ดัตช์กับธุรกิจค้าทาสที่คนรุ่นใหม่ไม่เรียนรู้


เพิ่มเพื่อน    

 

 

                วันปีใหม่ของ ค.ศ.1738 “เลอสเดน” (De Leusden) เรือของบริษัทดัชต์เวสต์อินดีสแล่นเข้าสู่ปากแม่น้ำมาโรวินในซูรินาม บรรทุกทาสแอฟริกันประมาณ 700 ชีวิต เกิดมีพายุถล่มอย่างหนักเป็นเหตุให้เรือค่อยๆ จม กัปตันเรียกทาสขึ้นมา 16 คน พร้อมด้วยกะลาสีเรือช่วยกันเร่งทำภารกิจบางอย่าง

                ก่อนหนีเอาชีวิตรอดกัปตันได้สั่งให้กะลาสีช่วยกันตอกตะปูปิดประตูเล็กๆ บนพื้นเรือ ป้องกันทาสที่เหลือในเรือขึ้นมาจากห้องขังด้านล่าง ทำให้ทาสประมาณ 664 ถึง 702 คนตายอยู่ในเรือจากการจมน้ำ

                ไม่กี่วันหลังจากนั้น ทาสที่เอาชีวิตรอดมาได้ 16 คน ถูกประมูลขายตามปกติ ส่วนบรรดาลูกเรือได้รับรางวัลจากบริษัทจากการที่ได้ช่วยกันนำหีบใส่ทองขึ้นฝั่งได้สำเร็จ กัปตันแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการตอกตะปูปิดฝาโลงว่าทำไปเพื่อป้องกันทาสก่อจลาจล เขาจึงพ้นผิด

                เว็บไซต์ ascleiden.nl ของมหาวิทยาลัยไลเดน ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ให้ภาพกว้างๆ ว่า Dutch Republic (สาธารณรัฐดัตช์ ชื่อที่ใช้เรียกก่อนเนเธอร์แลนด์ ก่อนนั้นเรียก “โลว์คันทรีส์” หรือกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ รวมอยู่กับเบลเยียมและลักเซมเบิร์ก เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิสเปน) เข้าไปมีส่วนในธุรกิจการค้าทาสเป็นเวลามากกว่า 200 ปี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง 19

                บริษัทดัตช์เวสต์อินดีสได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโดยผูกขาดการค้าทาสแอฟริกัน, การค้ากับบราซิล, แคริบเบียน และอเมริกาเหนือ เริ่มต้นด้วยการขนส่งทาสไปจำหน่ายทางตอนเหนือของบราซิล (อาณานิคมของโปรตุเกส) และในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17 นำทาสป้อนสู่อาณานิคมของสเปนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐดัตช์ก็มีอาณานิคมเป็นของตัวเอง อาทิ ซูรินามในอเมริกาใต้ กือราเซา, อารูบาและซินต์มาร์เต็นในทะเลแคริบเบียน


อนุสรณ์สถานปลดปล่อยทาสแอฟริกันในออสเตอร์ปาร์ก กรุงอัมสเตอร์ดัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ภาพโดย โมนีค แฟเมอเลน / พิพิธภัณฑ์อัมสเตอร์ดัม

                ระหว่างปี 1612 ถึง 1872 ดัตช์ได้สร้างป้อมปราการริมฝั่งขึ้นปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองจำนวน 10 แห่งตามแนวชายฝั่งโกลด์โคสต์ของแอฟริกา (ปัจจุบันคือประเทศกานา) ป้อมต่างๆ เหล่านี้ยังใช้เป็นสถานที่สำหรับขังทาสที่ได้มาจากภายในทวีปก่อนขนลงเรือส่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังดินแดนโลกใหม่ รวมแล้วดัตช์มีส่วนแบ่งตลาดทาสประมาณ 550,000-600,000 คน คิดเป็น 5-7 เปอร์เซ็นต์ของทาสแอฟริกันทั้งหมดในทวีปอเมริกา

                เนเธอร์แลนด์ (ชื่อเรียกประเทศนับจากปี 1815) ถือเป็นหนึ่งในชาติท้ายๆ ที่ได้ยกเลิกระบบการค้าทาส มีกฎหมายออกมาในปี 1863 แต่การใช้แรงงานทาสในประเทศอาณานิคมอย่างซูรินามยังดำเนินต่อไปจนถึงปี 1873 เนื่องจากกฎหมายเขียนระบุระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านจากทาสเป็นไทต่อเนื่องไปอีก 10 ปี

                blogs.lse.ac.uk หัวข้อ The importance of Atlantic slavery for the 18th century Dutch economy เผยแพร่บทความที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Low Countries Journal of Social and Economic History โดยสรุปออกมาว่า นักประวัติศาสตร์มักจะพูดว่าเศรษฐกิจของดัตช์ได้รับประโยชน์ไม่มากจากธุรกิจค้าทาสเส้นทางแอตแลนติก ซึ่งเป็นการประเมินไว้ต่ำเกินไป

                อดัม สมิธ (1723-1790) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวสกอต เจ้าของแนวคิดเศรษฐศาสตร์ตลาดเสรี เคยกล่าวไว้ว่า ในยุคสมัยของเขานั้นสาธารณรัฐดัตช์คือชาติที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ปี 1770 กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับการค้าทาสมีสัดส่วนเท่ากับ 5.2  เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของสาธารณรัฐดัตช์ ในฮอลแลนด์ซึ่งเป็นแคว้นที่รวยที่สุดมีสัดส่วน 10.36 เปอร์เซ็นต์ และ 19 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดมาจากสินค้าที่ใช้แรงงานทาส (แอตแลนติก) ในการผลิต

                การศึกษาวิจัยที่ใช้เวลานาน 5 ปี โดยนักประวัติศาสตร์จาก International Institute of Social History ในกรุงอัมสเตอร์ดัม, มหาวิทยาลัย Vrije Universiteit Amsterdam และมหาวิทยาลัย Leiden University โต้แย้งนักวิทยาศาสตร์ยุคเก่าที่ว่าเนเธอร์แลนด์ได้ประโยชน์จากธุรกิจการค้าทาสเพียงน้อยนิด โดยให้ตัวเลขเปรียบเทียบว่าเศรษฐกิจ Digital ในซิลิคอนวัลเลย์, อี-คอมเมิร์ช, โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับ Digital รวมถึงบริษัทสายเคเบิลต่างๆ มีสัดส่วนในเศรษฐกิจของสหรัฐ 6.5 เปอร์เซ็นต์ในเวลานี้

                ผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้จากนักเศรษฐศาสตร์ดัตช์ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอ่าวร็อตเตอร์ดัม ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้านานาชาติหลัก และบริการขนส่งโลจิสติกส์ทั้งหมดมีส่วนในตัวเลขจีดีพีรวมกัน 6.2 เปอร์เซ็นต์ เป็นการแสดงว่าตัวเลข 5.2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีที่ธุรกิจการค้าทาสเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อปี 1770 นั้นย่อมไม่ใช่สัดส่วนที่ธรรมดา


มารูนติดอาวุธในซูรินาม (Maroon) เมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1770 มารูนคือทาสที่หลบหนีเข้าป่าและตั้งตนเป็นอิสระต่อสู้กับนายทาส ภาพโดย จอห์น กาเบรียล สเตดแมน

                ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องจากแรงงานทาสของดัตช์อาจลดลงไปบ้างในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการแข่งขันกันอย่างหนักของแต่ละอาณานิคมในทวีปอเมริกา ทว่าก็ยังสามารถชดเชยได้จากสินค้าจากอาณานิคมภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ขณะเดียวกันสายสัมพันธ์ของธนาคาร, พ่อค้า, ผู้จำนอง และผู้ลงทุนในอัมสเตอร์ดัมยังผูกกันแน่น สามารถส่งต่อไปยังเจ้าของไร่ในอาณานิคมสเปน, อาณานิคมเดนมาร์กในแคริบเบียน และสหรัฐอเมริกาในปลายศตวรรษที่ 18

                ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 ดัตช์ไม่เพียงนำกาแฟและน้ำตาลจากซูรินามเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ยังนำเข้ามาจากอาณานิคมของฝรั่งเศสอีกด้วย โดยเฉพาะจากซังต์-โดมางก์

                แคว้นฮอลแลนด์ ซึ่งกรุงอัมสเตอร์ดัมตั้งอยู่เป็นเสมือนปุ่มหมุนเคลื่อนห่วงโซ่สินค้าที่ผลิตโดยแรงงานทาส ห่วงโซ่นี้เริ่มจากการเตรียมเรือทาสในสาธารณรัฐดัตช์ไปจนถึงไร่ในทวีปอเมริกา จากสินค้าในไร่ขนส่งกลับยุโรปและกระบวนการแปรรูปในสาธารณรัฐดัตช์ สู่การส่งออกไปยังยุโรปส่วนใน

                สินค้าทำกำไรอย่างกาแฟ, น้ำตาล และยาสูบที่เข้ามายังท่าเรือในสาธารณรัฐดัตช์ ปี 1770 ใช้แรงงานทาสในไร่ 120,000 คน ในเวลาเดียวกันนั้นประชากรวัยแรงงานของสาธารณรัฐดัตช์ทั้งประเทศมีไม่เกิน 1 ล้านคน

                ความเจริญเติบโตของการค้าจากอาณานิคมได้เปิดสู่การค้าตามเส้นทางแม่น้ำไรน์ไปยังเยอรมนีตอนใน และยังช่วยสนับสนุนฮอลแลนด์ให้ผ่านช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 ไปได้ อุตสาหกรรมต่อเรือและแปรรูปสินค้าได้กำไรมากมาย ความเติบโตทางเศรษฐกิจของแคว้นฮอลแลนด์ในคริสต์ทศวรรษที่ 1770 ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์มีความเกี่ยวข้องกับการค้าทาส

                เงินเกือบทั้งหมดที่สนับสนุนการเพาะปลูกในไร่ในซูรินามและหมู่เกาะแอนทิลีสมาจากนายธนาคารในอัมสเตอร์ดัม เรือที่ใช้ในการขนทาสก็ต่อในอัมสเตอร์ดัม วัตถุดิบทั้งหลายที่มาจากทวีปอเมริกาก็มาผ่านการผลิตและแปรรูปที่อัมสเตอร์ดัมหรือไม่ก็จอร์ดาน เมืองใกล้ๆ อัมสเตอร์ดัม

                รายได้จากสินค้าที่ได้จากการใช้แรงงานทาสได้ส่งเสริมสนับสนุนยุคทองของประเทศในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ยุคที่ศิลปะ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ และปรัชญาเฟื่องฟูสุดขีด แต่ประเด็นความเชื่อมโยงที่ว่ามานี้ยังมีการถกเถียงอภิปรายกันน้อยมาก

                บทความเรื่อง Whitewashed Slavery Past? The (Lost) Struggle Against Ignorance about the Dutch Slavery History (อดีตของการค้าทาสที่ถูกฟอกขาว และการต่อสู้กับความไม่รู้ประวัติการค้าทาสของชาวดัตช์) ในเว็บไซต์ humanityinaction.org ได้ขึ้นต้นสโลแกนเชียร์ฟุตบอลทีมชาติเนเธอร์แลนด์ไว้ว่า “ออเรนจ์ ออเรนจ์ ออเรนจ์!” อันเป็นชื่อของราชวงศ์ในอดีตและสีของเสื้อทีม เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนผิวขาว ขณะที่นักฟุตบอลในสนามเป็นคนผิวดำที่บรรพบุรุษมาจากซูรินามและหมู่เกาะแอนทิลลีส (แคริบเบียน) ไม่ว่าจะเป็นเอ็ดการ์ ดาวิดส์, แฟรงก์ ไรจ์การ์ด, รุด กุลลิต หรือแพทริก ไคลเวิร์ต


รถม้าทองคำนี้ทางเมืองอัมสเตอร์ดัมถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาแห่งเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 1898 มีภาพเขียนทาสแอฟริกันคุกเข่ารับใช้ทั้งที่ในเวลานั้นมีการเลิกทาสไปแล้ว ทุกวันนี้ยังคงเป็นประเด็นว่าควรลบภาพนี้ออกไปหรือไม่ ภาพจากทวิตเตอร์ redfishstream

                เคนเน็ธ เรนฟรัม จาก Amsterdams Center for the 30th of June ans the 1st of July (วันเลิกทาส) เรียกนักเตะเหล่านี้ว่าเป็น “ลูกทาส” เรนฟรัมใช้คำนี้เพราะต้องการย้ำเตือนกับสังคมคนขาวในเนเธอร์แลนด์ว่าพวกนักเตะเหล่านี้มาจากไหน อย่างไรก็ตาม การพูดเช่นนั้นไม่ได้ทำให้สังคมคนผิวขาวชาวดัตช์ตกอกตกใจมากนัก

                ทีมงานขององค์กรนี้ได้สัมภาษณ์เด็กหนุ่มผิวขาวชาวดัตช์ในวัยยี่สิบกว่าๆ ถึงสัญชาติของนักเตะผิวสี เขาตอบว่านักฟุตบอลเหล่านี้ไม่ใช่ดัตช์ แต่เป็น “ดัตช์-ซูรินามีส” เขาไม่อยากให้ทีมงานใช้คำว่าดัตช์ แม้จะยอมรับว่าพวกเขาเป็นนักเตะที่ยอดเยี่ยมก็ตาม

                ชายหนุ่มอีกคนให้สัมภาษณ์ว่า การค้าทาสและการเหยียดเชื้อชาติเป็นความรับผิดชอบของคนรุ่นก่อน และยังเสริมว่าการค้าทาสเป็นสิ่งชำรุดในอดีต คนต่อมาบอกว่า “ถ้าจะต้องตำหนิก็ต้องตำหนิชาติยุโรปทั้งหมด เพราะดัตช์เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในธุรกิจค้าทาส” คนหนุ่มอีกคนถึงขั้นพูดว่า “คนผิวดำควรก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้แล้ว” และเรื่องการรำลึกถึงอดีตการค้าทาสเป็นเรื่องของชุมชนคนผิวดำโดยเฉพาะ

                ดร.ดินเก ฮอนเดียส ศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์และนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Free University of Amsterdam อธิบายว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญสำหรับการขาดความรู้เกี่ยวกับการค้าทาสมาเป็นเวลายาวนาน ก็เพราะการค้าทาสถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไกลตัวในดินแดนโพ้นทะเลจนชาวดัตช์ในประเทศไม่ค่อยรู้สึกอะไร

                ความพยายามในการนำประวัติศาสตร์การค้าทาสมาสู่การรับรู้ของสาธารณชน ได้มีผู้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่หลายกลุ่มต้องเผชิญกับความท้าทายหลายรูปแบบ องค์กร The National Institute for the Study of Dutch Slavery and its Legacy (NiNsee) ศูนย์วิจัยและการศึกษาตั้งขึ้นเมื่อปี 2002 คือหน่วยงานหลักและมีความสำคัญในการทำงานด้านการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ, การค้าทาส และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังยุคอาณานิคม อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้หน่วยงาน NiNsee ถูกตัดงบประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นการบีบให้ต้องปิดตัวลง

                ไม่เคยมีใครบอกเด็กรุ่นปัจจุบันว่ากำไรจากกาแฟ น้ำตาล ข้าวสาลี และสินค้าอื่นๆ ที่ได้มีส่วนสร้างสรรค์กรุงอัมสเตอร์ดัมให้มีตัวเมืองและลำคลองที่สวยงามมากมายนั้นมาจากการใช้แรงงานทาสในอดีต สิ่งแสดงความเป็นตัวแทนของเรื่องราวเหล่านี้มีให้เห็นน้อยมาก อาจจะมีบ้างก็แค่แผ่นป้ายไม่กี่แผ่นที่แสดงให้ทราบตำแหน่งบ้านของอดีตเจ้าของทาส

