14 ส.ค.63 - ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่เชิญนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด และนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และอดีตอัยการสูงสุด (อสส.) มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เกี่ยวกับกรณีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555
นายวิชา แถลงข่าวว่า นายอรรถพลได้ยืนยันในความคิดเห็นกรณีที่ได้รับเอกสารจากผู้หวังดีว่า ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด เคยมีความเห็นยุติการพิจารณาร้องขอความเป็นธรรมคดีนี้แล้ว จุดสำคัญเรื่องนี้ นายอรรถพลเห็นว่า นายเนตรได้หยิบยกเรื่องร้องขอความเป็นธรรมมาพิจารณาอีกครั้ง ทั้งๆที่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ได้สั่งยุติเรื่องไปแล้ว โดยขณะนั้นได้ดำเนินการฟ้องคดีไปตามคำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ และท่านเองเห็นว่าจะหยิบมาพิจารณาอีกไม่ได้ หรือจะหยิบมาพิจารณาได้ก็ต้องให้อัยการสูงสุดชุดปัจจุบันต้องรับทราบด้วย เพราะหากสั่งไปแล้วโดยที่ไม่พิจารณาโดยรอบคอบ ถือว่าเป็นการสั่งฟ้องคดีโดยไม่ชอบ ซึ่งนายอรรถพล แจ้งว่าขอให้รอติดตามการพิจารณาของ ก.อ. ที่จะมีการประชุมในวันที่ 18 ส.ค.นี้ ทราบว่าเป็นการพิจารณาเรื่องดุลพินิจ ซึ่ง ก.อ.จะชี้เรื่องวินัย และพิจารณาเรื่องความผิดหรือไม่ผิดของข้าราชการอัยการ
นายวิชา กล่าวด้วยว่า นายอรรถพลบอกว่าได้แจ้งเรื่องนี้ให้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุดรับทราบแล้ว แต่นายวงศ์สกุล นิ่งเฉยไม่ตอบว่าจะเอาอย่างไร ในที่สุดจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจดังกล่าว
“ความเห็นของนายอรรรพล ตรงกับความเห็นของท่านคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด บอกว่าเรื่องนี้ไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่าของการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบอำนาจอย่างนายเนตรที่ได้รับมอบจากอัยการสูงสุดให้ปฏิบัติหน้าที่ และนายเนตรก็ยังไม่ได้เป็นรองอัยการสูงสุดโดยสมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ กล่าวคือสั่งการไปในฐานะอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ทำหน้าที่รักษาราชการตำแหน่งรองอัยการสูงสุด และปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด คือสามต่อเลย ฉะนั้นเรื่องนี้มีประเด็นปัญหาที่น่าคิดอีกเยอะ และเป็นข้อกฎหมายที่จะนำไปสู่การพิจารณาของเราด้วย” นายวิชา กล่าวและว่า จะเชิญนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มาชี้แจงกับคณะกรรมการภายในสัปดาห์หน้า
นายวิชา กล่าวด้วยว่า ขณะที่นายเนตร ชี้แจงว่า ท่านไม่ได้ดูรายละเอียดสำนวนคดีนี้ตั้งแต่แรก และเป็นการสั่งตามที่ทนายความร้องขอความเป็นธรรม และสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดเป็นคนตั้งเรื่องส่งมาให้พิจารณา โดยนายเนตรบอกว่า ได้มาดูสำนวนจริงๆ ก็ภายหลังที่ตำรวจได้ดำเนินการสอบปากคำประกอบสำนวนมาให้แล้ว ดังนั้นนายเนตรยืนยันว่าสั่งคดีโดยถูกต้อง และไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของนายอรรถพล พร้อมยืนยันว่า ท่านทำถูกต้องทุกอย่าง เพราะท่านสั่งโดยมีอำนาจ จะร้องขอความเป็นธรรมกี่ครั้ง ท่านก็เห็นว่าทำได้ตลอด หมายความว่า การสั่งนี้ไม่ถือเป็นการลบล้างคำสั่งของอดีตอัยการสูงสุดที่สั่งให้ยุติคดีไปแล้ว เพราะเป็นการสั่งเกี่ยวกับเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ไม่เกี่ยวกับเรื่องสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในสำนวน
“ผมถามท่านเนตรว่า ได้รายงานอัยการสูงสุดทราบหรือไม่ ท่านบอกว่าไม่จำเป็น และไม่จำเป็นต้องรายงานเพราะท่านมีอำนาจโดยสมบูรณ์ นี่คือความเข้าใจของท่าน ส่วนจะเข้าใจถูกหรือผิด ผมไม่รู้ และเป็นเรื่องที่ประชุม ก.อ. จะพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป” นายวิชากล่าว
ส่วนกรณีการยื่นหนังสือลาออกของนายเนตรเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิชา กล่าวว่า นายเนตรยืนยันว่าลาออกโดยตัวเอง ต้องการทำให้องค์กรหมดความยุ่งยาก แต่ว่าการลาออกจะมีผลก็ต่อเมื่ออัยการสูงสุดสั่งอนุญาตและอนุมัติให้ลาออก แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สั่งอนุมัติลาออก ดังนั้นท่านยังเป็นรองอัยการสูงสุดอยู่
นายวิชา กล่าวด้วยว่า ในวันจันทร์ 17 ส.ค.นี้ คณะทำงานชุดตรวจสอบตำรวจ โดย พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม จะเชิญคณะทำงานของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาให้ข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อาคารเทเวศร์ เวลา 13.30 น. โดยในวันดังกล่าวจะเชิญ พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาให้ข้อมูลด้วย ในฐานะที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ เป็นพยานปากสำคัญ ที่จะต้องได้รับความดูแลให้เป็นอย่างดีและจะต้องมาให้ถ้อยคำด้วย ส่วนคณะทำงานชุดใหญ่จะประชุมกันอีกครั้งในวันอังคารที่ 18 ส.ค. นี้ เวลา 13.30 น. เช่นกัน ส่วนคณะทำงานตรวจสอบบุคคลทั่วไป ที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเรื่องความเร็วและโคเคน ซึ่งเราจะนำมาประกอบการพิจารณาว่า มีการทำสำนวนบกพร่องจริงหรือไม่
นายวิชา กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้คณะกรรมการฯ ตรวจสอบให้ถูกใจประชาชนที่สุด คือจะต้องเอาคดีนายวรยุทธไปถึงศาลให้ได้ นี่คือเป้าหมายจริงๆ ของเรา คดีต้องไม่ยุติอยู่แค่นี้ และจะต้องไปให้ถึงศาล เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไปว่า ความยุติธรรมยังคงอยู่
นายวิชา กล่าวด้วยว่า เราจะต้องยอมรับว่าตำรวจและอัยการไม่เหมือนศาล เพราะศาลมีกฎหมายที่เขียนไว้ชัดเจนคือประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ถ้าหากทำอะไรผิด ผู้พิพากษาสามารถจะเพิกถอนได้ตลอดเวลา ซึ่งตนที่เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาก็เคยสั่งผิด แต่วันรุ่งขึ้นก็สั่งใหม่ เราไม่ถือว่าเป็นความผิดเลย และยังถือว่าเป็นคนที่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะแก้ไขอะไรได้ด้วยตัวเองถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในโลก
ส่วนคดีนายวรยุทธ ที่เกี่ยวข้องกับตำรวจและอัยการ มีเรื่องเกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ไม่สามารถชี้ได้ว่าใครถูกใครผิด แต่เรื่องนี้มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาอยู่แล้ว และจากข้อเท็จจริงที่เราได้ก็ต้องนำมากรอง เพราะเราไม่ใช่อัยการหรือตำรวจ ดังนั้นในเมื่อเราคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบเรื่องทั้งหมด จึงต้องบูรณาการ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |