมิ ที่มีเอกลักษณ์ในการทำผ้าไหม ย้อมสีธรรมชาติ และยังเป็น 1 ใน 5 ชุมชน นำร่องภายใต้"โครงการหน้ากากจากหัวใจชุมชน " หรือการทำหน้ากากผ้าอนามัย สวมใส่ในช่วงโควิด-19 ยังระบาด
ชาวบ้านเย็บหน้ากากจากผ้าฝ้าย
หน้ากากผ้าจากชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดงนี้ มีจุดแข็งตรงที่ใช้วัตถุดิบ คือ ผ้าฝ้ายจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาออกแบบตัดเย็บ ร่วมกับผ้าพื้นถิ่น
พรพล เอกอรรถพร
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ. ชัยภูมิ การทำหน้ากาผ้าใน โครงการหน้ากากจากหัวใจชุมชน มีจุดประสงค์เพื่อสร้างรายได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 และยังเป็นการส่งเสริมงานหัตถกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำร่องไปแล้ว 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ. ชัยภูมิ, ชุมชนบ้านหัวฝาย จ. ขอนแก่น, ชุมชนบ้านดอนยายเหม จ. สุพรรณบุรี, ดาหลาบาติก จ. กระบี่ และชุมชนศรียะลาบาติก จ. ยะลา โดยใช้เป็นวัตถุดิบหลักที่แต่ละชุมชนผลิตผ้ามาตัดเย็บ อย่างที่ขุมชนหนองบัวแดง ได้นำผ้าฝ้ายออร์แกนิก ซึ่งปลูกแบบไร้สารเคมีของชุมชนเอง ย้อมเส้นฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ ที่มาจากต้นประดู่ ครั่ง คำแสด คราม ขมิ้น และมะเกลือ มาทอ และเย็บด้วยมือ สวมใส่สบาย จำหน่ายผ่านช่องทางคนในชุมชนเอง และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศเองด้วย ในราคาชิ้นละ 75 บาท
ชาวบ้านทอผ้าที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพทุ่งกระมัง
"แต่ถึงหน้ากากผ้าดังกล่าว จะเป็นผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ แต่ชุมชนยังมีปัญหาเรื่องการตลาด เพราะมีจุดอ่อนเรื่องราคาที่สูงกว่าหน้ากากผ้าที่ขายกันตามท้องตลาด แม้จะมีดีไซน์ที่ตลักษณ์โดดเด่น ก็ยังทำการตลาดได้ยาก"พรพลกล่าว
ชาวบ้านทอผ้าที่ ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง
ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯกล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ทาง SACICT จึงต้องหาแนวทางในการส่งเสริมด้านการตลาดให้ยั่งยืน โดยมีแผนงานคือ 1.ต้องเริ่มจากการสร้างค่านิยม ใช้ผ้าไทยหรือผลิตภัณฑ์ของคนไทย อีกทั้งยังต้องผลักดันให้คนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบกับงานหัตถกรรม รับช่วงงานหัตถศิลป์ด้านนี้ต่อ เพราะส่วนใหญ่ครูช่างศิลป์หลายคนไม่มีทายาท ในการสืบสานงาน หรือทายาทบางคนอาจจะไม่ได้สนใจงานศิลป์ 2. ผลักดันด้านการวิจัยและพัฒนา ที่เกี่ยวกับผ้าไทย เพราะในประเทศมีจำนวนผู้ทอผ้าไทยเยอะมากกว่า 1 แสนคน จึงควรมีการพัฒนา นำนวัตกรรม อย่างเช่น นาโนเทคโนโลยี เข้ามาช่วยในเรื่องการดูแลรักษาผ้าไทยให้ง่ายขึ้น เพราะหากมีประชาชนหันมานิยมใช้ผ้าไทยเพียง 5-10% ก็จะสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล รวมทั้งต้องหาทางให้สินค้าผ้าไทย เข้าสู่ตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง โดยจะต้องมีการส่งองค์ความรู้เรื่องตลาดออนไลน์ ให้แก่ชาวบ้านในการบริหารจัดการสินค้าต่างๆต่อไป
