"ทูตแคนาดา" ชมไทยจัดการโควิด-19 ได้ดี "วิษณุ”แจงโครงสร้างศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ไม่ได้ผูกกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "บิ๊กตู่" นัด คกก.ประชุมนัดแรก 19 ส.ค.นี้ "กกร." เล็งชง รบ.หาช่องทางการตลาดให้กับภาคธุรกิจสู้โควิดนอกจากให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ "ศบค." เผยติดเชื้อใหม่เพิ่ม 17 รายกลับจาก ตปท.
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 14 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี?และ รมว.กลาโหม ให้การต้อนรับนางซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับหน้าที่
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการหารือตอนหนึ่งว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งเอกอัครราชทูตแคนาดาชื่นชมการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ของไทย และมาตรการต่างๆ ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และนายกรัฐมนตรีชื่นชมบทบาทของแคนาดาในการสนับสนุนช่วยเหลือต่างๆ เพื่อการรับมือกับโรคโควิด-19 นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะร่วมมือกันในด้านการพัฒนาวัคซีน
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่าตนไม่ทราบจะมีการประชุมนัดแรกเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งรายชื่อคณะกรรมการชุดใหญ่ได้ถูกวางไว้แล้ว สำหรับคนที่จะเชิญมาเข้าร่วมเพิ่มเติมนายปรีดี ดาวฉาย รมว.การคลัง จะเป็นคนจัดเชิญมา?
"?ศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ไม่ได้ตั้งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่รูปแบบโครงสร้างจะเป็นการเลียนแบบ ศบค. โดย ศบค.ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจสำหรับสถานการณ์โควิด-19 แต่ศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะเศรษฐกิจ ไม่ต้องอาศัยพระราชกำหนดอะไรก็อยู่ต่อไปได้ จะเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ศูนย์นี้ก็อยู่ต่อไปได้ ตรงกันข้าม หากเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค.ก็ต้องไป
ถามว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจและข้อเสนอผูกพันอะไรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มี แต่ต่อไปนายกฯ อาจจะเพิ่มอำนาจให้ได้ เช่น หากมีข้อเสนอก็สามารถนำเข้า ครม.ได้ คล้ายๆ กับ ครม.เศรษฐกิจ
ซักว่าจะต้องมีโฆษกประจำศูนย์เหมือน ศบค.หรือไม่ เพราะถือว่ามีความสำคัญในการสื่อสารกับประชาชน รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ก็น่าจะต้องมี แต่ว่าไม่จำเป็นต้องใส่ในคำสั่ง เพราะสามารถมอบหมายในช่วงที่เข้าประชุมได้เลย เช่น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ก็ไม่ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง แต่ใช้วิธีมอบหมาย
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ช่วงเช้าจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนัดแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยการประชุมครั้งนี้ในส่วนของภาคเอกชนโดยผ่านคณะกรรมการ 3 สถาบัน หรือ กกร. จะมีการนำเสนอแผนงานเดิมที่เคยเสนอผ่านภาครัฐบาลมาแล้ว และติดตามความคืบหน้าประเด็นต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร แต่เมื่อนายกฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ น่าจะทำให้ประเด็นต่างๆมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
"ภาคเอกชนเห็นด้วยที่มีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อให้แนวทางการช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ภาคเอกชนไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต่อลมหายใจเอสเอ็มอี โดยให้เงินเยียวยาเพียงอย่างเดียวในช่วงนี้ธุรกิจจะไปไม่รอด ดังนั้นแนวทางการช่วยเหลือ นอกจากการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแล้ว จะต้องให้ความรู้และหาช่องทางการตลาดให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดด้วย" นายกลินท์กล่าว
ประธานหอการค้าไทยกล่าวว่า ภาคเอกชนจะต้องพร้อมเข้ามาช่วยเหลือร่วมกับภาครัฐบาล เพื่อให้ภาคธุรกิจทั้งระบบสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยทาง กกร.จะย้ำเรื่องเหล่านี้ต่อที่ประชุมด้วยเช่นกัน
วันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 17 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,376 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 2,444 ราย และตรวจพบในสถานที่กักตัวของรัฐ 439 ราย ยอดหายป่วยสะสม 3,173 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 145 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย
ศบค.ระบุว่า ผู้ป่วยรายใหม่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 54 ปี อาชีพช่างซ่อมแอร์ เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 31 ก.ค. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 3 ราย เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 12 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ ส่วนอีก 15 ราย มาจากอินเดีย เป็นหญิงไทย 6 ราย และชายไทย 9 ราย อายุระหว่าง 12- 72 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 2 ราย เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อวันที่ 12 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ ส่วนรายสุดท้ายเดินทางมาจากออสเตรเลีย 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 25 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. เข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อวันที่ 12 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ
"สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 21,081,638 ราย อาการรุนแรง 64,488 ราย รักษาหายแล้ว 13,911,757 ราย เสียชีวิต 753,479 ราย ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศวันที่ 14 ส.ค. จำนวน 512 ราย จากสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน และสหรัฐอเมริกา และวันที่ 15 ส.ค. จำนวน 732 ราย จากฟิลิปปินส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และฮ่องกง" ศบค.ระบุ
นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงการดูแลคนไทยในต่างประเทศว่า เราได้ดูแลคนไทยในต่างประเทศประมาณ 1,600,000 รายอย่างใกล้ชิด ส่วนแนวทางการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ จะจัดลำดับความสำคัญ โดยให้กลุ่มเปราะบางก่อน เช่น ผู้ป่วยและเยาวชน มีการกำหนดโควตาจากเดิมวันละ 200 ราย เป็นวันละ 600 ราย โดยเป็นไปตามมาตรการและการรองรับในสถานที่กักกันภายในประเทศด้วย
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีมีข้อกังวลคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ 14 วัน แล้วจะมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนไทยในประเทศหรือไม่ และในบางคนที่ตรวจไม่พบเชื้อแล้วแต่ยังมีอาการไอหรือไม่ได้กลิ่นอยู่บ้าง เหล่านี้ยังสามารถแพร่เชื้อได้หรือไม่ว่า ถ้าเป็นคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ ทุกคนต้องเข้ากักกัน 14 วัน ถ้าตรวจพบเชื้อจะนับใหม่ไปอีก 14 วัน และให้กักตัวที่บ้านต่อ
"กรณีที่มีข่าวคนไทยกลับจากญี่ปุ่นหรือจากเมืองไทยกลับไปถูกแยกกักกันเพราะเจอเชื้อโรค หรือกรณีการรักษาที่ต่างประเทศแล้วกลับบ้านไปมีอาการไอ ไข้หวัด ขอเรียนว่าหลักฐานจนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะในประเทศไทยไม่มี ส่วนใหญ่ที่เจอเป็นไข้หวัดใหญ่หรืออื่นๆ และหากมีอาการคล้ายโควิด เราก็จะขอแยกมากักกันทั้งหมด ผมขอให้ความมั่นใจประชาชนชาวไทยว่า ภาครัฐมีมาตรการที่เข้มงวดในการดูแลผู้กลับจากต่างประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง และไม่มีวีไอพี ทุกคนต้องกักตัว" อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |