สภาสูงขวางแก้รธน.มาตรา256


เพิ่มเพื่อน    


    แกนนำสภาสูงนำทัพขวางแก้ รธน.256 ตั้ง ส.ส.ร. ชี้หากยอมเท่ากับปล่อยให้ "ลูกฆ่าแม่" แก้หนึ่งมาตราเพื่อล้ม-รื้อทั้งฉบับ เตือนอาจสะดุด ยกเหตุสมัยรัฐบาลเพื่อไทยปี 2555 ก็เคยทำแต่โดนศาล รธน.ติดเบรก ฝ่ายค้านยื่นร่างแก้ไขฯ จันทร์นี้ "สุทิน" เสียงอ่อย ยอมถอย หากตั้งสภาร่างฯ ไม่ได้ ขอเป็นรายมาตรา กลุ่ม รธน.ก้าวหน้าชงให้มีสภาเดี่ยว โละทิ้งวุฒิสภา 
    ความเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ที่เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มม็อบนักศึกษาและประชาชนในเวลานี้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกระบวนการดังกล่าวว่า วันจันทร์ที่17 ส.ค. เวลา 10.45 น. พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยเนื้อหาที่จะยื่นในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะเป็นประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพียงสองประเด็นเท่านั้น ไม่มีประเด็นอื่น หากพรรคใดจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามพรรคร่วมฝ่ายค้านประเด็นอื่นๆ ต้องมาหารือกันอีกครั้งว่าจะยื่นเพิ่มเติมอย่างไร เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง ส.ส. 100 เสียง จึงต้องร่วมมือร่วมใจกันและตกผลึกกันให้ได้ก่อน
    ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน
กล่าวเช่นกันว่า หลังยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปแล้ว หากที่สุดแล้วไม่สามารถผลักดันการแก้ไขมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ได้ ก็จะเดินหน้าแก้เป็นรายมาตราต่อไป โดยมีรายละเอียดประเด็นตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และรูปแบบการเลือกตั้ง แต่อยากให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ให้ประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองก่อน
    นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ก็ให้ความเห็นว่า ปัญหาต่างๆ จะหมดไป หากตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาได้ 
เพื่อดึงกลุ่มแกนนำต่างๆ โดยเฉพาะแกนนำนักศึกษาเข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการ เพื่อแสดงความเห็นและหาแนวทางร่วมกันได้ ซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยประเทศได้ หากรัฐบาลยังนิ่งเฉยอยู่ บรรยากาศในประเทศก็จะไม่ดีแน่ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกฝ่ายพร้อมแล้วกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาได้พูดคุยกับ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ทุกคนก็ให้ความร่วมมือดี  ตอนนี้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องตัดสินใจโดยด่วน เพราะไม่อยากให้สถานการณ์บานปลาย ซึ่งต้องมาหาทางออกให้ประเทศพร้อมกัน ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยทำการเมืองแบบใหม่แล้ว ใช้เหตุผล ประนีประนอมมากที่สุดแล้ว หลายครั้งที่ถูกมองไม่ดี แต่เพื่อต้องการความร่วมมือ พรรคเพื่อไทยก็ยอมถอย ดังนั้นฝากความหวังไว้ที่นายกรัฐมนตรี ที่จะมีอำนาจสั่ง ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยด่วน วันนี้จึงอยู่ที่ความจริงใจของรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย 
    ด้านท่าทีจากสมาชิกวุฒิสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า มีคนถามมาเยอะที่ตนเสนอให้ ส.ว.ไม่ต้องโหวตเลือกนายกฯ และแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหลายเรื่อง มีสัญญาณมาจากใคร อย่างไรหรือไม่ ก็ขอเฉลยเสียเลยไม่ต้องอ้อมค้อม
    1.สัญญาณจากความสำนึก ว่าเวลานี้มันไม่ใช่สถานการณ์แบบนั้นในขณะนั้น มันเป็นสถานการณ์ที่เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองต้องเปลี่ยนแปลง แม้แต่รัฐธรรมนูญ ถึงคราวเปลี่ยนแปลงก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์และเหตุการณ์ ไม่ควรแข็งขืน
     2.สัญญาณจากประชาชน ต้องยอมรับว่าขณะนี้มีเสียงเรียกร้องมามากทั้งในสภาและนอกสภา แม้ว่ารัฐบาลจะอยู่ด้วยเสียงส่วนใหญ่ในสภา แต่ในความเป็นจริงก็ล้มมาจากเสียงส่วนใหญ่นอกสภา ขณะนี้เสียงนอกสภากำลังกระหึ่ม กระพือโหมเข้ามาประชิดติดรั้วสภาและรัฐบาล
    3.สัญญาณแห่งความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง มันมาเร็วเกินคาด และเร็วมากที่จะต้องยอมรับความเป็นจริงแห่งประชาธิปไตย จะเป็นแบบผสมผสานอย่างที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้คงไม่ได้ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าต้องรีบส่งต่อประชาธิปไตย ทั้งความเป็นจริงรัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ก็ด้วยเสียงของสภาผู้แทนราษฎรเป็นส่วนใหญ่
    4.เวลามันไล่ล่าเราเข้ามาทุกที มันหมดเวลาที่เราจะมาขัดแย้งกันเรื่องแย่งอำนาจ เวลานี้มันเป็นเวลาของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน รวมพลังเป็นพวกเดียวกัน เพื่อฝ่าฟันวิกฤติของประเทศไปให้ได้ เมื่อเวลามันไล่ล่ามาเช่นนี้ จึงต้องประนอมอำนาจกันให้ลงตัว ได้กันบ้าง เสียกันบ้าง เอาประเทศชาติประชาชนเป็นตัวตั้ง อย่าเอาแพ้เอาชนะต่อกัน แค่นั้นประเทศก็เดินไปได้
    ข้อความระบุอีกว่า ไม่ต้องให้ใครส่งสัญญาณหรอก ถ้าทุกคนมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ก็แสดงออกได้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง แม้จากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ถ้ายืนอยู่บนความถูกต้อง จะอยู่ตรงไหนก็ใช่...ส่วนใครจะคิดอย่างไรก็ช่าง...
    ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงแนวทางการตั้งสภาร่าง รธน.ว่า ส่วนตัวเป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะในบางมาตรา ตนมองว่ามีปัญหา เเต่อีกด้านตนมองว่าก็ยังมีส่วนดี จึงอยากให้แก้ไขเป็นรายมาตราดีกว่า แต่จะให้ไปตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างใหม่แล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่าส่วนที่ดีจะยังคงอยู่ เงื่อนไขต่างๆ อาจทำได้ แต่ก็ไม่ง่าย ต้องผ่านกระบวนการความเห็นพ้องต้องกันเสียก่อน 
    "การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อกำหนดให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียกว่าเป็นการแก้ไขเพื่อให้ลูกมาฆ่าแม่ ถือว่าเป็นการกระทำล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีลักษณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานเมื่อปี 2555 ครั้งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ว่ากระทำมิได้ หากจะกระทำต้องไปขอประชามติเสียก่อน กรณีนี้จึงขอยกมือคัดค้านการแก้ไขมาตรา 256 ทำไม่ได้เด็ดขาด เปรียบเหมือนไปเปิดโอกาสให้เขารื้อบ้านเราทิ้งแล้วสร้างใหม่ ไม่รู้ว่าเขาจะยังคงบานประตูและหน้าต่างที่เราชอบไว้หรือเปล่า และเมื่อถึงช่วงนั้น ไม่ว่าเราจะทักท้วงอย่างไร เขาก็ไม่ฟัง จึงเป็นการยากที่เราจะได้บานประตูและหน้าต่างที่เราชอบกลับคืนมา" พล.อ.สมเจตน์ แกนนำ ส.ว.กล่าว 
    ส่วนฝ่ายรัฐบาลนั้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องรอผลการศึกษาในส่วนของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสภาวันที่ 9 กันยายนนี้ก่อน แต่ก็ได้มีการให้แต่ละพรรคทำการบ้านรอไว้แล้วว่าจะแก้ในประเด็นไหนบ้าง ก่อนจะนำมาพิจารณาร่วมกันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเวลายื่น
    เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านผลักดันให้มีการแก้มาตรา 256 ฟากรัฐบาลเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร นายวิรัชกล่าวว่า ถ้าเขายื่นไปแล้วเขามีเสียงให้รับหลักการในสภาหรือไม่ ทั้งยังต้องใช้เสียง ส.ว.อีก ดังนั้น เราจึงบอกว่าต้องให้ตกผลึกก่อน เพราะจะทำเพียงแค่พอให้ได้ยืน ก็จะไม่มีประโยชน์ เราจึงขอเวลาตามกำหนดตามขั้นตอน ซึ่งฝ่ายค้านเองก็รู้อยู่แล้วว่า กมธ.จะเข้าวันไหน เหตุใดจึงไม่รอก่อน
    ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ให้ความเห็นในเพจเฟซบุ๊กหัวข้อ “สภาเดี่ยว : ข้อเสนอขั้นต่ำ หรือ 'A New Minimum' สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ” มีเนื้อหาดังนี้ [#สภาเดี่ยว : ข้อเสนอขั้นต่ำ หรือ “A New Minimum” สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ] โดยระบุตอนหนึ่งว่า เรื่องการแก้ไข รธน. “จุดร่วม” ที่ก้าวหน้ามากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงต่อโครงสร้างปัจจุบันที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็น “จุดร่วม” ที่มีโอกาสที่จะหาฉันทามติได้ในทุกกลุ่มคนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยคือ การ “ยกเลิกวุฒิสภา” และใช้ระบบ #สภาเดี่ยว 
    หากมีสถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นทั้งสัญลักษณ์และการรวมกันของความวิปริตและไม่ชอบธรรมของระบอบการเมืองปัจจุบัน สถานที่นั้นคือวุฒิสภา ที่มีสมาชิก 250 คนจากการแต่งตั้งโดย คสช. ไม่ว่าจะเป็น 1.การขัดหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมี “1 สิทธิ์ 1 เสียง” เท่ากันใจการกำหนดอนาคตประเทศ - โดยการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน มีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาชิกผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน ถ้าเราคำนวณง่ายๆ ว่า 500 ส.ส. มาจากเสียงของประชาชนกว่า 38 ล้านเสียง ในขณะที่ 250 ส.ว. มาจากการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสรรหา 10 คน เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันให้คณะกรรมาการสรรหาวุฒิสภาหนึ่งคน มีอำนาจมากกว่าประชาชนหนึ่งคนเกือบ 2 ล้านเท่า
    2.การเป็นสถาบันที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ซับซ้อน - ไม่ว่าจะเป็นการที่ 6 ใน 10 ของคณะกรรมการสรรหาวุฒิสภา แต่งตั้งตนเองเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือจะเป็นการสงวนเก้าอี้วุฒิสภา 6 เก้าอี้ไว้ให้กับผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำที่รับเงินเดือนเต็มเวลาอยู่แล้ว
     3.การเขียนกฎหมายเพื่อ 'ล็อก' ทุกส่วนของโครงสร้างของรัฐ ให้อยู่ในการควบคุมของตนเอง  เช่น การให้วุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. มีอำนาจไม่พียงแค่ในการร่วมลงคะแนน แต่มีอำนาจในการยับยั้ง (vetoing powers) ทั้งการรับรองผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม
     4.การให้ความสำคัญหรือการใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับ “ความมั่นคง” เหนือสิ่งอื่นใด - 40% ของสมาชิกวุฒิสภาเป็นทหารหรือตำรวจ ทั้งๆ ที่วุฒิสภาควรเป็นตัวแทนของผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาอาชีพ
    5.การปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับหน้าที่ที่ควรจะเป็น - ในขณะที่วุฒิสภามีหน้าที่หลักในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร แต่เราจะเห็นว่าจากเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาทั้งหมด 145 มติ ส.ว.ให้ความเห็นชอบทั้ง 145 มติ 
    นายพริษฐ์ให้ความเห็นอีกว่า ดังที่เห็นได้ทั่วโลก การสร้างวุฒิสภาที่เป็น "ประชาธิปไตย" ไม่ได้มีเพียงสูตรเดียว แต่หลักสากลที่ถูกใช้ในการออกแบบ คืออำนาจที่วุฒิสภามีนั้น ต้องสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยในที่มาของสมาชิกวุฒิสภา          สภาขุนนาง (วุฒิสภา) ยังคงดำรงอยู่ได้ในสหราชอาณาจักร เพราะว่าถึงแม้จะประกอบไปด้วยสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด แต่ก็มีอำนาจเพียงเล็กน้อย สิ่งที่ทำได้มากที่สุดในกระบวนการนิติบัญญัติคือการชะลอร่างกฎหมายที่ผ่านโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สูงสุดเป็นเวลาหนึ่งปี ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาให้อำนาจนิติบัญญัติแก่วุฒิสภามากกว่า เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภามีที่มาที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า - สมาชิกวุฒิสภาได้รับเลือกตั้งมาเพื่อเป็นผู้แทนของรัฐต่างๆ ในระบบสหพันธรัฐ
     แกนนำกลุ่ม รธน.ก้าวหน้าย้ำว่า ถ้าจะให้สมการของอำนาจและที่มาของวุฒิสภาไทยมีความสมดุลกัน หลายคนอาจมองว่าประเทศไทยยืนอยู่บนทาง 2 แพร่ง ระหว่าง (1) เลือกรูปแบบคล้ายๆ กับสหราชอาณาจักรโดยการคงการแต่งตั้งต่อไป แต่ไปลดอำนาจของวุฒิสภาลงอย่างมากเพื่อให้สมดุลกับที่มาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือ (2) เลือกรูปแบบคล้ายๆ กับสหรัฐอเมริกาโดยกำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (คล้ายกับที่ประเทศไทยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540) เพื่อให้ความชอบธรรมกับอำนาจที่มีอยู่
    "ผมมองว่าประเทศไทยมีทางเลือกที่ 3 ที่น่าจะแก้ปัญหาได้เหมาะสมมากกว่า คือการยกเลิกการมีวุฒิสภา และเปลี่ยนรูปแบบของฝ่ายนิติบัญญัติจากระบบสองสภา ที่มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นระบบสภาเดี่ยวที่มีเพียงสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ถึงจะใหม่สำหรับหลายคนในประเทศ แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ในเกือบ 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่เป็นประชาธิปไตย และมีความคล้ายไทยในความเป็นรัฐเดี่ยวและการปกครองโดยระบบรัฐสภา"  นายพริษฐ์ให้ทัศนะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"