ด้านอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 ในฐานะผู้นำชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ได้เล่าว่าได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทอผ้า โดยเฉพาะผ้าทอมือ การย้อมสีธรรมชาติ อาทิ ผ้ามัดหมี่ ผ้าฝ้าย และผ้าไหม ที่มีลวดลายลาย เป็นเอกลักษณ์อย่าง ลายไข่มดแดง ลายนาค หรือลายบัวละจิต จึงได้มีการร่วมกลุ่มขึ้นในปี 2539 โดยเป็นการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 11 หมู่บ้านใน 2 อำเภอ คือ อ. หนองบัวแดง และอ. เกษตรสมบูรณ์ ซึ่งที่นี่จะปลูกฝ้ายใช้เอง โดยไม่ใส่สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง ทำให้เรามีฝ้ายออแกนิก ที่ปลูกในเฉพาะพื้นที่ชุมชนตนประมาณ 40 ไร่ นอกจากนี้ สีที่ใช้ก็ยังเป็นสีธรรมชาติ ที่หาได้ในชุมชน อย่าง สีดำ จากผลมะเกลือ สีม่วง จากเปลือกมังคุด สีเหลือง จากเปลือกประโหด สีเทา จากผลตะโก หรือโคลน สีฟ้าและสีคราม จากใบคราม สีแดงและสีชมพู จากครั่ง ทำให้เราสามารถผลิตผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ ผ้าซิ่น กางเกงเล ผ้าคลุมไหล่ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งหน้ากากผ้าเราก็ใช้ผ้าเหล่านี้ในการตัดเย็บ จึงตอบโจทย์คนที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมีความสนใจผ้าไทยมากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 ยังได้รับแรงงานหนุ่มสาวซึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนามาทำงานด้วยกว่า 100 คน เพื่อเป็นช่วยเหลือเพิ่มช่องทางหารายได้ ทำให้มีสมาชิกในกลุ่มเพิ่มขึ้นถึง 500 ราย ส่วนในอนาคตที่ยังต้องเรียนรู้คือเรื่องของตลาดออนไลน์ และการส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจเรียนรู้และอนุรักษ์สืบสานผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติต่อไป
สมหมาย ชูสกุล
สมหมาย ชูสกุล ประธานศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพทุ่งกระมัง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ได้เล่าว่า สำหรับผ้าของศูนย์ฯนั้น ได้รับรางวัลจากการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งต้องเป็นผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ตนและชาวบ้านที่อยู่กลุ่มก็ได้ร่วมกันพัฒนาและอนุรักษ์การทอผ้าที่มีมากว่า 400 ลายทั้งลายเก่า และลายใหม่ประยุกต์ ที่กลุ่มทอผ้าได้รับการส่งเสริมจนมีรายได้ ก็เพราะจากจุดเริ่มต้นที่ได้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสนับสนุนต่างๆ อีกทั้ง พระองค์ยังได้พระราชทานนามใหม่ให้กับผ้าไหมลายขอกะหรี่ เป็นผ้าไหมหมี่คั่นขอนารี เพื่อให้มีขื่อที่เพราะเหมาะสมกับความงามของผ้าไหม ในปี 2511 ซึ่งลายนี้เป็นลายที่จินตนาการจากตะขอเกี่ยวน้ำ เมื่อน้ำมามัดลายย้อมสีจึงมีลวดลายสลับกันไปมา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทอและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าจะมีเด็กและเยาวชนสนใจที่อยากจะเรียนรู้และสืบสานผ้าไหมไม่ให้สูญหาย
ผ้าไหมหมี่คั่นขอนารี
ผ้าไหมหลากหลายลาย ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพทุ่งกระมัง
ผ้าลายไข่มดแดง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |