17ส.ค.63- สอศ. เสนอของบฯ 1.9 พันล้าน หนุนโครงการ ปวส.เรียนฟรี ยกเหตุผลเป็นกำลังแรงงานหลักผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ชี้เด็กส่วนใหญ่ที่มาเรียนฐานะยากจน ถ้าแจ้งเกิดโครงการจะช่วยเหลือได้ถึง 4 แสนครอบครัว
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า ภาพรวมของการรับนักศึกษาอาชีวศึกษา ปีการศึกษา 2563 นี้ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มีผู้เรียนเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษาที่ผ่านมาประมาณ ร้อยละ 10 ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายหลักที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตั้งไว้ แม้จะไม่ได้เต็มที่ เนื่องจากติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยสาขาที่ได้รับความนิยมมีผู้สมัครเข้าศึกษาจำนวนมาก ได้แก่ สาขากลุ่มเครื่องยนต์ สาขาไฟฟ้า และสาขาเกษตรกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ตนมองว่าสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้จำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดสาขาวิชาใหม่ ๆ ที่เป็นความสนใจจากสังคม อีกทั้งขณะนี้ สอศ.ได้เตรียมที่จะผลักดันให้มีการงดเก็บค่าเล่าเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ถือเป็นกำลังหลักที่เป็นแรงงานของประเทศ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กยากจน ซึ่ง สอศ.ได้เริ่มดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 โดยได้เสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการ จำนวน 1,900 ล้านบาท ทั้งนี้ตนมองว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้ถึง 400,000 ครอบครัว
นายณรงค์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สอศ.ยังได้ขับเคลื่อนโครงการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) ตามนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่ต้องให้มีศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา สำหรับธุรกิจต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับแต่ละบริบทของแต่ละภูมิภาคนั้น ขณะนี้วิทยาลัยอาชีวศึกษาแต่ละแห่งของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีการกำหนดสาขาวิชาที่มีความโดดเด่นของแต่ละวิทยาลัยแล้ว แต่ในส่วนของสาขาอื่นๆ ที่เป็นความต้องการของสังคมในพื้นที่นั้นๆ วิทยาลัยก็ยังคงเปิดการเรียนการสอนอยู่ เพื่อที่จะดึงให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียน เพียงแต่ให้วิทยาลัยยกระดับสาขาที่มีความโดดเด่นชัดเจนของตัวเองขึ้นมา 1 สาขา เท่านั้น โดยดูจากความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ หรือความถนัดเฉพาะด้านของแต่ละวิทยาลัย ทั้งนี้ สอศ.จะมุ่งส่งเสริมอย่างเต็มที่ และในระยะยาวเชื่อว่าวิทยาลัยจะสามารถผลิตวิชาชีพเฉพาะทางในด้านนั้นๆ ได้
//////////////////////////////////////////////