                การขาดภาพตัวแทนแสดงถึงการค้าทาสของดัตช์ในอดีต บวกกับการให้ความรู้ในชั้นเรียนที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ความรับรู้และความสนใจของผู้คนชาวดัตช์ส่วนใหญ่ในทุกวันนี้มีจำกัดมาก อย่างกรณีเรือ De Leusden แทบไม่มีคนทราบประวัติ

                ในตอนต้นของศตวรรษที่ 17 ทาสทั้งชายและหญิงเริ่มได้เข้ามาในอัมสเตอร์ดัม เนื่องจากเจ้าของนำกลับมาจากไร่ในอาณานิคม ความเป็นแอฟโฟร-อัมสเตอร์ดัมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนับตั้งแต่ตอนนั้น มีหลักฐานอยู่ในภาพเขียนชายผิวดำ 2 คน โดยจิตรกรดังแห่งยุค “เรมบรอนต์ ฟอน ไรจ์” อย่างไรก็ตาม คนผิวดำก็ยังคงถูกมองเป็นสิ่งแปลกประหลาดในสังคมชาวดัตช์มาอีกเนิ่นนาน เห็นได้จากการจัดแสดงชาวซูรินาม จำนวน 27 คน เป็นเวลา 6 เดือน ในงาน “การแสดงสินค้านานาชาติอาณานิคมและการส่งออก” ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ปี 1883 ชาวซูรินามที่ถูกนำมาแสดงเรียกว่า “มารูน” (Maroon) ซึ่งก็คือทาสที่หลบหนีไปอยู่อาศัยในป่า จากนั้นถูกตามจับตัวกลับมาได้

                ภายหลังมีกฎหมายเลิกทาสในปี 1863 อดีตทาสและบรรดาลูกหลานเดินทางข้ามทวีปมายังอัมสเตอร์ดัมเพื่อมองหาโอกาสการทำมาหากินที่ดีกว่า และได้เข้ามาเป็นจำนวนมากหลังซูรินามได้รับเอกราชการปกครองในปี 1975 พร้อมๆ กับการเข้ามาของอดีตทาสจากอาณานิคมอีกหลายประเทศ รวมถึงจากหมู่เกาะแอนทิลีสและอารูบา

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าได้มีสังคมคนผิวดำเกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์แล้วกว่า 4 ศตวรรษ แต่ประเด็นการเหยียดผิว การเลือกปฏิบัติ และการฟอกขาวประวัติการค้าทาสของชาติยังคงมีมาจนถึงทุกวันนี้

                ดร.ฮอนเดียสชี้ว่า “การเหยียดเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ และความไม่เท่าเทียม เป็นผลลัพธ์โดยตรงที่เกิดขึ้นจากยุคการค้าทาส แต่ไม่มีใครกล้าเชื่อมโยงหรือพูดถึงมัน”

                ดร.อาร์ตเวล เคน ผู้อำนวยการ NiNsee ระบุว่า การขาดความตระหนักรู้และการอภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับยุคหลังอาณานิคมเป็นสิ่งขัดขวางการยอมรับอดีตการค้าทาสของดัตช์ เมื่อคลื่นผู้อพยพจากอดีตอาณานิคมไหลบ่าเข้าสู่เนเธอร์แลนด์ในคริสต์ทศวรรษที่ 1970-1980 รัฐบาลก็ได้จัดกลุ่มให้อยู่รวมกับแรงงานอพยพจากตุรกีและจากชาติอื่นๆ จากนั้นก็จัดทำนโยบายโดยเน้นไปที่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา

                “เป็นความผิดพลาดทางนโยบายที่ทำให้ผู้คนไม่รับรู้ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำในดินแดนอาณานิคม รวมถึงระบบเศรษฐกิจที่ผูกโยงกันระหว่างแคริบเบียนและเนเธอร์แลนด์”.

 

 

 

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"