โพลชี้ประชาชนหวัง ครม.ประยุทธ์ 2/2 แก้ปากท้องดีขึ้น เน้นสร้างงาน-ดันราคาสินค้าเกษตร-กระตุ้นบริโภค "สุชาติ" โต้ฝ่ายค้าน ตกงาน 8 ล้านคนไร้ข้อมูลอ้างอิง แจงยิบรัฐบาลออกมาตรการเพียบช่วยเต็มที่ จ่อเปิดอัตราจ้าง 9 หมื่นตำแหน่งรองรับ
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ระดมสมองแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” กลุ่มตัวอย่าง 1,109 คน สำรวจระหว่างวันที่ 10-14 สิงหาคม 2563 ผลสำรวจที่สำคัญ พบว่า ในระดับครัวเรือน ประชาชนอยากให้เน้นสร้างงานสร้างอาชีพมากที่สุด ร้อยละ 85.75 ในระดับชุมชน/ท้องถิ่น อยากให้ช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตร ร้อยละ 72.14 และในระดับประเทศ อยากให้เน้นส่งเสริมภาคการเกษตร ร้อยละ 76.19 โดยเรื่องที่ควรทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ วันนี้คือ เน้นกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ร้อยละ 75.20 ทั้งนี้ประชาชนเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานควรเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด ร้อยละ 77.36 รองลงมาคือ รัฐบาล ร้อยละ 70.83 และเอกชน ร้อยละ 70.11
หลังจากประเทศไทยเผชิญภาวการณ์เศรษฐกิจถดถอยมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามากระทบซ้ำ จึงก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่า ประชาชนอยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก่อน ต้องสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพื่อให้มีกำลังในการอุปโภคบริโภคให้มากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้มีการปรับทัพ ครม.ใหม่ มีทีมเศรษฐกิจใหม่ ประชาชนก็ยิ่งคาดหวังว่ารัฐบาลรวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนให้ดีขึ้นได้ ซึ่งในวันนี้ประชาชนได้สะท้อนความคิดเห็นวิธีการแก้ปัญหาในมุมมองของประชาชนแล้ว ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะรับลูกดำเนินการอย่างไรต่อไป
ดร.ศิริ ชะระอ่ำ ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์และการวิเคราะห์ประเมินสมัยใหม่ กล่าวว่า เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ผลการสำรวจข้างต้นของสวนดุสิตโพล สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของธนาคารโลก (World Bank) ที่ระบุถึงมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับประเทศไทย สามด้าน คือ หนึ่ง การมุ่งเน้นการสร้างงานภายในประเทศ ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจ
สอง การเยียวยาและประคองเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยการพัฒนาทักษะของกำลังแรงงาน พัฒนาผลิตภาพทางการผลิตของภาคเกษตร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มล่าง และสาม การสร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและทรัพยากร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของภาคการ เกษตรและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ทั้งนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มิใช่ก้าวกระโดด เพราะยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเช่นกัน
วันเดียวกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงงานเสวนา “ฝ่ายค้านฟัง กลุ่มเปราะบางจากวิกฤติโควิด” เวทีที่ 1 ความเดือดร้อนแรงงานในและนอกระบบจากวิกฤติโควิด-19 ที่กลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ต้องขอขอบคุณนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านฯ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และสมาชิกฝ่ายค้าน ซึ่งข้อเสนอต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ทางกระทรวงแรงงานพร้อมรับและรับไปดำเนินการทันที อย่างไรก็ตามปัญหาคนว่างงานเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความห่วงใยเป็นอย่างมาก และที่ผ่านมาได้เร่งรัดแก้ไขตามกลไกต่างๆ ของกระทรวง
ทั้งนี้ ตัวเลขคนตกงานที่มากถึง 8 ล้านคน ขอชี้แจงว่าตัวเลขดังกล่าวไม่มีหลักฐานอ้างอิง ในฐานะ รมว.แรงงานจำเป็นที่ต้องยึดถือตัวเลขจากระบบ เพราะจากข้อมูลแรงงานที่อยู่ในระบบผู้ประกันตนตามมาตรา 33-39-40 มีประมาณ 16.3 ล้านคน และช่วงโควิด-19 ผู้ที่ประกันตนในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมได้รับชดเชยเงินจากการว่างงานจริงๆ จำนวน 714,268 คน วงเงิน 17,224 ล้านบาท รวมทั้งในช่วงเดือน มี.ค.-ก.ค. ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กิจการที่เป็นที่สุ่มเสี่ยงปิดชั่วคราว ทางประกันสังคมก็จ่ายชดเชย 62% จำนวน 90 วัน เป็นจำนวนกว่า 9 แสนคน และบัดนี้สถานประกอบการต่างๆ กลับมาเปิดกิจการได้เป็นปกติแล้ว
ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านระบุรัฐบาลดูแลผู้ใช้แรงงานไม่ทั่วถึงและขาดมาตรการช่วยหางานใหม่นั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการผ่านกระทรวงต่างๆ ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ อาทิ โครงการจ้างงานของรัฐ ที่มีการจ้างแล้ว 209,930 คน จากเป้าหมาย 410,415 คน โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน เตรียมใช้งบประมาณปี 64 จ้างงานเพิ่มอีก 5,000 คน และได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีงานทำ โดยจะเข้าไปเร่งรัดให้มีการปล่อยสินเชื่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
รวมทั้งจะผลักดันศูนย์การงานแห่งชาติ ที่ตัวเองเป็นประธานนั่งกำกับด้วยตัวเอง เพื่อจัดหาตลาดงาน และจับคู่ตำแหน่งต่างๆ ที่เหมาะสมให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานจัดหางานทุกจังหวัดดำเนินภารกิจนี้อย่างเร่งด่วน และผลักดันเรื่องดิจิทัลแพลตฟอร์มแบบ One-stop platform “ไทยมีงานทํา” ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อรองรับแรงงาน 400,000 ตำแหน่ง อีกทั้งยังเป็นช่องทางยกระดับปรับทักษะให้แรงงานเพื่อเข้าสู่อาชีพที่ประชาชนสนใจ คาดว่าจะเปิดให้บริหารสิ้นเดือน ส.ค.นี้ รวมทั้งเปิดตลาดในต่างประเทศโดยได้นัดหมายพูดคุยกับสมาคมส่งคนงานไปต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาที่ติดขัดต่างๆ
รมว.แรงงานเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างไว้รองรับผู้ว่างงานแล้ว 91,444 อัตรา แบ่งเป็นการเปิดตลาดในต่างประเทศที่พบว่ายังมีตำแหน่งงานที่ยังว่างอยู่ จำนวน 49,077 อัตรา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอิสราเอล ซึ่งกระทรวงแรงงานจะประสานงานใกล้ชิดกับอีกหลายประเทศ เพื่อส่งคนไทยไปทำงานในอาชีพใหม่ๆ ได้ทันทีหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และตำแหน่งงานในประเทศ ทั้งในภาคเอกชน จากระบบ Smart Job ที่เป็นงานประจำ และงาน part-time รวมทั้งตำแหน่งงานว่างในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา มีตำแหน่งงานว่างจำนวน 42,367 อัตรา โดยทางรัฐบาลจะเร่งวางแนวทางและดำเนินมาตรการให้ครอบคลุมและให้ได้ผลดีที่สุดกับพี่น้องภาคแรงงานทุกกลุ่ม ให้ได้กลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานให้ได้มากที่สุด
“รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชน และเร่งสร้างงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงานมาอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนเป็นการถอดเครื่องช่วยหายใจในห้องไอซียู เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาให้หายขาด ดังนั้นข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำเสนอต้องขอบคุณมากๆ แต่อาจเป็นด้านเดียวที่ยังไม่ครบถ้วน ทั้งที่เหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ ซึ่งผมยินดีเข้าไปรับฟังเพื่อช่วยกันทำงานแบบสร้างสรรค์เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองด้วยกัน และพร้อมแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกัน” นายสุชาติระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |