ม็อบเยาวชนภายใต้ชื่อ 'กลุ่มนักเรียนเลว' ที่รวมตัวกันเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยดำเนินการแก้ไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ออกแถลงการณ์ระบุปัจจุบันสิทธิของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้มีการคุ้มครองอย่างชัดเจนไว้ในกฎหมายใดๆ ทำให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากถูกปฏิบัติด้วยความไม่เข้าใจในเพศวิถีของนักเรียน บางคนถูกปฏิบัติอย่างเพศชาย บางคนถูกปฏิบัติอย่างเพศหญิง โดยใช้เพศกำเนิดที่มีแค่ 2 เพศ เป็นตัวตัดสินเพศของนักเรียนว่าจะเป็นชายหรือหญิง และมีส่วนน้อยที่เข้าใจในเพศที่หลากหลายของนักเรียน
พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อต่อ ศธ. เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศให้กับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไล่เรียงตั้งแต่ 1.ศธ.ต้องปรับปรุงและแก้ไขระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 โดยต้องระบุให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีสิทธิในการเลือกทรงผมตามเพศวิถีของตนเอง 2.นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องมีสิทธิเลือกที่จะใส่ชุดนักเรียนตามเพศวิถีของตนเอง และ ศธ.ต้องออกแบบชุดนักเรียนเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนที่มีความลื่นไหลทางเพศ หรือยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีสิทธิที่จะแต่งกายได้ตามเพศของตนเอง
3.ตรวจสอบ เรียกคืน และยุติการจัดจำหน่ายหนังสือเรียนที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศในมุมมองที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งให้ยกเลิกแบบประเมินและกฎระเบียบของโรงเรียนต่างๆ ที่ยังมีการเหยียดเพศหรือลดทอนศักดิ์ศรีความป็นมนุษย์ของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ และ 4.ขอให้ ศธ.กำชับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ปฏิบัติต่อนักเรียนทุกๆ เพศอย่างเท่าเทียมกัน และห้ามดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือกลั่นแกล้งนักเรียนด้วยเรื่องเพศ การเคลื่อนไหวของม็อบเยาวชนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และกระแสดังในโซเชียลมีเดีย
เรื่องเรียกร้องขอสิทธิในการตัดผมจนถึงเครื่องแบบนักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลนั้น มีการถกเถียงไม่จบ ฝ่ายโรงเรียนและผู้สนับสนุนเห็นว่ากฎระเบียบเป็นการบ่มเพาะให้เด็กๆ เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพกฎเกณฑ์ของบ้านเมือง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องหาความสมดุลระหว่างคำว่าการละเมิดสิทธิกับการให้เสรีภาพ ตลอดจนตั้งคำถามถึงความพร้อมของพ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียน หรือโรงเรียน หากให้นักเรียนปฏิบัติตามเพศวิถีตัวเองอย่างอิสระ
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และกุมารแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า เยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้ป่วยหรือเป็นโรค ถือเป็นภาวะปกติ อยากให้สังคมปรับทัศนคติเรื่องนี้เสียก่อน แม้แต่เด็กชายวัย 3 ขวบที่รู้สึกในเพศที่ต่างจากเพศสภาพโดยกำเนิด ก็ไม่ใช่ความผิดปกติ ทัศนะของตนต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลวเห็นว่า ข้อที่ 3 และข้อที่ 4 กระทรวงศึกษาธิการสามารถรับและเร่งดำเนินการได้ทันที เพราะความเท่าเทียมทางเพศควรได้รับการแก้ไข หากพบความผิดพลาดในตำราเรียนหรือทัศนคติของครูอาจารย์ดูหมิ่น เหยียดหยาม เพราะเยาวชนกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลเฉกเช่นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หากครูมีทัศนคติเป็นลบ จะคิดว่าเด็กๆ เหล่านี้เป็นตัวตลก
“ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องทรงผมก็สามารถปลดล็อกได้ระดับหนึ่งเพื่อไม่ให้ตึงเครียด กฎระเบียบการตัดผมไม่ต้องเด็ดขาดจนเกินไป ที่ฝ่ายสนับสนุนบอกว่านี่คือการสร้างวินัย ผมไม่เห็นด้วย เพราะวินัยคือผลในการรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างสันติสุข แต่ข้อเรียกร้องเรื่องเครื่องแบบให้มีสิทธิแต่งกายได้ตามเพศของตนเอง ในระดับนักเรียนมัธยมต้นและปลายเร็วเกินไปในการตัดสินใจ บางคนยังไม่ชัดเจน อาจมีกิริยาท่าทางต่างจากเพศโดยกำเนิด แต่ก็ยังไม่ใช่ จำเป็นอย่างยิ่งต้องเตรียมความพร้อมสังคม ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน โดยเฉพาะการเปิดใจ ไม่เช่นนั้นจะช็อกสังคม ผู้ใหญ่ยังไม่ทันตั้งหลัก โรงเรียนเตรียมห้องน้ำสำหรับนักเรียนเพศทางเลือกพร้อมหรือยัง หรือหากชายแต่งชุดนักเรียนหญิงเข้าใช้ห้องน้ำหญิงจะดูแลความปลอดภัยอย่างไร เพราะอาจเป็นไบเซ็กชวลที่ชอบคนทั้ง 2 เพศ ทั้งชายและหญิงก็ได้" รศ.นพ.สุริยเดวกล่าว
กุมารแพทย์เด็กและวัยรุ่นกล่าวด้วยว่า ระหว่างพัฒนาการทางเพศในเด็กและวัยรุ่นสามารถใช้วิชาเพศศึกษาในการเรียนการสอนที่ช่วยเหลาคมความคิดเด็ก สร้างการถกแถลง และพัฒนาหลักสูตรการสอนเพศวิถีศึกษาขั้นสูง สร้างภูมิคุ้มกัน อีกทั้งต้องสำรวจความพร้อมของโรงเรียน ตลอดจนคณะกรรมการสถานศึกษาที่ร่วมสร้างแนวปฏิบัติให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ หากไม่มีการเตรียมการสิ่งที่เรียกร้องจะกลายเป็นดาบสองคม โดยเฉพาะเครื่องแบบ หากชายแต่งหญิง พ่อแม่ต้องเตรียมใจ พ่อแม่นักเรียนคนอื่นก็ล้อเลียน นี่เป็นจิตวิทยามวลชนที่เป็นปัญหาอย่างแน่นอน
“การเรียกร้องเรื่องทรงผม เครื่องแต่งกาย หลักสูตร เป็นการปะทะทางความคิดระหว่างใหม่และเก่า ผู้ใหญ่มีธงอยู่แล้ว และไม่ลดราวาศอก หากผู้ใหญ่ไม่มีธง ฟังเหตุผล ขณะที่เด็กก็ไม่ใช้อารมณ์และมีเหตุผล หากทั้งสองฝ่ายเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน อยู่บนความปรารถนาดี และดำรงพฤตินิสัยที่ดี ที่เรียกว่าคุณธรรม แม้คนคนนั้นมีความหลากหลายทางเพศ จัดการตัวเองได้ มีความสำนึกรับผิดชอบ นี่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ต้องมาแบ่งกันด้วยเพศหรือเครื่องแบบนักเรียน ทั้งผู้ใหญ่และเด็กต้องเปิดใจ สร้างการเรียนรู้ไปด้วยกันบนฐานคุณธรรม เพราะสังคมปัจจุบันแค่เพศชายและเพศหญิงยังขาดความเข้าใจ เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย" รศ.นพ.สุริยเดวกล่าว
ส่วนคำว่า "ละเมิดสิทธิ" ที่ปรากฏในถ้อยแถลงการณ์กลุ่มนักเรียนเลวนั้น รศ.นพ.สุริยเดวบอกสั้นๆ ว่า สิทธิเป็นอำนาจชอบธรรมในการกระทำใดๆ ได้อย่างอิสระ โดยเป็นสิทธิที่สามารถทำความเข้าใจและสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
อีกทัศนะ รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการการศึกษานานาชาติ รร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า เรื่องนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ และทรงผมนักเรียนมีการโต้แย้งกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว การที่นักเรียนมีความหลากหลายทางเพศต้องตัดผมหรือแต่งกายตามกฎระเบียบโรงเรียน ไม่ได้แปลว่าเด็กๆ ถูกละเมิดสิทธิ แต่โรงเรียนมีกฎระเบียบเพื่อให้นักเรียนปฏิบัติตาม ไม่สามารถใช้เรื่องเพศสภาพเป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติ เพราะนี่คือกติกาที่นักเรียนทุกคนในโรงเรียนใช้อยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ การมีนักเรียนสมัครเข้าโรงเรียน ผู้ปกครองลงนามรับทราบ ก็หมายถึงการยอมรับในการปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว อย่างการไว้ทรงผมของนักเรียนโรงเรียนสาธิตเกษตรฯ ครูไม่ได้เข้มงวดมาก นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ สามารถซอยผมได้ ถ้าไว้ยาวก็รวบให้เรียบร้อย ไม่ยาวประบ่า นักเรียนชายสามารถไว้รองทรงสูงได้ ไม่ใช่สั้นเกรียน ส่วนช่วงปิดเทอม นักเรียนจะตัดผมไม่ว่าทรงไหน ซอยผม ดัดผม ทำสี ไฮไลต์ หรือทำลวดลายก็เป็นสิทธิเสรีภาพของพวกเขา
