"ชาวเชียงใหม่"ไม่ทน ทำร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการอากาศสะอาด...


เพิ่มเพื่อน    

                      
               ปัญหาคุณภาพอากาศเชียงใหม่ ซึ่งช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี เผชิญวิกฤตค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลให้ชาวเชียงใหม่หายใจเอาอากาศพิษเข้าสู่ร่างกายประจำ   ปีนี้มลพิษฝุ่นควันก็ร้ายแรงสุดระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เชียงใหม่ขึ้นอันดับ 1 คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก จัดอันดับโดยเว็บไซต์ AirVisual  แม้จังหวัดร่วมทำงานสู้ฝุ่นพิษกับหลายภาคส่วน แต่ก็ไม่สามารถบรรเทาปัญหาได้  เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่าและฝุ่นควันไม่ได้เกิดจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่ป่าเท่านั้น

             การสร้างความตระหนักและรับรู้การแก้ปัญหาฝุ่นพิษห่มคลุมเมืองร่วมกันอย่างจริงจัง  เป็นสิ่งสำคัญเพื่ออนาคตของจังหวัดเชียงใหม่ เหตุนี้ มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่  สภาลมหายใจเชียงใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  คิกออฟโครงการ “เคาท์ดาวน์ฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่” ที่ จ.เชียงใหม่  เมื่อวันก่อน โดยเชิญตัวแทนภาคนโยบาย หน่วยงานรัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตร ภาคประชาสังคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และสื่อสารมวลชน ร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานขจัดปัญหาฝุ่นควัน มุ่งสู่การจัดทำแผนการปฏิบัติงานลดฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป้าให้เสร็จเดือนมกราคม ปี 2564 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหมอกควันพิษฤดูกาลหน้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น    

 

 

              ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกปีชาวเชียงใหม่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM 2.5 และทุกครั้งที่เกิดไฟป่าค่าฝุ่น PM 2.5 จะทะยานสูงขึ้นถึง 925 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำสถิติสูงสุดในรอบหลายสิบปี ส่วนที่มาของฝุ่นควันเกิดจากการเผาในที่โล่ง การเผาป่าฝุ่นในเมือง ฝุ่นจากนอกประเทศ ฯลฯ สถานการณ์ฝุ่นควันเป็นมลพิษทางอากาศกระทบต่อทุกชีวิตประชาชนในพื้นที่ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ  อีกทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการป้องกันตนเองจากมลพิษ เพื่อให้มีการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศอย่างเป็นระบบ การบูรณาการเชิงระบบของหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม การบริหารจัดการระบบงบประมาณเพื่อการมีอากาศสะอาด  จำเป็นต้องให้มีกฏหมายว่าด้วยการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ขณะนี้ภาคประชาสังคมร่วมกันจัดทำ(ร่าง) พระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการปัญหาฝุ่นPM 2.5 ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  สำหรับโครงการเคาท์ดาวน์ฝุ่น PM2.5  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมเป็นภาคี ร่วมคิด ร่วมทำเพื่อสู้เป้าหมายลดปริมาณฝุ่นในเชียงใหม่

              จากสถานการณ์ฝุ่นควัน ซึ่งเป็นมลพิษอากาศซึ่งครอบคลุมไปยังพื้นที่กว้างขวางขึ้น และมีความเข้มข้นของมลพิษในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนทุกปี  ไม่เฉพาะพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นเหตุให้คนอยู่ในภาวะอันตราย ภาคประชาชนเห็นความจำเป็นต้องพัฒนาปฏิรูประบบบริหารจัดการมลพิษอากาศให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบ  นำมาสู่การจัดทำร่างกฎหมายจัดการเพื่ออากาศสะอาด  เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบการวางแผน เพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน  กลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ  ส่งเสริมการบูรณาการเชิงระบบของหน่วยงานต่างๆ  ภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม  การบริหารจัดการระบบงบประมาณเพื่อการมีอากาศสะอาด ระบบบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่เป็นแหล่งของอากาศไม่สะอาด ทั้งภาคขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม เขตพื้นที่ก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง  การเผาตอซังของเกษตรกร การเผาพื้นที่ป่า รวมถึงฝุ่นควันที่ลอยข้ามพรมแดนจากแหล่งกำเนิดในต่างประเทศ การพัฒนามาตรฐานคุณภาพอากาศ ระบบประเมินคุณภาพอากาศ จนถึงการเฝ้าระวัง เตือนภัยจากสถานการณ์อากาศที่ไม่สะอาดที่อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชน   ระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤตจากสภาพอากาศ เพราะสิทธิในอากาศสะอาด เป็นสิทธิของบุคคลที่สมควรได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย  ประชาชนและชุมชนสามารถใช้สิทธิเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในการกำหนดนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับการจัดการอากาศสะอาด  การมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน นำไปสู่การปฏิบัติแก้มลพิษ ซึ่งภาคประชาสังคมร่วมกันออกแบบโครงสร้างกฎหมายนี้

 


                ตลอดปีนี้โครงการเคาท์ดาวน์ฝุ่น PM 2.5 จะจัดเวทีแลกเปลี่ยนการทำงานของทุกส่วน ขอยกระดับการมองอนาคตเชียงใหม่ปลอดฝุ่นควัน            ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย กล่าวว่า ฝุ่นจิ๋วเป็นปัญหามลพิษที่หมักหมมในเชียงใหม่มากกว่า 10 ปี ต้องการแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา แก้เมื่อเผชิญเหตุ ทำให้ปัญหาวนเวียนกลับมาทุกปี และแนวโน้มสถานการณ์หนักขึ้นเรื่อยๆ  เมืองที่มีระดับมลพิษอากาศสูงจะพบปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โครงการเคาท์ดาวน์ฝุ่นPM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงวิธีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยระดมทุกภาคส่วนสะท้อนปัญหาและหาแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน

                “ ทุกวันนี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5  ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน เกิดการชี้นิ้วใส่กัน  เราอาสาจัดพื้นที่พูดคุย บอกเล่าอุปสรรค ข้อติดขัดในการทำงานแก้ปัญหา และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของภาคส่วนต่าง ๆ หัวใจสำคัญการทำงานครั้งนี้ทุกฝ่ายต้องแบ่งปันข้อมูลกัน และสร้างกระบวนการคิดแบบมองปัญหาเชิงระบบ มองอนาคตร่วมกัน และขับเคลื่อนร่วมกัน ระยะเวลาโครงการ 5 ปี ระยะสั้นภายใน 5 เดือน เกิดมาตรการทำให้ฝุ่นควันอยู่ในเกณฑ์ดีได้มาตรฐาน   ระยะยาวปริมาณฝุ่นพิษลดลงอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 40  มีวันที่อากาศดี อากาศปลอดโปร่ง เพิ่มมากขึ้น ชีวิตชาวเชียงใหม่ไม่ต้องสูดดมฝุ่น จากเวทีแรกก็น่าสนใจ หลังนักวิชาการฟังข้อมูลจากภาคส่วนอื่นๆ  หันกลับมาทบทวนงานวิจัยตัวเองว่าต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงงานวิจัยสู้ฝุ่นที่ตอบโจทย์ชุมชนมากขึ้น ส่วนหน่วยงานรัฐได้เสนอแผนแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่อัพเดท มาปรับข้อมูลให้ตรงกัน เวทีครั้งต่อไปจะจัดเดือน ต.ค. และปลายปี แล้วรวบรวมข้อมูล สังเคราะห์ ทำแผนปฏิบัติการ  หากเชียงใหม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรม จะขยายผลทำงานให้กับเมืองที่ยังแก้ปัญหามลพิษอากาศไม่ได้เช่นกัน  “ ดร.สุมิท กล่าว

                แน่นอนว่า ทางแก้ปัญหามลพิษที่รุนแรง ต้องมาจากการลดการเผาที่โล่งแจ้ง ลดจุดความร้อน ลดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้คนเจ็บป่วย  พิทยา จินาวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. บอกเล่าแผน การดำเนินงาน ยกตัวอย่าง  ในพื้นที่บ้านหัวเสือ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทางเทศบาลตำบลบ้านหลวงใช้นวัตกรรม“ทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินรายแปลง” สำรวจเขตที่ดินของชาวบ้านด้วยเทคโนโลยี GPS บอกพิกัดผ่านทางดาวเทียม 20,000 ไร่ รวมที่ดิน 6,000 แปลง เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นระบบจะชี้จุดเกิดความร้อน (Hotspot) ว่า เกิดในที่ดินแปลงใด ซึ่งไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือคน การมีทะเบียนฯ ทำให้มีหลักฐานดำเนินคดีเอาผิดได้ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา พบว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี กระทั่งไม่พบปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า จำนวนจุดความร้อนลดลง และปัญหาไฟป่าลดลงอย่างเป็นรูปธรรม  


           "มลพิษทางอากาศฝุ่นควันไฟป่าเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนโดยตรง การแก้วิกฤตฝุ่นนี้ สสส.สนับสนุนหลายโครงการ เราร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการเสริมศักยภาพชุมชนและพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ช่วยป้องกันปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่าอย่างยั่งยืนในพื้นที่ 19 ตำบลใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่าได้ผลสำเร็จร้อยละ 80 " พิทยา กล่าว


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"