'หนังสือบุดสมุดข่อย' มรดกภูมิปัญญาเมืองคอนที่ต้องตามคืน หลังถูกโจรกรรม


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     นับว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจอยู่ไม่น้อยสำหรับการโจรกรรมหนังสือข่อย หรือหนังสือบุด ในภาษาภาคใต้ ที่เก็บรักษาไว้ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่ต่อมาทางคณะสงฆ์ จ.นครศรีธรรมราช และฆารวาส ได้จัดตั้งศูนย์รับคืนหนังสือบุด ที่ศูนย์รับคืนสมุดข่อยวัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช และหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปญโญสวนโมกขพลารามกรุงเทพฯ หรือผ่านช่องทางเพจ ศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร โดยล่าสุดมีผู้ส่งคืนแล้วจำนวนเกือบ 200 เล่ม จากจำนวนกว่า 1,000 เล่มที่หายไป 

     หนังสือข่อย เป็นกระดาษที่ทำจากเปลือกต้นข่อย ที่คนในอดีตได้นำใช้เขียนหรือวาด เพื่อบันทึกเรื่องราวหรือสรรพวิชาเอาไว้ มี 2 สี คือ สีขาวและสีดำ หนังสือข่อยจึงเป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิทยาการไว้หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นศาสนา กฎหมาย ตำนานและประวัติศาสตร์ ตำรา สุภาษิต วรรณกรรม หรือภาพเขียนสี และภาพลายเส้น ที่ลักษณะเนื้อหา รวมไปถึงศิลปะที่หลากหลาย จึงเรียกได้ว่าเป็นสมบัติมรดกทางภูมิปัญญา และวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของไทย

    เมื่อไม่นานนี้ ทางมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) จัดเสวนา "พลิกพับบุด : หนังสือบุดสมุดข่อยโบราณ สมบัติชาติและมรดกทางภูมิปัญญาอันหาค่ามิได้” เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญ และคุณค่าของหนังสือบุด ในการเก็บรักษา อนุรักษ์ และทำการเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธาณชน พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้ที่โจรกรรมหนังสือบุด จากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้นำส่งกลืบคืนด้วย 

 

 

     อาจารย์ภูธร ภูมะธน นักประวัติศาสตร์ชาวนครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า หนังสือข่อย ที่เรียกกันในภาคกลาง ส่วนหนังสือบุดคือ ภาษาที่ใช้เรียกกันในภาคใต้ มีทั้งเล่มสีดำและสีขาว เล่มที่สมบูรณ์ก็อาจจะมีตั้งแต่ 3 -15 พับ เป็นต้นไป  โดยหนังสือข่อยนี้ คาดว่าเล่มที่เก่าที่สุดเป็นเอกสารบันทึกไว้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา นับว่าเป็น         ภูมิปัญญาของคนในอดีตในการสร้างสรรค์กระดาษจากต้นข่อย และการใช้สีในการนำมาเขียนบันทึกเรื่องราวทั้งสาระความรู้ และเพื่อความบันเทิง  ไม่ว่าจะเป็นตำรายา คาถา ประวัติศาสตร์ พงศาวดาร วรรณกรรม และอื่นๆอีกมากมาย ทั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า สังคมในอดีตที่จะเขียนหนังสือข่อยได้นั้น คืออยู่ในชนชั้นกลาง-ชนชั้นสูง ซึ่งเป็นสังคมการศึกษา อย่างในวัด และในวัง หรือหากเป็นชาวบ้านทั่วไปก็ต้องมีหน้าที่ภารกิจเกี่ยวกับด้านอักษร 

     อาจารย์ภูธร กล่าวเพิ่มว่า โดยเราจะสามารถสังเกตลายมือที่ปรากฎอยู่ในหนังสือข่อย เช่น อารักษ์ ที่เป็นผู้บันทึกตามคำสั่งเจ้านาย ด้วยลายมือที่มีมาตรฐานและสวยงามมาก ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะอักษรที่งดงาม หรือพระก็จะนิยมเขียนด้วยอักษรบาลี หรือขอม ถัดมาคือคนที่มีความรู้เป็นผู้เขียน เช่น ตำรายา หรือตำราหมอดู นิทาน วรรณกรรม ลายมืออาจจะไม่มาตรฐานเท่ากับอารักษ์ หรือลักษณะของการวาดภาพต่างๆ ก็จะมีลายลักษณ์ของสกุลช่างในท้องถิ่นนั้นๆด้วย ในอดีตเชื่อว่าหนังสือข่อยแทบทุกบ้านอาจจะมีในครอบครอง เปรียบเหมือนกับหนังสือจินดามณี ที่เป็นแบบเรียนเอาไว้ฝึกอ่านเขียน จึงมีการคาดว่าหนังสือข่อยนั้นมีจำนวนมากในประเทศไทย โดยเฉพาะทางแทบเมืองโบราณต่างๆ 

     “แม้ว่ามองดูแล้วจะมีหนังสือข่อยไม่น้อย แต่ก็เป็นหนังสือหายาก ด้วยอาจจะมีการซื้อขายให้กับผู้สนใจ ทั้งในไทยและต่างประเทศ หรือไม่ก็ไม่ทราบแหล่งที่อยู่ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าให้ตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร ก็คือหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน เมื่อครั้งนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นเอตทัคคะบุคคล จึงได้มีการเก็บรวบรวมนับตั้งแต่นั้นจนทุกวันนี้ ทำให้มีจำนวนหลักหมื่นเล่มทีเดียว หรือในช่วงเวลาหนึ่งที่ ม.ราชภัฏบางแห่ง ได้มีการเก็บรวบรวมหนังสือข่อยอย่างจริงจัง อย่างที่จ.นครศรีธรรมราช ก็มี ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ที่ได้ทำการค้นหาและนำมาเก็บรักษาไว้ที่ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีเล่มที่เป็นมาสเตอร์พีซเล่มเดียวในโลก อยู่จำนวนมาก อย่างหนังสือบุดสีมากถา ที่เพิ่งได้รับคืนจากการโจรกรรม ดูจากรูปวาด จึงสันนิณฐานได้ว่ามีอายุ ประมาณ 150 ปี หรือในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเนื้อหาภายในนั้นเป็นตัวอย่างที่จะทำให้รู้ว่าการทำพิธีกรรมใดๆ ต้องทำตามสูตรและพระวินัย อย่างการวางสีมารอบพระอุโบสถวัด ที่มีการทำตามสูตร ซึ่งในแต่ละภาคก็อาจจะมีสูตรการว่างสีมาที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากเป็นไปได้ก็อยากจะให้คนที่มีหนังสือข่อยในครอบครองที่ได้มาในแบบไม่สุจริต ได้นำส่งกลับคืนมาเพื่อให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อฃได้ทำการศึกษา อนุรักษ์และเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อไป” อาจารย์ภูธร กล่าว 

 

 

 

     อ.จุฑารัตน์ จิตโสภา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำวิจัยเรื่อง จิตกรรมในหนังสือบุด : ภาพสะท้อนความคิด สังคมและภูมิปัญญาช่าง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 กล่าวว่า ได้ศึกษาหนังสือบุดในประเด็นเกี่ยวกับจิตรกรรม สี โดยได้เดินทางมาศึกษาที่ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีจำนวนหนังสือบุดเยอะ และมีหลากหลายประเภท อย่างเล่มที่ได้ศึกษาเรื่องพระเวสสันดรชาดก เรื่องพระอภิธรรมจากคัมภีร์ และเรื่องศาสตรา ทำให้เราได้เห็นและแยกงานของสกุลช่างใต้แท้ๆได้ อย่างหนังสือบุดศาสตรา การเขียนรามเกียรติ์ ที่มีลักษณะคล้ายหนังตะลุง หรือจิตรกรรมบนฝาผนังวัด ที่อาจจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นกลุ่มช่างเดียวกัน หรือเรื่องที่พบในใต้เท่านั้นคือ ตากับยายปลูกกล้วยเป็นทอง ทำให้เราเห็นคุณค่าของหนังสือบุดที่มีเอกลักษณ์ของภาคใต้ ที่แตกต่างจากภาคอื่นแม้ว่ามีบ้างที่จะได้รับอิทธิพลมาจากภาคอื่นๆ 

     สำหรับความคืบหน้าการส่งคืนหนังสือบุดล่าสุด นายสุรเชษฐ์ แก้วสกุล  นักวิชาการอิสระผู้มีความสนใจด้านประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช หนึ่งในคณะทำงานของศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดไทยเมืองนคร กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยนครศรีธรรมราช ได้นำหนังสือบุด และวัตถุโบราณที่ถูกส่งมอบจากผู้ครอบครองจากจังหวัดขอนแก่น เพชรบุรี และแหล่งอื่น ๆ ในการตรวจสอบครั้งนี้ ได้รับหนังสือบุดคืนรวมทั้งสิ้น 92 เล่ม โดยมีหนังสือบุดที่ต้องรอการตรวจสอบแหล่งที่มาจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 60 เล่ม นอกจากนี้ยังได้รับวัตถุโบราณ (ดาบโบราณ) จำนวน 7 เล่ม ที่ยืนยันว่าเป็นดาบที่มาจากศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จำนวน 5 เล่ม และยังไม่ยืนยันแหล่งที่มา จำนวน 2 เล่ม 

 

 

     สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจศึกษาเรื่องที่บันทึกอยู่ในหนังสือบุดจำนวน 92 เล่ม อาทิ คัมภีร์ทางพุทธศาสนา 6 เล่ม ได้แก่ ตำรายา ตำราทิพมนต์มหาไชยของนายหนวนเขาอ้อ พระมาลัยของวัดท่าโพธิ์วรวิหาร นครศรีธรรมราช ตำราสีมากถา พระอภิธรรม 7 คัมภีร์ 2 เล่ม, วรรณกรรมทางพุทธศาสนา 1 เล่ม ได้แก่ วรรณกรรมพุทธประวัติชื่อ นิพพานโสตร, วรรณกรรม 2 เล่ม ได้แก่ วรรณคดีเรื่อง เสือโคคำฉันท์ และวรรณคดีเรื่องสีหไกร, ตำรากฏหมาย 1 เล่ม, ตำรายา 2 เล่ม, ตำราไสยศาสตร์ 3 เล่ม และตำราเบ็ดเตล็ดคือคละเรื่องคละเนื้อหา 3 เล่ม เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีหนังสือบุดส่วนที่ยังระบุความเกี่ยวข้องกับศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไม่ได้ จะได้รับการพิจารณาซ้ำอีกครั้งโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะแต่งตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ร่วมกับหอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช ศูนย์รับบิณฑบาตหนังสือบุดสมุดข่อยเมืองนคร และผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารภาคใต้ ในส่วนความคืบหน้าเพิ่มเติมคือมีผู้นำส่งคืนพระมาลัย 2 เล่ม และพระอภิธรรมอีก 2 เล่ม ซึ่ง 4 เล่มนี้มีความสำคัญอย่างมาก  และยังเป็นเล่มที่หายไปจากตู้จัดแสดง อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบความชำรุดเสียหาย และทางด้านคดีความอยู่ระหว่างการสืบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อไป

     ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าการส่งคืนหรือประสงค์คืนหนังสือบุด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/CRNPM/ 


 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"