น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ ‘ม็อบ’ ‘รัฐ’ ขยับแบบละมุนละม่อม


เพิ่มเพื่อน    

 

            อุณหภูมิการเมืองดูคุกรุ่น นับตั้งแต่การชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม  

                การชุมนุมดังกล่าวถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น เนื้อหา คำปราศรัย แถลงการณ์ และข้อเสนอในวันนั้น ทำให้สถานการณ์ในประเทศดูน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการเลยเถิดไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์  

                ฝ่ายที่สนับสนุนการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ร้อยกว่าชีวิต ส.ส.พรรคการเมืองบางคนมองว่า การชุมนุมนั้นเป็นไปตามกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่มีอะไรที่จาบจ้วงสถาบัน  

                นอกจากนี้ยังเห็นว่า ข้อเสนอของการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  

                ขณะที่หลายฝ่ายในประเทศกลับรู้สึกไม่สบายใจ และไม่พอใจต่อเนื้อหาดังกล่าว เพราะมองว่า การชุมนุม โดยเฉพาะผู้อยู่เบื้องหลังมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ 

                ไม่บริสุทธิ์ เพราะเห็นว่า การชุมนุมเลยข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ การหยุดให้รัฐบาลคุกคามประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภาฯ แต่ก้าวล่วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน 

                ฝ่ายที่ไม่พอใจต่อการเลยเถิดครั้งนี้เริ่มมีปฏิกิริยาอย่างกว้างขวาง มีการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแจ้งดำเนินคดี รวมถึงการประกาศจะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน 

                สถานการณ์ดูตึงเครียดหากยังมีการชุมนุมในลักษณะนี้อยู่ และเสี่ยงที่จะเดินไปสู่จุดที่จะมีการ “เผชิญหน้า”  

                หลายฝ่ายพูดตรงกันว่า หากการชุมนุมของนักศึกษายังอยู่ในกรอบเดิมที่เรียกร้องมาตั้งแต่แรก บางทีขนาดของม็อบอาจจะเติบโตเร็วกว่านี้ แต่ทันทีที่แตะต้องสถาบันเบื้องสูง มันทำให้กระแสตีกลับ 

                ขณะเดียวกัน การแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลมีเดีย การติดแฮชแท็ก การใช้คำพูด ยังเป็นไปในลักษณะเหมือนหัวรุนแรง จนทำให้ม็อบถูกมองว่าดูก้าวร้าว สวนทางกับความเป็นคนรุ่นใหม่  

                ปฏิกิริยาของอาจารย์ และนักการเมืองฝ่ายค้านหลายคน ที่มีทีท่าสนับสนุนการชุมนุมมาตลอดคือ สิ่งที่ตอกย้ำได้ว่า ม็อบกำลังเลยเถิดไปไกลกว่าจุดที่ควรจะเป็น และเป็นไปได้ โดยเฉพาะ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่รีบออกตัวว่า สนับสนุนการชุมนุม แต่ไม่เห็นด้วยกับการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์  

                อธิการบดี รองอธิการบดี ที่เกี่ยวข้องต่างออกแถลงการณ์ขอโทษ และชี้แจงต่อสังคม เพราะรู้ว่าหากเรื่องนี้ลุกลาม มันจะส่งผลเสียต่อประเทศอย่างร้ายแรง 

                ขนาดนักการเมืองและอดีตแกนนำนักเคลื่อนไหวอย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยังรู้สึกกังวลที่การชุมนุมทะลุเพดาน 3 ข้อ 

                “ถ้ายึดข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คนจะเข้าร่วมนับแสน สถานการณ์ถัดจากนี้เมื่อภูมิต้านทานหายไป จึงเร่งเกิดเหตุการณ์ในขั้นนับวันเท่านั้น ไม่ได้นับเดือน หรือปี ดังนั้นแต่ละขบวนการทางการเมืองจะนำไปสู่หายนะทั้งสิ้น และถ้าสุดโต่งของทั้ง 2 ฝ่ายมาเจอกันก็ต้องบรรลัยแบบ 6 ตุลา 2519” 

                แต่ในขณะที่สถานการณ์ร้อนแรง ท่าทีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับฝ่ายความมั่นคง กลับเป็นไปอย่างสุขุมนุ่มลึก ไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์กันว่า เจ้าหน้าที่น่าจะเข้าไปสกัดกั้นหรือจับกุมเหมือนที่ผ่านมา 

                หลังค่ำคืนอันแหลมคม มีท่าทีจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ แต่กลับไม่ใช่ท่าทีที่ขึงขัง นอกจากการแสดงความเป็นห่วงเยาวชน เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร ที่ยังไม่ได้แอ็กชั่นเหมือนที่ผ่านมา 

                “บิ๊กตู่” เองก็เหมือนยอมรับกลายๆ ถึงท่าทีที่อ่อนนุ่ม แม้จะมีการชุมนุมที่ร้อนแรง

                “การชุมนุมตามสิทธิขั้นพื้นฐานก็ต้องไปดูว่าการชุมนุมสามารถชุมนุมได้ แต่ละเมิดกฏหมายหรือไม่ก็ต้องไปดูตามกฏหมายที่มีอยู่ เพราะฉะนั้น จะทำอะไรก็ขอให้ใช้ข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์  ซึ่งทุกคนคงทราบดีอยู่แล้ว วันนี้การพูดจาผมเองก็ไม่อยากไปพูดให้เกิดปัญหาอีก ดังนั้น ต้องหาวิธีในการแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม” 

                นั่นเพราะปฏิกิริยาต่อต้านการชุมนุมจากฝ่ายรัฐ มีแต่จะเป็นน้ำมันที่เอาไปราดกองไฟที่กำลังลุกโชน หรือนำเรือเข้าไปขวางกับสายน้ำที่กำลังไหลเชี่ยว มันยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และมีแต่จะเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐกับผู้ชุมนุม 

                การเคลื่อนไหวต่อต้านการชุมนุมดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นจากคนในสังคมทั้งสิ้น และเป็นฝ่ายประชาชนเองที่เดินหน้าแจ้งความแกนนำผู้ชุมนุมตามจังหวัดต่างๆ  

                วิธีการนี้เป็นการปล่อยผู้ชุมนุมเดินไปสู่จุดที่ฝ่อเอง อันเนื่องมาจากข้อเรียกร้องที่เลยกรอบออกไปไกล ตรงกันข้าม หากรัฐเข้าไปยุ่มย่ามตอนนี้ อาจจะเข้าทางใครบางคนที่อยู่เบื้องหลังผู้ชุมนุม ที่หวังให้เกิดการเผชิญหน้า  

                รัฐบาลทำได้เพียงการใช้น้ำเย็นลูบ และส่งสัญญาณหาความสงบในประเทศออก

มาเป็นระยะๆ เหมือนกับแถลงการณ์ของ “บิ๊กตู่” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 

                “การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง ซึ่งกีดขวางการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวของคนไทยในการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นสิ่งที่ควรจะมีอยู่แค่ในอดีต เราต้องหยุดพูดคำว่าพวกเค้า หรือพวกเรา คนที่พูดว่า ฉันไม่ฟังเขา เพราะเค้ามีความเชื่อต่างกับฉัน หรือฉันจะไม่ไปเจอเขา เพราะเค้ามีความเชื่ออีกทางหนึ่ง เป็นคนที่ยังติดอยู่ในโลกการเมืองของเมื่อวาน เป็นยุคที่ผ่านไปแล้ว แนวคิดแบบ พวกเขา-พวกเรา ไม่ควรจะมีที่ยืนอีกต่อไป ในโลกปัจจุบัน ควรจะมีแต่คำว่าคนไทยด้วยกัน”     

                ขณะที่ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลพยายามใช้วิธีประนีประนอมมากที่สุด โดยการสั่งให้สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดรับฟังความคิดเห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่  

                สำหรับรัฐบาลแล้ว พยายามรักษาสถานการณ์ในประเทศให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยที่สุด เพราะลำพังสถานการณ์เศรษฐกิจอันมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เองก็มีแต่ทรุดถอยไปเรื่อยๆ หากปล่อยให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่อีกครั้ง มีแต่ฉุดให้ประเทศดิ่งลงเหว  

                อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีการพูดถึงเรื่องการสร้างความปรองดอง และการนิรโทษกรรมขึ้นมาอีกครั้ง โดยมองว่ามันอาจจะเป็นตัวหยุดชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่นี้ลงได้ 

                โดยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม สภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาเรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว 

                แต่ปรากฏว่า เป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมาคือ มีการถกเถียงและไม่เห็นด้วยกันหลายข้อ และแน่นอนว่า มันส่อเค้าจะล้มเหลวตามระเบียบ และไม่สามารถนำมาดับไฟครั้งนี้ได้

                การสร้างความปรองดอง และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะสำเร็จได้ ต้องเกิดจากความเห็นพ้องจากทุกฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมานอกจากจะไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ ยังล้วนแต่เป็นหัวเชื้อนำไปสู่ความขัดแย้ง อย่างเช่น สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

                หากรัฐบาลหมายมุ่งจะดับไฟครั้งนี้จริง เวทีเปิดรับฟังความเห็นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือเวทีต่างๆ ต้องถูกนำไปหารืออย่างจริงจัง มากกว่าการลดกระแสร้อน 

                หากข้อเรียกร้องของนักศึกษาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการหารือกันจากทุกฝ่าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นประเด็นที่เห็นพ้องกัน ไม่ใช่แค่แก้เพื่อลดกระแส  

                แม้แต่ประเด็นเรื่องที่มา อำนาจหน้าที่ของ ส.ว.เอง ที่มีข่าวมาตลอดว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้แตะต้อง แต่หากทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งจริง ก็ไม่มีเหตุที่จะยื้อยุดฉุดกระชากหากมันสามารถทำให้ประเทศสงบได้ 

                ทุกฝ่ายต้องไม่มีนัยแอบแฝง ซ่อนเร้น เพราะนั่นจะทำให้การดับไฟครั้งนี้เปล่าประโยชน์ และจะพาประเทศไทยกลับไปสู่จุดเดิมอีกครั้ง 

                การยั่วยุ ชิงชัง ต่อต้าน เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญ ไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อความสงบสุขในประเทศ เพราะสุดท้ายแล้วจะมีแต่ความเสียหายและสูญเสีย!!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"