“กรณีนักเรียนถูกโรงเรียนบังคับตัดผมสามารถทำได้ ถ้าทรงผมผิดระเบียบ แต่วิธีการปฏิบัติต้องไม่ใช่การดูถูก เหยียดหยาม ตัดหรือกล้อนผมแบบทำร้ายเด็กให้อับอาย ซึ่งตามขั้นตอนก่อนจะถึงจับตัดผม เด็กต้องผ่านการตักเตือน คาดโทษมาแล้ว เด็กต้องเรียนรู้การเคารพกติกา กรณีที่กลุ่มนักเรียนบอกว่ากฎระเบียบล้าสมัย ไม่เข้ากับยุคปัจจุบันที่นักเรียนมีความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นกฎที่ละเมิดสิทธิ ครูและโรงเรียนต้องสร้างความเข้าใจแก่เด็กว่าวิถีประชาธิปไตยมาพร้อมความรับผิดชอบ เคารพกฎของสังคม ไม่ใช่ทำอะไรตามใจฉัน ถ้านักเรียนและฝ่ายคัดค้านเห็นว่ากฎระเบียบโบราณ ทางออกโรงเรียนที่มีปัญหาต้องจัดประชุมพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อหากฎระเบียบกลางร่วมกัน หรือถ้ารับไม่ได้เลยก็ยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ให้ปรับปรุงระเบียบต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น" รศ.ดร.ดารณีกล่าว
ส่วนเรื่องการบูลลี่กลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศในโรงเรียนนั้นมีจริง รศ.ดร.ดารณีกล่าวว่า การบูลลี่เป็นประเด็นใหญ่ และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ ผู้ใหญ่ใน ศธ.ย้ำไม่ยอมรับการบูลลี่ใดๆ ในโรงเรียน ทั้งด้วยวาจา ร่างกาย และสัมพันธภาพกับเพื่อน ครู จะแก้ได้ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านจิตวิทยา ทั้งเด็กที่บูลลี่เพื่อนนักเรียนและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ นอกจากนี้ โรงเรียนต้องฝึกให้นักเรียนมีทักษะชีวิตปกป้องตัวเองในทางสร้างสรรค์ นี่คือ Life Skill โรงเรียนต้องปลูกฝังด้านนี้เพื่อให้ต่อสู้กับการบูลลี่ได้ ยกตัวอย่าง รร.สาธิตเกษตรฯ ทำกล่องแดงเพื่อให้นักเรียนแจ้งข้อมูลหากพบพฤติกรรมบูลลี่ในโรงเรียน ฉะนั้น โรงเรียนต้องหาเครื่องมือแก้ปัญหา รวมถึงไม่ละเลยเรื่องครูแนะแนว หรือครูพ่อครูแม่ ทำความเข้าใจเยาวชนกลุ่มนี้และส่งเสริมสนับสนุน
“โรงเรียนบางแห่งเด็กบูลลี่กันเอง ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ บางแห่งครูบูลลี่นักเรียน ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ต้องให้เด็กที่ถูกบูลลี่กล้าบอกโดยไม่ก้าวร้าว ขณะที่ครูต้องให้ความเคารพความเป็นตัวตนของเด็ก ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง นักเรียนคนนี้ฝ่าฝืนไม่จับตัดผม แต่อีกคนฝ่าฝืนกลับถูกตัดผม ส่วนกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเรียกร้อง ตนมองว่าอาจเผชิญความกดดันเรื่องความหลากหลายทางเพศภายในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนต้องตระหนักถึงโอกาสการเข้าถึงการศึกษา โอกาสที่เด็กๆ จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่จัดการเรียนการสอน แต่พัฒนาเด็กไม่ว่าอยู่ในเพศสภาพใดให้มีทัศนคติถูกต้องในชีวิต มีทักษะดำรงชีวิตในเพศที่เลือกและมีศักดิ์ศรี รวมถึงพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตนมีประสบการณ์ดูแลนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศมานาน นักเรียนเหล่านี้ไม่ละเมิดกฎระเบียบ มีผลการเรียนดี และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่" รศ.ดร.ดารณีกล่าวในท้าย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |