เสนอให้เพิ่มโทษ'ชนแล้วหนี'


เพิ่มเพื่อน    


    ผู้จัดการ ศวปถ.เสนอจัดระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างตำรวจ อัยการ ศาล ในการดำเนินคดีเมาแล้วขับ ด้านอาจารย์ปริญญาเรียกร้องเพิ่มโทษชนแล้วหนี
    เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดเสวนาหัวข้อ “ดื่มแล้วขับ” ผลกระทบทางสังคม กับกระบวนการยุติธรรมไทย เพื่อถอดบทเรียนผลกระทบทางสังคมจากคดีเมาแล้วขับ พร้อมเสนอให้มีการแก้ปัญหาดื่มแล้วขับอย่างเร่งด่วน
    นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า สถิติการดำเนินคดีขับรถในขณะเมาสุราปี 2562 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2562 เฉพาะเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์มี 33,339 คดี เทียบกับปี 2561 มี 57,048 คดี ลดลงไป 23,709 คดี ขณะที่ปี 2563 สถานการณ์ผู้ขับขี่ดื่มแล้วขับที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. พบว่ามีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมีสาเหตุจากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงระบาดโควิด-19 แต่หลังจากมีมาตรการผ่อนปรนหลังวันที่ 3 พ.ค. ตัวเลขอุบัติเหตุเริ่มมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้น 
    “แม้สถานการณ์อุบัติเหตุบ้านเราจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่คดีเมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายและเสียชีวิต หลายคดียังมีช่องว่างทางกฎหมาย ผู้ก่อเหตุไม่ได้รับโทษอย่างที่ควรจะเป็นจึงขอสนับสนุนให้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพในคดีจราจร โดยเฉพาะการใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือกว่าพยานบุคคลมาหักล้างคำกล่าวอ้าง และควรจัดให้มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรม ระหว่างตำรวจ อัยการ และศาล สร้างความเชื่อมั่นทางคดีตั้งแต่กระบวนการต้นทาง และควรกำหนดเป้าการสุ่มตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น” นพ.ธนะพงศ์กล่าว
    ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สมัยก่อนการดื่มแล้วขับเป็นเรื่องปกติของคนในสังคม หลังมีกฎหมายออกมาบังคับร่วมกับการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมเกิดการรับรู้และตื่นตัวมากขึ้น เห็นได้จากวัฒนธรรมใหม่ในวงเหล้าที่ต้องมีคนไม่ดื่มหนึ่งคน คอยอาสาขับรถพาเพื่อนกลับบ้าน รวมถึงบริการหาคนขับรถแทน ส่งผลให้ปัจจุบันสถิติการบาดเจ็บและชีวิตของผู้ที่ดื่มแล้วขับลดลง ขณะเดียวกันคดีเมาแล้วขับหลายคดียังมีช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำให้ผู้ก่อเหตุหลุดรอด เป็นโจทย์ที่กระบวนการยุติธรรมต้องนำกลับไปแก้ไขหรือทำคดีตัวอย่างเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้สังคม ป้องกันพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ อาทิ หลีกเลี่ยงการตรวจวัดแอลกอฮอล์ รวมถึงการชนแล้วหนี เพื่อถ่วงเวลาให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดลดลง
    อาจารย์ปริญญากล่าวว่า เพื่อให้การทำงานที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า เราต้องออกมาต่อสู้ผลักดันให้ออกกฎหมายเพิ่มโทษ “ชนแล้วหนี” ดื่มขับต้องโดนจับ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สร้างความเข้าใจในเรื่องของการเยียวยาเหยื่อที่ไม่ใช้แค่เงิน พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในกติกาสังคมควบคู่กับการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้น ดังนั้นทุกกภาคส่วนต้องร่วมหารือและแนวทางใหม่ให้เกิดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
    ด้าน พระสุราษฏร์ เตชวโร ผู้เคยก่อเหตุเมาแล้วขับชนนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังเสียชีวิต 2 ราย กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุเมาเหล้าและขับรถชนคนเสียชีวิต ซึ่งในช่วงแรกๆ หลังเกิดเหตุตนยังคิดที่จะสู้ มีคนแนะนำมากมายว่าสู้ได้ แต่ในเวลาต่อมาตนได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ จนตัดสินใจที่จะยอมรับผลทุกอย่าง ยอมเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยตั้งใจเยียวยาให้รายละ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตนทราบดีว่าการชดเชยดังกล่าวเทียบไม่ได้กับการทำให้คนต้องจบชีวิตลงก่อนวัยอันควร และด้วยความรู้สึกทุกข์ใจบวกกับความรู้สึกผิด จึงตั้งใจบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับเยาวชนทั้งสอง และขอใช้โอกาสนี้ผันตัวในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ เผยแพร่เรื่องราวดังกล่าวให้เป็นอุทาหรณ์สอนใจคนในสังคม ช่วงที่ผ่านมาก็ได้ไปบรรยายเล่าเรื่องของตนให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชนกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
    “อาตมายังคงรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงอยากฝากไปถึงนักดื่มทุกคน ว่าน้ำเมามีแต่โทษจริงๆ ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หากกระทำผิดต่อผู้อื่นยังเป็นกรรมติดตัวไปตลอดชีวิต และทิ้งบาดแผลในใจให้กับคนรอบข้างอีกมากมาย” พระสุราษฏร์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"