พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังประกาศใช้แล้ว มีผลบังคับ 20 เม.ย. มีทั้งสิ้น 6 หมวด 87 มาตรา ชี้ชัดห้ามทำประชานิยม พร้อมผุดคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ “นายกฯ” นั่งคุมเบ็ดเสร็จ ประเดิมจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางให้เสร็จใน 90 วัน ขีดเส้นงบลงทุนห้ามต่ำกว่า 20% การก่อหนี้เบ็ดเสร็จต้องแจ้งสาธารณะพร้อมเผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ ซึ่งเนื้อหากฎหมายมีทั้งสิ้น 87 มาตรา โดยเหตุผลในการออกกฎหมายระบุว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ การกำหนดวินัยทางการคลัง ด้านรายได้และรายจ่าย ทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐและเงินคงคลัง และการบริหารหนี้สาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สำหรับเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวมีทั้งสิ้น 87 มาตรา โดยมาตรา 1-5 เป็นคำนิยามทั่วไป ตามมาด้วยหมวด 1 บททั่วไป เริ่มตั้งแต่มาตรา 6-9 หมวด 2 นโยบายการเงินการคลัง ตั้งแต่มาตรา 10-30 หมวด 3 วินัยการเงินการคลัง ตั้งแต่มาตรา 31-67 หมวด 4 การบัญชี การรายงาน และการตรวจสอบ ตั้งแต่มาตรา 68-79 หมวด 5 การตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 80 และบทเฉพาะกาล ตั้งแต่มาตรา 81-87
ที่น่าสนใจคือ ในมาตรา 9 ที่ระบุไว้ว่า “คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัดในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”
ในมาตรา 10 ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รมว.การคลังเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นเลขานุการ และให้ สศค.ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการ
สำหรับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการฯ คือ 1.กำหนดวินัยการเงินการคลังเพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือในกฎหมายอื่นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ 2.จัดทำและทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง 3.เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการงบประมาณ การจัดเก็บรายได้ การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารทรัพย์สิน และปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลังของรัฐ 4.กำหนดสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณ สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่า หรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย 5.กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการคลัง 6.กำหนดอัตราการชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตาม และ 7.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่ ครม.มอบหมาย
ส่วนการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางนั้น กำหนดให้อยู่ที่มาตรา 13 โดยระบุว่า เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของรัฐ รวมทั้งแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้มีคณะกรรมการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางตามให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี (30 ก.ย.) ซึ่งแผนการคลังระยะปานกลางต้องมีเวลาไม่น้อยกว่าสามปี และอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1.เป้าหมายและนโยบายการคลัง 2.สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ 3.สถานะและประมาณการการคลัง ซึ่งรวมถึงประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่าย ดุลการคลัง และการจัดการกับดุลการคลังนั้น 4.สถานะหนี้สาธารณะของรัฐบาล และ 5.ภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาล ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลมาตรา 81 ได้กำหนดให้จัดแผนการคลังระยะปานกลางให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.บังคับใช้ (20 เม.ย.)
นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดการจัดทำงบประมาณที่น่าสนใจอีก คือมาตรา 20 ที่กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องมีหลักเกณฑ์ 1.งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปีนั้น 2.งบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับบุคลากรของรัฐและสวัสดิการของบุคลากรของรัฐ ต้องตั้งไว้อย่างพอเพียง 3.งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐซึ่งเป็นหนี้สาธารณะที่กระทรวงการคลังกู้หรือค้ำประกัน ต้องตั้งเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินอย่างพอเพียง ฯลฯ
ส่วนการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมนั้น กำหนดไว้ในมาตรา 21 ระบุว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วย ส่วนงบกลางนั้นระบุว่า ให้ตั้งได้เฉพาะในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่อาจจัดสรรหรือไม่สมควรจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบได้โดยตรง
ทั้งนี้ ยังในมาตรา 23 ยังให้มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแก่หน่วยงานของรัฐสภา ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอัยการ ให้เพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ โดยต้องคำนึงถึงการดำเนินงาน รายได้ เงินนอกงบประมาณ และเงินอื่นใดที่หน่วยงานนั้นมีอยู่
ในส่วนของการก่อหนี้และบริหารหนี้นั้น ได้กำหนดไว้ตั้งแต่มาตรา 49-60 ซึ่งนอกจากการกำหนดหนี้ต่อเรื่องต่างๆ ทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ รายได้ประจำปี หนี้สาธารณะทั้งหมด ฯลฯแล้ว ยังกำหนดให้มีการรายงานสัดส่วนหนี้ทั้งหมดต่อ ครม.และคณะกรรมการฯ ทุก 6 เดือน รวมทั้งให้เปิดเผยต่อสาธารณชนและเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |