เห็น "แจ็ก หม่า" มาที่ทำเนียบฯ ก็ตกใจ......
นึกว่า "ทักษิณ" ซะอีก!
เมื้อน..เหมือน วรรคทองก็ยังเหมือนกันอีก
ทักษิณบอก "ผมรวยแล้วไม่โกง"
เมื่อวาน (๑๙ เม.ย.๖๑) "แจ็ก หม่า" บอกนายกฯ ประยุทธ์
".....ผมมีเพียงพอแล้ว หวังจะมาช่วยผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย"!
ที่ต่างกันยังกะฟ้ากับเหว เห็นจะเป็นตรงที่
คนที่บอกรวยแล้วไม่โกง...โกงฉิบหาย
ส่วนคนที่บอกมีเพียงพอแล้ว...ยังไม่ปรากฏข่าวว่า ไปที่ไหน แล้วโกย ชนิด "กูรวยคนเดียว"!
สมมุติ "แจ็ก หม่า" ภายใต้แบรนด์ "อาลีบาบา" มาลงทุนในไทยตาม MOU จริง
ใครเป็นเจ้าแรกที่จะรวยก่อนเพื่อน รู้มั้ย?
AIS-TRUE นั่นไง!
"เศรษฐกิจดิจิทัล" ของ แจ็ก หม่า หัวใจอยู่ที่ "โทรคมนาคม"
จะขายปลาร้า-ขายทุเรียน "ออนไลน์" ไปทั่วโลก.........
จะลงทุนอะไร ทุกโครงการในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
"เอไอเอส-ทรู" ๒ เจ้านี้ เป็นฐานหลัก ที่ขาดไม่ได้!
แต่เมื่อวันอังคาร หลังประชุม ครม. "ท่านรองฯ วิษณุ เครืองาม" บอกนักข่าว ถึงเรื่องที่ "ทรู-เอไอเอส" ขอให้รัฐบาลอุ้ม
ยืดค่างวดสุดท้ายคลื่น ๙๐๐ รวมกว่า ๑๒๐,๐๐๐ ล้าน ออกไป ๕ ปี
โดยผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ รวม ๕ งวด ให้ดอกเบี้ยร้อยละ ๑.๕
อ้างว่า ประมูลครั้งที่แล้ว ราคาสูงผิดปกติ
ถ้าไม่อุ้ม.........
ประมูลครั้งต่อไป ก็ไม่แน่จะมีใครเข้าประมูล นัยว่าไม่มีเงินหมุน และไม่มีสถาบันการเงินไหนปล่อยกู้เพิ่มอีกแล้วนั้น
เท่าที่สังเกต คสช.คงใจริกๆ "อยากอุ้ม" แต่ไม่กล้าสวนกระแส จึงรีๆ รอๆ โดยรองฯ วิษณุ เคาะหน้าไพ่ว่า
"ขณะนี้ ยังไม่ทราบจะช่วยเหลืออย่างไร ต้องเสนอ คสช.พิจารณาก่อน
ในที่ประชุมเมื่อวาน (๑๗ เม.ย.) ตัวแทนทั้ง ๒ บริษัทได้ชี้แจงโดยอธิบายให้เห็นภาพตัวเลขที่เห็นว่า "มีกำไร" นั้น
มีที่มาจากผลประกอบการส่วนใดบ้าง?
ซึ่งทั้ง เอไอเอส-ทรู มีกิจการในเครือกว่า ๕๐ รายการ ตัวเลขรายได้ จึงรวมมาจากทั้งหมด
ที่บอกว่า "มีกำไร" เขาชี้แจงว่า "มีกำไรจากเรื่องอื่น"
ส่วนรายได้จากโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต "ยังขาดทุน" เพราะประมูลมาแพง
และศุกร์ ๒๐ เมษา.คือวันนี้ รองฯ วิษณุบอก
"จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารืออีกครั้ง และจะรายงานให้ คสช.ทราบในวันจันทร์ที่ ๒๓ เมษา. ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อใดขึ้นอยู่กับ คสช.”
หมายความว่า คสช.ยังไม่ละความพยายาม.....
จ้องจะใช้ความเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร อุ้มเอไอเอส ค่ายเทมาเส็ก+ชินคอร์ป
และทรู ค่ายเจริญโภคภัณฑ์+ไชน่าโมบาย อยู่อย่างมุ่งมั่นภักดี!
๒ ค่ายอ้าง ตัวเลขกำไรที่เห็น มาจากกิจการอื่นในเครือ
ส่วนรายได้โทรศัพท์-อินเทอร์เน็ต คือจากคลื่นที่ประมูลมาแพง
"ยังขาดทุน"
อืมมม....ตัวผม ถือว่า "ด้าน" ต้นแบบแห่งยุคแล้ว ไม่น่าเชื่อ ยังมี "ด้าน" กว่าอีก!
ตัวพ่อ-ตัวแม่ขาดทุน แต่ตัวลูกกำไร.........
ถามว่า...ไอ้ตัวลูกที่กำไรนั้นน่ะ เป็นธุรกิจไขว้เขวทางบัญชีของตัวพ่อ-ตัวแม่มันเองใช่หรือไม่?
ไม่น่าเชื่อ.........
ระดับบริษัท "มหาชน" ยังด้านอ้างเช่นนี้ได้ เป็นควายเอง หรือเห็นคนทั้งประเทศ ก็ไม่แน่ใจ?
อ้างประมูลมาแพง ทำให้ขาดทุน
ประมูล คืออะไร?
คือการที่ผู้ประกอบการ บวก, ลบ, คูณ, หาร บนฐาน "ดีมานด์-ซัพพลาย" ของธุรกิจนั้น
เมื่อได้ตัวเลข "ต้นทุน-ดอกเบี้ย-กำไร" ออกมา บนเทอมเวลาสัมปทานแล้ว
มั่นใจว่า "เท่านั้น-เท่านี้" กำไรหรือขาดทุนแล้ว จึงใส่ตัวเลขประมูล เพื่อเอาโครงการนั้น
ตัวเลขในการประมูลคือ "ส่วนแบ่งกำไร" ให้เจ้าของสัมปทานคือรัฐบ้างเท่านั้น
ฉะนั้น ราคาประมูล คือราคา "เป็นธรรม-พอใจ" ของทั้งสองฝ่าย ไม่มีคำว่า "ถูก-แพง"
ใครที่ประมูลได้ อ้างทีหลังว่า "แพง" เกี่ยงงอนจะเอาอย่างนั้น-อย่างนี้อีก
เขาเรียก "ไอ้พวกน่ารังเกียจ"!
จะย้อนความ เพื่อ "ช่วยจำ" สักเล็กน้อย ว่า.........
มีเหตุอันควรอ้าง "ขาดทุน-ประมูลแพง" เพื่อให้ คสช.ใช้ ม.๔๔ อุ้มทรู-เอไอเอส ได้หรือไม่ ดังนี้
๑๑ พ.ย.๕๘ ประมูลคลื่น 1800 MHz ๒ บริษัทได้ไป คือ
บ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส
กับ บ.ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ใบอนุญาต 1800 MHz นี้ มีกำหนด ๑๘ ปี......
ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ - ๑๕ กันยายน ๒๕๗๖!
ภายใต้เงื่อนไขสัญญาคร่าวๆ ว่า
".........ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากร ๔๐% ภายใน ๔ ปี และเพิ่มเป็น ๕๐% ภายใน ๘ ปี"
"นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์" ประธานเจ้าหน้าที่ AIS แถลง หลังรับมอบใบอนุญาตจาก "พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี" ประธาน กสทช. เมื่อ ๒๕ พ.ย.๕๘ ตอนหนึ่ง ว่า
"..........บริษัทได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เสา 3G กว่า ๒๕,๐๐๐ จุด และไฟเบอร์ออปติกกว่า ๑๒๐,๐๐๐ กิโลเมตร ไปแล้ว ตั้งแต่ตอนคลื่น 2100 MHz ทำให้ครั้งนี้ จะลงทุนไม่มาก......"
เห็นมั้ย....!
ที่ใส่ไป ๔ หมื่นกว่าล้าน ได้มานั้น ดีดลูกคิดแล้ว ลงทุนเพิ่มอีก "นิดเดียว" ใน ๒-๓ ปีแรก
ด้วยสัมปทาน ๑๘ ปี ต่อจากนั้น กำไรล้วนๆ ชนิดที่ต้องเรียกว่า "โคตรกำไร"
และนี่ เพิ่งผ่านไป ๒ ปีนิดๆ ถามหน่อยว่า ขยายโครงข่ายครอบคลุมประชากร ๔๐% ตามสัญญาหรือยัง?
ใครก็ตาม ถ้าต้องการทำธุรกิจที่ลงทุนปุ๊บ-กำไรปั๊บ จะแนะให้ มีอยู่ ๒-๓ อย่าง
๑.ค้ายาบ้า
๒.ค้ากล้ายาง และ
๓.เป็นนักการเมืองเข้าไป "โกงแล้วแบ่งกัน"!
ส่วนธุรกิจอื่น แม้กระทั่งแซะขนมครกขาย ก็ไม่รวยปุ๊บปั๊บ แล้วนี่ ทำธุรกิจขายคลื่น การขยายเครือข่ายครบหรือยังก็ไม่รู้
แค่ปี-สองปี ร้องแล้ว........
