14 ส.ค.63 -นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง เปิดเอกสาร ตัวละครลับผู้พา รศ.ดร.สายประสิทธิ์ มาเจอ พ.ต.อ.ธนสิทธิ จนทำให้ความเห็นเรื่องความเร็วในคดีบอส อยู่วิทยา เปลี่ยนไป มีเนื้อหาดังนี้
.
เมื่อวานนี้ (13 สิงหาคม 2563) ในห้องประชุมกรรมาธิการกฎหมาย พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐานคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ที่เปลี่ยนความเห็น เรื่องความเร็วจาก 177 เหลือ 79.22 กม./ชม. ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีบอส อยู่วิทยา
.
พ.ต.อ.ธนสิทธิฯ ได้กล่าวในห้องประชุมกรรมาธิการฯ ว่ามีผู้บังคับบัญชาระดับสูงนำตัว รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม มาพบในห้องทำงานของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วย และนำสมมติฐานของคดีว่าเป็นวิธีใหม่ที่คำนวณได้ และนำส่งเอกสาร 10 หน้า ที่ระบุความเร็วที่ 79.22 กม./ชม. ในขณะนั้นเจ้าตัวมีเวลาจำกัด และเกิดแรงกดดันจนทำให้มีการเปลี่ยนความเห็นเรื่องความเร็วต่อพนักงานสอบสวน
.
ทำให้ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจและถูกตั้งคำถามจากสาธารณชน ว่าใครผู้บังคับบัญชาระดับสูงคนนั้น
.
พี่น้องประชาชนครับ คดีนี้เป็นมหากาพย์อันน่าอัปยศในกระบวนการยุติธรรมไทย ยิ่งค้นยิ่งเจอเรื่องแย่ ยิ่งสืบยิ่งเจอคนที่เกี่ยวข้องชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะกล้าทำได้ ผมในฐานะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ได้รับเอกสารชี้แจงลำดับเหตุการณ์ กรณีคำนวณความเร็วรถนายวรยุทธ อยู่วิทยา จาก พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ ซึ่งได้ระบุชื่อชัดเจนว่าผู้บังคับบัญชาระดับสูงคนนั้นเป็นใคร
.
ผมขอสรุปลำดับเหตุการณ์ให้พอสังเขปดังนี้นะครับ
.
1. พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น (ยศในขณะนั้น) เป็นเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุมาตั้งแต่วันเกิดเหตุ 3 กันยายน 2555 และเป็นผู้ออกรายงานการตรวจพิสูจน์ยืนยันความเร็วที่ 177 กม./ชม. ลงวันที่ 26 กันยายน 2555
.
2. หลังจากนั้นอีก 4 ปี คือเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี ผกก.สอบสวน สน.ทองหล่อ ได้เดินทางมาพร้อมกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. และ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ขอเข้าพบ พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ที่สำนักงานของ พล.ต.ท.มนูฯ
.
3. ในวันเดียวกันนั้น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. ได้แนะนำ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ ให้ผู้แทนกองพิสูจน์หลักฐานกลางทำความรู้จัก และแจ้งว่า รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ มีสมมติฐานอีกวิธีมานำเสนอการหาอัตราความเร็วของรถยนต์ที่นายวรยุทธ เป็นผู้ขับขี่ โดยนำเสนอรายงานการวิเคราะห์จำนวน 10 หน้า ระบุความเร็ว 79.22 กม./ชม. และได้มอบเอกสารดังกล่าวให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง
.
4. ในวันเดียวกันนั้นได้มีการสั่งการให้ พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ เข้าร่วมพิจารณากับ พ.ต.อ.วิรดลฯ ในสำนักงานกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ซึ่ง พ.ต.อ.วิรดลฯ ได้ส่งเอกสารสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 14 มกราคม 2559 โดยข้อความท้ายหนังสือดังกล่าวระบุว่าให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีสอบสวนเพิ่มเติม พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ และส่งผลการสอบสวนให้พนักงานอัยการภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ ได้มีการคำนวณความเร็วตามสมมติฐานของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ ในกระดาษอีกแผ่นซึ่งได้ค่าใกล้เคียงกัน พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ ลงนามไว้ว่าเป็นการคำนวณของตนเอง
.
5. พร้อมกันนั้น พ.ต.อ.วิรดลฯ ให้ พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ ให้ปากคำเรื่องการคำนวณตามสมมุติฐานของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ โดยถามถึงความคลาดเคลื่อนที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการคำนวณตามรายงานการตรวจพิสูจน์ เมื่อ 26 กันยายน 2555 ที่ได้ 177 กม./ชม. ซึ่ง พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ ได้ให้ปากคำว่าอาจเกิดขึ้นได้ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ ส่วนในเรื่องความคลาดเคลื่อนตามสมมุติฐานของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ ซึ่งในเวลานั้นเพิ่งได้เห็นสมมุติฐานของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ เป็นครั้งแรก จึงไม่สามารถบอกได้ว่ามีความคลาดเคลื่อนหรือความบกพร่องอย่างไร
.
6. พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ ได้ให้ปากคำในวันนั้นจนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. สุดท้ายจึงลงนามในเอกสาร 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 อีกฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2559 โดยมีการให้เหตุผลว่าถูกเร่งรัดให้รีบดำเนินการ
.
7. ต่อมา 29 มีนาคม 2559 พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ นำรายงานการคำนวณของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ มาให้ ร.ต.อ.ชวลิตฯ ร.ต.ท.ปิยวัฒน์ฯ ตรวจสอบ พบว่าการกำหนดให้ค่าตัวแปรต่างๆ ของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ ผิดไปจากความเป็นจริงมาก จึงทำให้ความเร็วที่ได้เท่ากับ 79.22 กม./ชม. ซึ่งเป็นค่าคำนวณที่ไม่ถูกต้อง จึงได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาขอให้ประสานไปยัง พ.ต.อ.วิรดลฯ ผกก. สอบสวน สน.ทองหล่อ เพื่อขอให้ปากคำเพิ่มเติมยืนยันผลการตรวจพิสูจน์ที่ 177 กม./ชม. ตามรายงานเดิม ซึ่งในวันนั้นผู้บังคับบัญชาได้โทรประสาน พ.ต.อ.วิรดลฯ ทันที แต่ พ.ต.อ.วิรดลฯ ปฏิเสธว่าไม่สามารถสอบปากคำเพิ่มเติมได้และได้ส่งเอกสารการให้ปากคำให้กับพนักงานอัยการแล้ว พร้อมทั้งยังได้อ้างเหตุว่าคดีเรื่องขับรถเร็วขาดอายุความไปแล้ว ทำให้ผู้บังคับบัญชาและ พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ สำคัญผิดว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกใช้ในสำนวนแล้ว แต่ พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ ยืนยันกับผู้บังคับบัญชาว่าจะให้ปากคำเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องในสำนวน
.
8. ต่อมา 21 กรกฎาคม 2559 พ.ต.อ.ธนสิทธิฯ ได้เดินทางไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ แต่เมื่อไปถึงห้องประชุมได้มีเจ้าหน้าที่สภามาแจ้งว่าขอเลื่อนการประชุมออกไปก่อนและไม่เคยมีใครติดต่อไปจนปัจจุบัน
.
9. ต่อมา 11 สิงหาคม และ 4 กันยายน 2560 พ.ต.อ.ธนสิทธิฯ เดินทางไปให้ถ้อยคำกับจเรตำรวจและสำนักงาน ป.ป.ช. และได้แจ้งว่าขอเพิ่มเติมความเห็นในกรณีความเร็วของรถ ว่าสามารถพบความบกพร่องของสมมุติฐานในการคำนวณความเร็วของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ ดังนั้นความเร็ว 79.22 กม./ชม. จึงไม่ถูกต้อง ซึ่งทั้งมีบันทึกคำให้การถูกคัดถ่ายเป็นสำเนาไว้
.
โดยสรุป
.
รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ ถูกนำตัวมาพบกับสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โดยอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ชื่อว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจในขณะนั้นคือ พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ให้ พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ พิจารณาสมมุติฐานของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ฯ ซึ่งการสอบปากคำ พ.ต.ท.ธนสิทธิฯ ต่อพนักงานสอบสวนเป็นการให้ปากคำในทางวิชาการ แต่ไม่ถือว่าเป็นผลการตรวจพิสูจน์ เพราะยังไม่มีการยกเลิกรายงานการตรวจพิสูจน์เดิมของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง
ดังนั้นในความเห็นของ พ.ต.อ.ธนสิทธิฯ (ยศปัจจุบัน) เขายืนยันว่าไม่ได้กลับคำให้การในเรื่องการคำนวณความเร็วแต่อย่างใด
.
พี่น้องประชาชนครับ นี่คือการสรุปข้อเท็จจริงจากเอกสารชี้แจงของ พ.ต.อ.ธนสิทธิฯ มีลำดับเหตุการณ์ซึ่งผมได้โพสต์รูปไว้แล้วพี่น้องสามารถอ่านและพิจารณาโดยละเอียดได้
.
สำหรับตัวผมในฐานะของกรรมาธิการการกฎหมายฯ จะเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเชิญบุคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะนายตำรวจระดับสูงหลายคน ตามเอกสารฉบับนี้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการในการประชุมโอกาสต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |