ฝ่ายค้านยื่นแก้รธน.ก้าวไกลแยกวง


เพิ่มเพื่อน    

 

ฝ่ายค้านยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมขอตั้ง ส.ส.ร.แล้ว แต่ก้าวไกลแยกวงยังไม่ร่วมลงชื่อ อ้างยังมีความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะ "หมวด" ที่ต้องแก้ไข ขณะที่ "คำนูณ" เตือนความจำ หากจะแก้ตามระบบที่มีอยู่ต้องมีเสียง ส.ว.อย่างน้อย 84 คนสนับสนุน

    เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรคและพรรคร่วมตัวแทนฝ่ายค้าน ประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโจรน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ  หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และ น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ร่วมกันยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
    โดยนายสมพงษ์ระบุว่า ฝ่ายค้านได้ประชุมร่วมกันและมีฉันทานุมัติว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องจำนวนมาก  ฉะนั้นจึงเห็นว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า แม้วันนี้จะไม่มีตัวแทนของ ส.ส.พรรคก้าวไกลมายื่น แต่พวกตนได้ประชุมร่วมกันและ ส.ส.พรรคก้าวไกลก็ได้ลงชื่อในญัตติของพวกตนด้วยไม่น้อยกว่า 30 คน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้อาจมีอีกหลายร่างตามมา ซึ่งถ้าหากว่าแนวทางไม่สอดคล้องก็จะไม่ร่วมลงชื่อสนับสนุน  แต่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประชามติของคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพวกตน และอีกไม่นานในเวลาที่เหมาะสมจะยื่นตามอีกครั้งในภายหลัง
    ด้านนายชวนกล่าวว่า ตามระเบียบข้อบังคับเมื่อมีการยื่นญัตติ จะต้องส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความถูกต้อง เพราะการแก้มาตรา 256 อยู่ในหมวดพิเศษ และมีเงื่อนไขหลายข้อ เช่นจะต้องใช้เสียง 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด หรือ 98 คน เป็นต้น เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้วก็จะต้องบรรจุเป็นระเบียบวาระภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ตนจะรีบตรวจสอบโดยเร็ว
    ประธานรัฐสภากล่าวว่า ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลจะรอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน สรุปผลการศึกษาและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน โดยคาดว่าญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลก็น่าจะทันพิจารณาพร้อมกับญัตติของฝ่ายค้าน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วมยื่นร่างด้วย แต่ได้ร่วมลงชื่อในญัตติแล้ว
    นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคไม่ได้ร่วมลงชื่อเพราะยังมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องหมวดรัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ไข โดยขอสงวนความเห็นในเนื้อหาสำคัญบางประการเกี่ยวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันเจตนารมณ์ว่าพรรคยังผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. และยังจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. โดยยกเลิกมาตรา 269-272  ต่อ ซึ่งนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลจะแถลงรายละเอียดในวันที่ 18 ส.ค.นี้
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี? และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ? (พปชร.)? ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ? จะมีการนำประเด็นนี้หารือกันในที่ประชุมพรรค? พปชร.ในวันอังคารที่ 18 ส.ค.นี้หรือไม่ว่า ตนยังไม่ทราบ คงมีสมาชิกเสนอประเด็นนี้เข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารของพรรค
    ผู้สื่อข่าวถามว่า? พปชร.พร้อมแก้ไขไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าก็ต้องพร้อมแก้อยู่แล้ว
    ถามว่า ?การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมประชาชนปลดแอก รองนายกฯ ตอบว่าใช่ๆ เมื่อถามว่ามองภาพรวมการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมาอย่างไร  พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าก็ไม่มีอะไร เราก็ป้องกัน และทำให้เกิดความปลอดภัยกับทุกคนทุกฝ่าย
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ยังไม่ได้มอบหมายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคิดว่าอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่นายกฯ จะมอบหมายให้ใครดู หากมอบหมายให้ตนดูก็อาจจะมีการช่วยกันดูหลายคน ไม่ใช่ให้ตนดูคนเดียว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มอบหมายอะไร? ต้องรอฟังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ซึ่งจะยื่นต่อประธานสภาภายในปลายเดือน ส.ค.นี้
    ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่าเป็นอำนาจของประชาชน หากมาตราที่ไม่สำคัญมากก็สามารถแก้ไขในสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่หากเป็นเรื่องสำคัญก็ต้องฟังเสียงประชาชนทั้งหมดด้วยการทำประชามติ  
    ส่วนการแก้ไขในข้อสำคัญที่ต้องใช้เสียง ส.ว.ด้วย นายพรเพชรกล่าวเพียงว่ายังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น  ส่วนเรื่องที่กระทบต่ออำนาจหน้าที่วุฒิสภาก็ไม่ใช่จะทำไม่ได้ แต่ต้องผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย
    นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ต้องการให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ถึง 272 เพื่อตัด ส.ว. 250 คนออกไปว่า ส.ว.ทุกคนเข้ามาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนก็ต้องรับฟัง แต่ขณะนี้ก็ต้องให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาว่า  ไม่ว่าจะชอบหรือจะชังรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ตามระบบที่มีอยู่ จำเป็นจะต้องมีเสียงของ ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84  คนทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ถ้าจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปอย่างไร จะตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ หรือจะแก้ไขรายประเด็น
    "หรือจะไม่ชอบ ส.ว.อย่างไรก็ตาม หากแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเสียง ส.ว. 84 คน ไม่เช่นนั้นก็มีแค่ 2 วิธีคือ การรัฐประหารอีกครั้ง เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วร่างกันใหม่ หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดการปฏิวัติประชาชนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้ง 2 ทางมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองทั้งสิ้น จึงเห็นควรให้ใช้เวทีรัฐสภาเป็นที่แก้ปัญหา"
    นายคำนูณกล่าวว่า เชื่อว่า ส.ว.ทุกคนพร้อมลงมติตามผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบคอบและรอบด้าน แต่ขณะนี้จะให้แต่ละคนบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังไม่เห็นโจทย์หรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ส.ว.ก็พร้อมติดตามอย่างใกล้ชิด และหากมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ส.ว.ก็พร้อมนำมาศึกษาในคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) และ ส.ว.แต่ละคนก็จะนำมาศึกษาเพื่อตัดสินใจประกอบการลงมติ
    ส.ว.ผู้นี้กล่าวว่า ความคืบหน้าเบื้องต้นจะอยู่ที่สัปดาห์นี้ พรรคฝ่ายค้านยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้า มาและดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาล รวมถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายพีระพันธุ์เป็นประธาน ซึ่งกำหนดจะรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ก.ย. และถ้ามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากพรรคฝ่ายค้านเข้ามา ครม.จะต้องเสนอร่างเข้ามาประกบเพื่อพิจารณาร่วมกันด้วย ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นโจทย์ก็จะชัดเจนมากขึ้นว่ามีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมดกี่ร่าง รวมถึงร่างที่ประชาชนจะนำเสนอเข้ามาด้วย ซึ่งจะได้นำมาศึกษาและตัดสินใจกัน
     นายคำนูณกล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าขณะนี้ ส.ว.ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา ซึ่ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็น กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบของ ส.ว.ถึง 84 คน ซึ่งตนเคยเรียกร้องตั้งแต่ปีที่แล้ว และล่าสุดยังเสนออยู่ว่าสมควรจะมีเวทีให้ตัวแทนของ ส.ว.เข้าไปร่วมหารือด้วย ซึ่งขณะนี้ก็ยังสามารถทำได้ และไม่ใช่เฉพาะแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถทำได้โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ซึ่งก็สุดแท้แต่นายกรัฐมนตรี แต่ ส.ว.ก็ตอบได้เพียงเจตนาที่พร้อมจะให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ แม้จะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสถานภาพของ ส.ว.เอง แต่เชื่อว่า ส.ว.ทุกคนไม่ได้ยึดติดในจุดนี้ เพียงแต่จะให้ตอบชัดเจนตอนนี้ก็ยังไม่สามารถตอบได้  เพราะยังไม่เห็นตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"