ไทยติดเชื้อใหม่ 1 รายกลับจากอินโดฯ เร่งสอบสวนคลายปมชาวมาเลย์ติดจากไทยกลับประเทศ กห.-สธ.จัดฝึกร่วมรับมือโควิดระลอก 2 เตรียมแผนหลังเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "อนุทิน" ชง ครม.ไฟเขียวงบ 600 ล้านผลิตวัคซีน "บิ๊กตู่" หัวโต๊ะถก ศบค.เศรษฐกิจนัดแรก 19 ส.ค.
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 1 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ เป็นนักศึกษาชายไทยอายุ 24 ปี เดินทางมาจากอินโดนีเซีย ถึงไทยวันที่ 3 ส.ค. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 1 ราย เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อในครั้งที่ 2 วันที่ 15 ส.ค. ไม่มีอาการ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,378 ราย ยอดหายป่วยสะสม 3,194 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 126 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย
นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ข่าวที่น่าสนใจกรณีมาเลเซียให้ข่าวว่ามีผู้เดินทางกลับจากไทยติดเชื้อโควิด-19 กลับไปมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียได้แจ้งมาที่ผู้ประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศทางฝั่งไทย เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนโรคและแจ้งผลไปที่มาเลเซียอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นชาวมาเลเซียอายุ 46 ปี เดินทางเข้ามาเลเซียวันที่ 5 ส.ค. ผลตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ ไม่มีอาการใดๆ และตรวจซ้ำวันที่ 15 ส.ค.พบเชื้อ ด้วยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR โดยเขาให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าผู้ป่วยรายนี้พักในคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการสอบสวน เพื่อค้นหาผู้สัมผัสและผู้ติดเชื้อในบริเวณที่พักอาศัยของผู้ป่วยรายนี้แล้ว ขณะนี้เรากำลังไล่ดูประวัติการเดินทางว่าเข้ามาในไทยเมื่อไหร่ ดูมาตรการกักกันของมาเลเซียด้วยว่าเป็นอย่างไร และรอผลตรวจซ้ำจากมาเลเซียด้วย ตอนนี้จึงยังไม่มีข้อยืนยันว่าชายดังกล่าวติดเชื้อจากที่ไหน เพราะเข้าไปอยู่ในสถานที่กักกันค่อนข้างนาน และประวัติการเดินทางที่ยังไม่ค่อยชัดเจน
รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ในประเทศไทยมีความพยายามอันดับแรกคือ การวิจัยวัคซีนโดยทีมอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะเข้าสู่ระยะการวิจัยในคนระยะที่ 1 และ 2 เมื่อวัคซีนตัวนี้วิจัยถึงระยะที่ 3 และได้ผล ประเทศไทยมีความพร้อมผลิตวัคซีนตัวนี้ด้วยตัวเอง เนื่องจากมีสัญญาที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเจ้าของสิทธิบัตรในการผลิตวัคซีนมายังโรงงานผลิตวัคซีนในไทย นอกจากนี้เรายังมีความพยายามติดต่อบริษัทวัคซีนและทีมวิจัยวัคซีนบางทีมในการขอสิทธิ์ผลิตวัคซีน ส่วนสุดท้ายคือการเตรียมการขอจัดซื้อวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาประกาศว่า หากวัคซีนตัวใดป้องกันโรคได้ร้อยละ 50 ในระยะ 6 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว ยินดีจะขึ้นทะเบียนให้ เราจึงต้องจับตาดูการวิจัยวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัคซีนที่เข้าระยะที่ 3 เริ่มต้นเดือน มิ.ย., ก.ค.และ ส.ค. ฉะนั้นโอกาสที่เราจะได้ผลการวิจัยในช่วง 6 เดือนแรกน่าจะอยู่ที่ไตรมาสแรกช่วง ม.ค., ก.พ., มี.ค.ปีหน้า และต้องรอกระบวนการขึ้นทะเบียนและการผลิตต่อไป ฉะนั้นโอกาสที่เราจะได้วัคซีนจะเป็นช่วงกลางปี ซึ่งขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการผลิตวัคซีนบริษัทต่างๆ ด้วย และประเทศไทยจะได้รับวัคซีนมาคงใช้เวลาสักนิดหนึ่ง
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษาว่า ได้ใช้มาตรการ 1 บวก 5 โดย 1 คือมาตรการหลักผ่อนคลายพื้นที่มากขึ้น และ 5 คือมาตรการการคัดกรอง การสวมหน้ากาก การล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดห้องเรียน และลดความแออัด ส่วนการดำเนินการต่อไปจะร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในเรื่องการแบ่งสีเพื่อกำหนดมาตรการ คือ สีขาว เขียว เหลือง ส้ม และแดง เพื่อดูว่าหากเกิดสถานการณ์ตามสีไหนจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจกับผู้ปกครอง ว่าหากเกิดการระบาดเราจะมีวิธีการบริหารจัดการได้แน่นอน ไม่ให้เกิดเป็นวงกว้าง
เมื่อถามว่า หากมีการระบาดเกิดขึ้นในชั้นเรียน สธ.และ ศธ.มีแนวทางปฏิบัติอย่างไร นพ.อรรถพล กล่าวว่า เรามีแบบฟอร์มในการติดตามนักเรียนและผู้ใกล้ชิดเพื่อดำเนินการคัดกรอง หากเกิดเหตุการณ์อาจพิจารณาปิดห้องเรียน แต่หากนักเรียนมีจำนวนที่เยอะขึ้นก็อาจพิจารณาปิดโรงเรียน ขึ้นอยู่กับปริมาณการติดและบุคคลโดยรอบที่ตามตัวมา
ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เราได้มีการหารือในที่ประชุม ศบค.ในแนวทางเตรียมความพร้อมสถานที่กักกันในรูปแบบเฉพาะองค์กร เพื่อให้สถานศึกษารองรับเด็กในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศที่ยังไม่ได้ถือครองสัญชาติไทย หรือเด็กจี ที่จะเข้ามาเรียนร่วมกับเด็กอื่นๆ จะต้องกักตัว 14 วัน เพื่อให้เด็กทุกคนมีความปลอดภัย รวมทั้งจะมีตารางประสานสอดคล้องสีต่างๆ ซึ่งหากมีการประกาศว่าสีของประเทศเป็นสีอะไร หรือสีของจังหวัดเป็นสีอะไร เราพร้อมดำเนินการได้ทันที
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า วันที่ 18 ส.ค.จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติให้ไทยได้หารือและร่วมลงทุนกับนานาชาติในการผลิตวัคซีนโควิด-19 มีงบสำหรับการสนับสนุนเรื่องนี้ประมาณ 600 ล้านบาท จากงบที่ได้รับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนทั้งหมด 3 พันล้านบาท น่าจะเป็นในส่วนของงบกลางเพราะเรื่องนี้เร่งด่วน ต้องรีบคุยให้ได้บทสรุป หากตกลงกันได้ เมื่อทีมต่างประเทศสามารถผลิตได้แล้ว เราจะมีสิทธิ์ในการเข้าถึงสูตรและนำมาผลิตในไทยได้ ถ้าช้าแล้วทีมผู้ผลิตไปคุยกับทางอื่นไว้แล้ว จนเราเข้าไปมีส่วนร่วมไม่ได้ ประเทศไทยจะเสียโอกาส
ที่อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ" และการแสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนการศึกษาไทยว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเมื่อมีโควิด-19 ก็กระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว ดังนั้นเราต้องเพิ่มการบริโภคในประเทศ เพิ่มสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โควิด-19 ว่าร้ายแล้ว ต่อจากนี้ไปจะร้ายกว่านี้อีก ฉะนั้นทุกคนต้องเข้าใจให้ดีว่า จะทำอย่างไรให้สังคมช่วยกันลดผลกระทบอันจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอีกหลายด้าน หลังโควิด-19 แล้ว ปีหน้ายังไม่รู้ว่าวัคซีนจะออกมาได้จริงหรือไม่ เมื่อออกมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นอีก เพราะไวรัสมันก็พัฒนาตัวเอง ทุก 5 ปี 10 ปีมันก็มี หายไปแล้วจะกลับมาใหม่หรือไม่ก็ยังไม่รู้ โลกเป็นอย่างนี้เพราะคนมีจำนวนมากขึ้น วันนี้ความยากจนถ้าไม่รู้จักการใช้จ่าย ไม่คำนึงกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา ไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ไปไม่ได้แน่นอน นี่คือสิ่งที่กังวล
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ มั่นใจว่าการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ "ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ" จะแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ได้อย่างตรงจุดตรงตามสถานการณ์ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ซ้ำซ้อนกับการทำงานของกระทรวงและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ จะมีประชุมนัดแรกในวันที่ 19 ส.ค. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะประเมินแนวโน้มของผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงต่างๆ รวมถึงภาคธุรกิจ เชื่อว่าจะได้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดียิ่งขึ้นในเวลาอันใกล้นี้
ที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการฝึกร่วมในการเตรียมความพร้อมรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ที่อาจมีความเสี่ยงสูงเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ในประเทศ และการแพร่ระบาดจากภายนอกประเทศที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กห.ร่วมกับ สธ.เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นและมีทุกส่วนราชการเข้าร่วมการฝึก โดยดำเนินการฝึกระหว่าง 17-18 ส.ค.นี้
พล.ท.คงชีพกล่าวว่า การฝึกดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบแผนเผชิญเหตุของจังหวัดต่างๆ รวมทั้งแนวทางจัดสรรและบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัด ภายใต้การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดย ศบค. ซึ่งจำลองสถานการณ์มุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงของกลุ่มจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าว จังหวัดที่เป็นช่องทางเข้าออกประเทศ จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยว โดยมี 4 จังหวัดเข้าร่วมการฝึก คือ กทม. พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และชลบุรี และมี 7 จังหวัดเข้าร่วมฝึกในพื้นที่ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ตาก สระแก้ว ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และกระบี่ ในขณะที่อีก 66 จังหวัดร่วมรับทราบผ่านระบบประชุมทางไกล โดยใช้กลไกบริหารงานระดับพื้นที่ผ่านศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งจำลองสถานการณ์และประสานการทำงานร่วมกันในการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีแผนยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |