วันที่ 17 ส.ค.- นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่พะยูน“น้องมาเรียม” ได้จากพวกเราไป ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พวกเรา
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ผลักดัน #มาเรียมโปรเจคท์ เป็นมาสเตอร์แพลน เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายต่างๆ ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากโครงการ Everyday Say No To Plastic Bags รณรงค์ยกเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วเพื่อลดขยะพลาสติกจากต้นทาง ลดขยะทะเลที่เป็นตัวการทำร้ายชีวิตสัตว์ทะเลแล้ว เรายังจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) ขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการอนุรักษ์และคุ้มครองพะยูน รวมถึงถิ่นที่อยู่ การสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนพะยูนจาก 250 ตัวเป็น 280 ตัว ภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เริ่มได้ที่พวกเราทุกคน ไม่แค่เฉพาะพี่น้องที่อาศัยใน 24 จังหวัดชายฝั่งทะเลเท่านั้น ที่จะสามารถช่วยชีวิตพะยูนไทยได้ แต่พี่น้องจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือ แค่ช่วยกันปรับวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างขยะพลาสติกให้น้อยลงในแต่ละวัน ก็ช่วยลดอัตราการสร้างขยะทะเล ลดอัตราเสี่ยงที่สัตว์ทะเลทั้งหลายจะต้องตายไปจากการกินขยะพลาสติกได้มาก
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ที่พบมาเรียมลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่เกยตื้นที่ จ.กระบี่ และถูกนำมาเลี้ยงในพื้นที่ธรรมชาติ เกาะลิบง จ.ตรัง ได้กลายเป็นขวัญใจชาวโซเชียล จนเกิดเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วประเทศ ทำให้หลายภาคส่วนหันมาใส่ใจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในไทยมากยิ่งขึ้น ในสมัยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงพื้นที่เพื่อเฝ้าติดตามอาการน้องมาเรียมอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้ผลักดันให้เกิดแผนพะยูนแห่งชาติขึ้น โดยได้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อเพิ่มประชากรของพะยูนในประเทศไทย ดูแลพื้นที่อาศัยของพะยูน การจัดการท่องเที่ยว ประมง เพื่อลดการรบกวนพะยูน พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิต การสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์ทะเลหายากและศูนย์เรียนรู้ฯและการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์พะยูน
" ผมได้เน้นย้ำให้ประมงชายฝั่ง ผู้ประกอบการเดินเรือ และประชาชน ช่วยกันสอดส่องและเป็นหูเป็นตา ดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก หากพบเจอสัตว์ทะเลเหล่านี้เกยตื้น หรือพบการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ให้รีบแจ้งมายังหน่วยงานภายในพื้นที่สังกัดของกรม ทช. ทันที และขอฝากทุกคนช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก อีกทั้งทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง เพื่อลดปริมาณขยะจากต้นทางไหลลงสู่ทะเล และลดมลพิษที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย "นายโสภณ กล่าว