ลุ้นกันมาหลายเดือน ท้ายสุด โจ ไบเดน ตัวแทนพรรคเดโมแครตที่จะโค่น โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ก็สร้างประวัติศาสตร์ฉากใหม่
ด้วยการเลือกสตรีผิวสีเชื้อสายเอเชียลงสมัครเป็นคู่หูในตำแหน่งรองประธานาธิบดี
เธอคือ คามาลา (หรือถ้าให้คล้ายกับภาษาไทยหน่อยก็ต้องเรียกเธอว่า "กมลา") แฮร์ริส
ความที่เธอมีคุณแม่เป็นคนอินเดียและคุณพ่อเป็นชาวจาเมกา คุณคามาลาบอกว่าชื่อเธอในภาษาฮินดีแปลว่า "ดอกบัว"
ซึ่งก็ตรงกับคำว่า "กมลา" นั่นเอง
คุณคามาลา เป็นนักการเมืองหญิงระดับชาติของสหรัฐฯ ปีนี้อายุ 55 ตำแหน่งปัจจุบันคือสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย
การที่เธอถูกเลือกมาเป็นเบอร์สองของพรรคเดโมแครตในการชิงชัยครั้งนี้มีความพิเศษหลายอย่าง
ถ้าไบเดนชนะ (ซึ่งโพลล่าสุดก็ยืนยันอย่างนั้น) คุณคามาลาจะเป็นผู้หญิงอเมริกันคนแรกที่ได้เป็นรองประธานาธิบดี
เธอจะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกในตำแหน่งนั้น
อีกทั้งเธอต้องพร้อมจะขึ้นมารับหน้าที่ประธานาธิบดีหากไบเดน (จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบขาวได้
หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง นั่นหมายความว่าเธอจะกลายเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้หญิง
ไบเดนอายุ 77 หากเป็นประธานาธิบครบเทอมก็เป็นชายชราในวัย 81
อาจจะเป็นเหตุผลด้านอายุด้วยกระมังที่เขาเลือกคนวัย 55 มาถ่วงดุลแห่งวัยเอาไว้
แต่เหตุผลที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า ก็คือการที่คามาลาจะสามารถดึงฐานเสียงผู้หญิงและคนผิวดำกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มาลงคะแนนให้โจ ไบเดนด้วย
คามาลาไม่ใช่ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้เคยมีสตรีสองคนที่เข้าข่ายนี้คือ
ส.ส.หญิง เจอรัลดีน เฟอร์ราโร ของพรรคเดโมแครตในปี 1984
กับซาราห์ เพลิน อดีตผู้ว่าการรัฐอะแลสกาของพรรครีพับลิกันในปี 2008
แต่ทั้งสองชวดโอกาสได้เข้าทำเนียบขาว
แต่ที่แน่ๆ คือสหรัฐฯ ก็ยังไม่เคยมีรองประธานาธิบดีสตรีมาก่อนเลย
คามาลาจึงสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งให้การเมืองอเมริกัน ในฐานะสตรีเชื้อสายเอเชียและแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจากพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ
เส้นทางการเมืองของเธอไม่ธรรมดา เรียนกฎหมายและทำงานเป็นอัยการในระดับต่างๆ ของแคลิฟอร์เนีย
เธอต่อสู้เพื่อคนยากไร้ในเรื่องกฎหมายมาตลอดจนได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 2016 นี้เอง
คามาลาเกิดที่เมืองโอ๊กแลนด์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย พ่อเป็นชาวจาเมกา แม่เป็นชาวอินเดีย
เธอได้รับเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่นครั้งแรกเมื่อปี 2003 ในฐานะอัยการเขตนครซานฟรานซิสโก
ต่อมาอีกเจ็ดปี เธอก็ได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย
คามาลากระโจนเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในปี 2016
และประสบความสำเร็จทันทีโดยได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสองวุฒิสมาชิกสตรีผู้เป็นตัวแทนของรัฐแคลิฟอร์เนีย
อยู่ในตำแหน่งแค่ 4 ปีแต่ก็มีผลงานโดดเด่นของพรรคเดโมแครต
กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงอย่างรวดเร็ว
เพราะเธอกล้าออกมาท้าตีท้าต่อยโดนัลด์ ทรัมป์อยู่เนืองๆ
ความจริงเธอเสนอตัวแข่งกับไบเดน และคนดังของโมแครตอีกกว่า 10 คนเพื่อให้พรรคเลือกเป็นตัวแทนของพรรค
แต่ก็ต้องถอนตัวออกไปในช่วงต้นๆ เพราะแรงสนับสนุนทางด้านเงินบริจาคไม่พอที่จะยืนหยัดสู้ถึงช่วงสุดท้าย
แม้ระหว่างการดีเบตภายในพรรคจะดุเดือด และเธอก็โจมตีไบเดนในหลายโอกาส แต่ไบเดนก็ไม่ถือสา ยังต้องการเธอมาร่วมสงครามสู้กับทรัมป์และรองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ในครั้งนี้
จุดแข็งของเธอคือ ประวัติการทำงานที่สู้เพื่อช่วยปกป้องสวัสดิการด้านสุขภาพของประชาชน
ภูมิหลังเกี่ยวกับงานด้านการรักษากฎหมายก็มีส่วนช่วยเธอให้เป็นที่ยอมรับ
อีกทั้งจุดยืนทางการเมืองที่ค่อนไปในแนวสายกลาง หรือที่เรียกกันว่า "กลางซ้าย"
บางครั้งคามาลาเคยถูกวิพากษ์ว่าไม่สนใจประเด็นการแบ่งแยกสีผิวและการใช้กำลังรุนแรงของตำรวจในสังคมอเมริกันมากพอ
แต่เธอก็เสนอตัวว่าเป็นอัยการแนวก้าวหน้า ให้การสนับสนุนการปฏิรูประบบการทำงานของผู้รักษากฎหมายในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องและจริงจัง
มีการมองข้ามช็อตไปด้วยซ้ำว่า หากเธอได้เป็นรองประธานาธิบดีของไบเดนครั้งนี้
ป้ายหน้าคือตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2024!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |