7 รอยปริที่ต้องแก้ไข เพื่อสร้างโลกหลังโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

              เมื่อวานผมเขียนถึง “โลกหลังโควิด” ที่ไม่เพียงแต่ต้อง Restart เท่านั้น แต่ยังต้อง Reset ใหม่ในหลายๆ มิติ

                คนไทยต้องมองให้ทะลุว่าเราจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรที่ต้อง “เริ่มใหม่” และอะไรที่ต้อง  “ปรับเปลี่ยนใหม่หมด”

                ผมได้อ่านบทวิเคราะห์ของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในหัวข้อนี้ที่ควรแก่การวิเคราะห์เพิ่มเติม

                ดร.สุวิทย์พูดถึงการสร้าง “โลกอันพึงประสงค์” หลังโควิดที่โยงไปถึงแนวคิด “โลกาภิวัตน์” หรือ Globalisation ซึ่งกำลังถูกท้าทายอย่างมากจากหลยๆ วงการ

                บางตอนของบทวิเคราะห์บอกว่า

                การจะก้าวสู่ “โลกที่พึงประสงค์” นั้น เราควรหันกลับมามองกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน

                ที่เรามักให้ความสำคัญเฉพาะกับสินค้า บริการ และผู้คน แต่กลับไม่ห่วงใยกระแสโลกาภิวัตน์ในมิติของความเสี่ยงและการคุกคาม ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change)

                จนถึงการระบาดใหญ่ระดับโลก (Global Pandemic) ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤติเชิงซ้อน เช่น วิกฤติด้านสุขภาพและวิกฤติเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

                ฉะนั้นหากมองดูรากเหง้าของปัญหาตั้งแต่อดีต จะพบว่าเรามองโลกไปสู่ความทันสมัย (Modernism) มากกว่าที่จะมุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืน (Sustainism) โดยมีฐานคิดแบบ “ตัวกูของกู” ที่สร้างให้เกิดรอยปริ 7 ในระบบ (Systemic Divides)

                • รอยปริที่ 1 ความไร้สมดุลจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เกิดจากการมุ่งเน้นแต่ด้านเศรษฐกิจ นำมาสู่ความไม่สมดุลระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับความอยู่ดีมีสุขทางสังคม ความยั่งยืนของธรรมชาติ และภูมิปัญญามนุษย์ โดยทั้ง 4 เรื่องนี้จำเป็นต้องมีน้ำหนักเท่ากัน

                • รอยปริที่ 2 ภาคเศรษฐกิจการเงิน (Financial Sector) ครอบงำภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector)

                • รอยปริที่ 3 ความต้องการอย่างไม่สิ้นสุดของมนุษย์กับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลก

                • รอยปริที่ 4 ผู้ครอบครองทรัพยากรกับผู้ต้องการใช้ทรัพยากรไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน

                • รอยปริที่ 5 ความเหลื่อมล้ำของรายได้ สินทรัพย์ และโอกาสระหว่าง “คนมีและคนได้” กับ “คนไร้และคนด้อย”

                • รอยปริที่ 6 ดาบสองคมของเทคโนโลยีในการตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ มีคนมากมายที่มีความต้องการ แต่เทคโนโลยียังไม่ตอบโจทย์

                • รอยปริที่ 7 ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างรัฐ เอกชน กับประชาสังคม หากรัฐจับมือกับเอกชน ประชาสังคมจะอ่อนแอ แต่หากรัฐจับมือกับประชาสังคม เอกชนก็จะอ่อนแอ

                รอยปริ 7 ประการที่เกิดขึ้นนำไปสู่ “โลกที่ไร้สมดุล” ซึ่งเป็นความไร้สมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และความไร้สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความไม่ยั่งยืน ทำให้โลกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดจากภัยคุกคาม อย่างวิกฤติโควิด-19 ในตอนนี้

                ย้ำเตือนให้เราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาชุดใหม่ จากการมอง “โลกไปสู่ความทันสมัย” (Modernism) สู่ “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืน” (Sustainism)

                ย้อนกลับมาดูไทยเราเอง มีความพร้อมเพียงใดในอันที่จะปรับเปลี่ยนสังคมเราให้ก้าวเข้าสู่ “ความยั่งยืน” และทันกับความท้าทายที่กำลังจะมาในรูปแบบต่างๆ

                ผมมองว่าเรายังขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน

                โดยเฉพาะเมื่อไม่อาจจะปฏิรูปการศึกษาได้ ความหวังที่จะทำให้ปัจจัยอื่นๆ กระเตื้องขึ้นได้ก็ไร้อนาคต

                เพราะถ้าการศึกษาไม่ถูกยกเครื่องให้รับกับความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่และหนักหน่วงได้ การเมืองของเราก็ดีขึ้นไม่ได้

                อย่างที่คนรุ่นใหม่เขียนเป็นแฮชแท็กว่า #ถ้าการเมืองดี...

                นั่นหมายความว่า หากการเมืองดีมีคุณภาพ เคารพในความเห็นแตกต่าง และทุกคนมีส่วนร่วมในการวางทิศทางของประเทศจริง สิ่งต่างๆ ในสังคมก็จะพลอยดีขึ้นตามไปด้วย

                ดร.สุวิทย์เสนอแนวทาง “7 ขยับปรับเปลี่ยนโลก” ในระดับสากล ที่ควรจะทำให้เรานำมาปรับคำและแก้ไขในสังคมไทยเอง

                พรุ่งนี้เราพิจารณา 7 ประเด็นนี้ครับ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"