ถอดบทเรียนการใช้TikTok


เพิ่มเพื่อน    

 

การเดินทางมาของโควิด-19 ไม่เพียงแต่จะนำมาซึ่งรูปแบบวิถีชีวิตปกติใหม่มาสู่ผู้คนเท่านั้น แต่ในระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าโควิด-19 ได้นำพาเทรนด์ใหม่ๆ ให้ขึ้นทั่วไปในสังคม ตลอดจนโลกธุรกิจที่ต้องเร่งปรับตัวเป็นการใหญ่ หนึ่งในนั้นคือรูปแบบการใช้โซเชียลแพลตฟอร์มใหม่ๆ และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้นที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลกอย่าง TikTok จนหลายธุรกิจเริ่มหันมาจับแพลตฟอร์มนี้ในการทำการตลาดกันมากขึ้น

สำหรับโซดาปริ้นติ้ง (SOdA PrintinG) เป็นหนึ่งในธุรกิจเจ้าแรกๆ ในเมืองไทยมาตั้งแต่ปีสองปีก่อน ทำให้แฮชแท็ก #SOdAPrintinG ใน TikTok มียอดวิวรวมถึงปัจจุบันกว่า 57 ล้านวิว และแฮชแท็ก #SOdAmask ธุรกิจใหม่ของบริษัทมียอดวิวรวมปัจจุบันถึง 1.3 ล้านวิว ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ทำอย่างไรธุรกิจเล็กๆ จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ได้ขนาดนี้? วันนี้จะมาถอดบทเรียนนี้กัน...

ในเรื่องนี้ ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ซีอีโอของโซดาปริ้นติ้ง กล่าวว่า เมื่อสองปีก่อนได้มีการติดต่อธุรกิจที่จีน เห็นคนเล่นแพลตฟอร์มนี้เยอะมาก อินฟลูเอนเซอร์ที่นั่นหลายคนถึงกับมีทีมโปรดักชั่นคอยดูแลคอนเทนต์เลยทีเดียว หลังจากนั้นกลับมาไทยพยายามทำความเข้าใจและศึกษาอย่างจริงจัง ได้ลองเล่นเอง หามุมพลิกว่าจะนำมาใช้กับธุรกิจเราอย่างไร ปรากฏว่าเริ่มมีคนไทยเล่นอยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสินค้าของบริษัท

แต่ทว่าการจะให้แบรนด์ลงไปทำคอนเทนต์เอง ก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะคอนเทนต์ที่ออกมาอาจจะไม่ได้น่าสนใจเท่ากับคอนเทนต์ที่ทำขึ้นโดยคนธรรมดาๆ หรืออินฟลูเอนเซอร์ จึงเปลี่ยนมุมมองจากที่เคยมองว่าแบรนด์ต้องทำคอนเทนต์เอง ให้เป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนอื่นอยากมาทำคอนเทนต์ให้กับแบรนด์ นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้ใช้ TikTok นั้น จะใช้วิธีการเสิร์ชหากระแสต่างๆ จากแฮชแท็กเป็นหลักอีกด้วย

แน่นอนว่าหากใครที่เล่น TikTok จนเริ่มคุ้นชิน จะพบว่านอกเหนือจากคำพูดตลกๆ ที่ผู้ใช้พร้อมใจกันมาโคฟเวอร์หรือลิปซิงก์ เพลงก็เป็นอีกส่วนผสมสำคัญที่เรียกยอดวิวให้กับผู้เล่นได้ไม่น้อย แต่ด้วยความอัจฉริยะของ TikTok ที่สามารถคัดกรองได้ว่าเพลงใดบ้างที่ติดลิขสิทธิ์ ไม่สามารถใช้ได้ บางคลิปที่โพสต์ลงไปก็จะถูกดูดเสียงจนเงียบหายไป เหลือแต่ภาพเคลื่อนไหวให้ดู

รายได้จากธุรกิจปรินต์รูปของแบรนด์หายไปค่อนข้างเยอะในช่วงที่โควิด-19 เริ่มต้น แต่ด้วยเครื่องพิมพ์และแรงงานที่มีอยู่ บวกกับฐานลูกค้าเดิมของที่เป็นวัยรุ่น ก็เลยมองหา Pain points ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา เพื่อจะคิดให้แบรนด์ยังสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ เริ่มแรกออกแบบแมสก์ผ้ามาทั้งหมด 40 ลาย ขายผ่านตัวแทนจำหน่ายและช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ปรับเปลี่ยนรูปแบบแมสก์อยู่หลายครั้งจนได้แบบที่ลงตัวที่สุด คือ ใส่แล้วสวย เข้ากับรูปหน้าทำให้ใบหน้าดูเรียว มีลวดลายให้เลือกแมตช์กับเสื้อผ้าได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังผลิตจากผ้าคุณภาพ เบา ใส่สบาย หายใจสะดวก ไม่เจ็บหู และไม่ทำให้เครื่องสำอางเลอะ

แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร? จะพบว่าหลังจากที่วางจำหน่าย และเชิญชวนให้ลูกค้ารีวิว ผลตอบรับก็ดีมาก มียอดวิวคลิปที่ติดแฮชแท็ก #SOdAmask พุ่งถึง 1.3 ล้านวิว ในเวลาเพียง 3 เดือน เป็นจังหวะเวลาที่ TikTok กลายมาเป็นกระแสช่วงโควิด-19 ในเมืองไทยพอดี ซึ่งต้องบอกว่าหัวใจหลักของความสำเร็จครั้งนี้อยู่ที่การผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าเดิมที่เรามีอยู่ เป็นแมสก์ที่ทำให้วัยรุ่นรู้สึกสนุกที่ได้สวมใส่ แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างมีสไตล์

ต้องยอมรับว่า TikTok เป็นอีกแพลตฟอร์มดาวรุ่งในยุคนิวนอร์มอล ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วผู้ใช้งานจะเสิร์ชคลิปจากแฮชแท็ก และมีพฤติกรรมที่เน้นการติดตามผู้ใช้คนอื่นๆ มากกว่าจะติดตามแบรนด์สินค้า ดังนั้นการจะได้ใจมหาชนชาว TikTok นั้น ต้องทำการบ้านตั้งแต่เรื่องของสินค้า ที่นอกจากจะมีคุณสมบัติที่พิเศษแล้ว ความสวยงามน่าแชร์ ก็เป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม ต้องวางกลยุทธ์ที่จะสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าหันมาหยิบสินค้าไปสร้างคอนเทนต์ได้สนุกๆ แบบไม่ต้องฮาร์ดเซลล์ สร้างช่องทางการสร้างรายได้ให้กับลูกค้าเพื่อต่อยอดธุรกิจ มีแฮชแท็กที่สามารถสื่อถึงแบรนด์หรือสินค้าได้ง่าย และการใช้มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง เพื่อให้เกิดการจดจำในระยะยาว ก็เป็นอีกแนวทางที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับแพลตฟอร์มนี้.

 

รุ่งนภา  สารพิน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"