ขาดทุน-ประมูลแพง-อุ้มหน่อย!
ไม่คิดถึงระยะลงทุนขั้นต้นเลยหรือ ทำปุ๊บจะเอากำไรปั๊บ สมมุติอุ้มวันนี้
อีกไม่เกิน ๒ ปี ธุรกิจโทรคมนาคมที่ประมูลมาก็คุ้มทุน เวลาสัมปทานที่เหลืออีก ๑๐ กว่าปี.........
แตกเป็นวินาทีที่ทรู-เอไอเอส ขายประชาชนแล้ว จะกี่ล้านล้านล้านวินาที ก็ไม่ทราบ
แต่นั่น คือวินาทีเงิน "ส่วนกำไร" ที่ไหลไม่มีวันหยุด!
แล้วจะร้องบอกรัฐ ว่า........
"โอย...โอย เงินจะทับพวกผมตายแล้ว ขอให้รัฐมาเอากำไรคืนไปบ้างเถอะ"
อย่างนี้ จะมีเหมือนที่ร้องให้รัฐอุ้มตอนนี้บ้างมั้ยล่ะ?
ทีนี้มาดูต่อในคลื่น ๙๐๐ ที่อ้างแพง ยังขาดทุน ไม่มีเงินเข้าประมูลต่ออะไรนั่นบ้าง
ก็อย่างที่ทราบ ประมูลครั้งแรก ทรูกับแจ๊ส ได้ไป แต่แจ๊ส "ได้แล้วทิ้ง" จนต้องเปิดประมูลรอบใหม่
ก็ประมูลเป็นพิธีไปงั้นเอง เพราะมี AIS เจ้าเดียวเข้าประมูล เมื่อ ๒๗ พ.ค.๕๙
ได้คลื่น 900 MHz ชุดที่ ๑ ไป ด้วยราคาตั้งต้น ที่ ๗๕,๖๕๔ ล้านบาท
ก็ดูกันนะ...
กสทช.เอาปืนจ่อหัวให้ประมูลด้วยตัวเลขนั้น หรือเป็นตัวเลขประมูลกลั่นออกมาจากวิสัยทัศน์ "นักธุรกิจระดับเซียน" ของค่ายเอไอเอส?
"นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์" บิ๊ก AIS อีกนั่นแหละ แถลงการณ์ทันที หลังได้คลื่น ๙๐๐ ตอนหนึ่งว่า.......
"...........การเข้าประมูลคลื่น 900 MHz ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วในทุกด้าน ทั้งในเรื่องผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งบริษัทได้จ้างที่ปรึกษามาพิจารณา และผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการบริหารของบริษัทแล้ว
.............................
เนื่องจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายนั้น นับเป็นอนาคตของการก้าวไปข้างหน้าทั้งในส่วนของบริษัทและประเทศ
การได้มาซึ่งคลื่น 900 MHz ของเอไอเอส จึงเป็นการต่อยอดความแข็งแกร่งของเครือข่ายไร้สายของเอไอเอส.........
โดยคลื่นความถี่ 900 MHz จะช่วยให้การพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ..............
ทั้งในแง่การขยายความครอบคลุมและการขยายปริมาณการรองรับการใช้งาน
เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่ต่ำ ที่สามารถกระจายสัญญาณได้อย่างกว้างไกล
เมื่อผนวกเข้ากับคลื่นความถี่ 2100 MHz และ 1800 MHz ที่มีอยู่
จะยิ่งทำให้เอไอเอส เป็นเครือข่ายที่แข็งแรง มีคุณภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกค้าอย่างยิ่ง”
แค่คำแถลงเหตุผลที่ใส่เงิน ๗ หมื่นกว่าล้านของ AIS แลกคลื่น ๙๐๐ ด้วยอายุสัมปทาน ๑๕ ปี ตรงที่ว่า
"พิจารณารอบคอบแล้วในทุกด้าน ทั้งในเรื่องผลตอบแทนทางการเงิน"
คสช.คงไม่ต้องห่วงหาอาทรที่ต้องอุ้มแล้ว!
ยิ่งฟังในแถลงการณ์ อันเต็มไปด้วยความมั่นใจ ฮึกเหิมในศักยภาพ
เมื่อได้คลื่น ๙๐๐ ผนวกคลื่น 2100 MHz และ 1800 MHz ที่มีอยู่
๑๘ ปีในคลื่น ๑๘๐๐ และ ๑๕ ปี ในคลื่น ๙๐๐
ลงทุนซัก ๓-๕ ปี เหลือจากนั้น ๒ ค่าย กำไร+กำไร+กำไร
ฤาออเจ้า........
จะอุ้มไป "ตั้งพรรค" ก็...เอา?.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |