'บ้านพักตุลาการ' สู่บรรทัดฐานใช้ป่าดอยสุเทพ


เพิ่มเพื่อน    

                                            การก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการที่ใช้พื้นที่เชิงดอยสุเทพ

     รื้อหรือไม่รื้อบ้านพักตุลาการกลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมจับตา เนื่องจากกรณีการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการที่มีการใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เชิงดอยสุเทพ ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย มีทีท่ายืดเยื้อหลังจาก 'บิ๊กตู่' พล.อ.ประยุทธ์ จันนทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ยืนยันจะไม่มีการรื้ออาคารบ้านพักทั้ง 45 หลัง ที่ก่อสร้างไปแล้วตามข้อเรียกร้องของคนเชียงใหม่ ซึ่งสวนทางกับกลุ่มเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพที่ยืนกรานให้รื้อถอนและฟื้นฟูสภาพป่ากลับมา
    ในระหว่างนี้มีความพยายามของทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องและสันติวิธี ทั้งเปิดเวทีสาธารณะให้หาทางออกร่วมกัน ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ตั้งคณะกรรมการร่วมประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน  และชาวบ้านในพื้นที่ ขออนุญาตเข้าไปสำรวจพื้นที่โครงการเพื่อเข้าไปกำหนดแนวเขตที่เหมาะสม ก่อนจะสรุปข้อมูลการสำรวจให้เสร็จภายในวันที่ 19 เม.ย. นำเสนอให้นายกฯ พิจารณาอีกครั้ง 

                                                    บ้านพักตุลาการ ในสายตาคนเชียงใหม่เรียก หมู่บ้านป่าแหว่ง


    นายธีระศักดิ์ ธุปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวว่า  จากการสำรวจพื้นที่โครงการบ้านพักตุลาการ เครือข่ายไม่ติดใจอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ ซึ่งสร้างบริเวณด้านล่างสุดติดถนนใหญ่  เพราะเป็นที่ราบ ไม่ได้รุกป่า แต่ถัดจากแนวป่าเชิงดอยขึ้นไปเป็นอาคารที่พัก 3-4 ชั้น คล้ายแฟลต 13 หลัง คณะกรรมการร่วม คาดว่ามี 9 หลังที่ล้ำแนวป่า ต้องรื้อ ส่วนที่สองเป็นบ้านพัก 45 หลัง สร้างบนพื้นที่ลาดชันมาก ต้องรื้อทั้งหมด ถ้าไม่รื้อ ป่าเสียหาย สภาพพื้นที่บริเวณนั้นเป็นป่าเขียวอุดมสมบูรณ์  ที่คนเชียงใหม่ออกมาค้านเพราะพื้นที่ด้านล่างว่างกลับไม่สร้าง 
    " ภาพอาคารบ้านพักที่แทรกป่าเห็นแล้วบาดใจ โครงการนี้กระทบระบบนิเวศน์ ถือเป็นสิ่งก่อสร้างแปลกปลอมไม่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ เกิดแผลเป็นบนป่าใหญ่ เราเรียกว่า หมู่บ้านป่าแหว่ง ทั้งยังเป็นทัศนอุจาด ดอยสุเทพเป็นจิตวิญญาณของคนเชียงใหม่   เป็นศรี เป็นมิ่งขวัญเมืองมายาวนานกว่า 700 ปี ชาวเชียงใหม่เคารพนับถือ บนดอยเป็นที่ตั้งพระบรมธาตุดอยสุเทพ แล้วยังมีอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นักบุยแห่งล้านนาด้านล่าง เป็นความไม่สมควรที่สร้างบ้านพักส่วนตัวขึ้นไปอยู่บนดอย "  นายธีระศักดิ์ เผย

 

                                                             บ้านพักตุลาการใกล้แล้วเสร็จ 


    เจตนารมณ์ของเครือข่ายฯ นายธีระศักดิ์ย้ำว่า เป็นการคืนผืนป่า มีการคัดค้านโครงการตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันบ้านพักใกล้แล้วเสร็จ เกิดภาพดอยที่ถูกถาก ป่าถูกทำลาย กระทบความรู้สึกคนเชียงใหม่  ส่วนที่นายกฯ จะให้ปรับบ้านพักเป็นศูนย์การเรียนรู้ตรงนี้ต้องคิดให้รอบด้าน เพราะพื้นที่ไม่เหมาะสม  เสี่ยงภัยธรรมชาติ ทั้งไฟป่าหน้าแล้ง ย้อนไปปี 2559 ที่ดอยสุเทพเกิดไฟป่านาน 5 ชั่วโมง ยังดับไม่ได้  นอกจากไฟแล้ว นักวิชาการที่เข้าไปสำรวจพื้นที่พบว่า การปรับสภาพพื้นที่ก่อสร้างบ้านพัก มีการถากดอยเยอะมาก ช่วงหน้าฝน ถ้าตกหนักติดต่อกัน น้ำป่ามาแน่   เป็นอีกปัญหาที่คนเชียงใหม่เป็นห่วง 
    " แม้การขอใช้พื้นที่จะถูกต้องตามกฎหมาย ทำตามขั้นตอน แต่โครงการไม่เหมาะสม คนเชียงใหม่ไม่อยากให้ป่าดอยสุเทพถูกทำลายมากกว่านี้ กรณีนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไป อย่าใช้พื้นที่ป่าดอยสุเทพที่ผู้คนรักและหวงแหนก่อสร้างโครงการอื่นๆ อีก เมื่อนายกฯ มีนโยบายปฏิรูปประเทศ จะเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 40% เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม ต้องพิจารณาว่า โครงการนี้ขัดนโยบายหรือไม่ โค่นป่าสมบูรณ์กว่า 100 ไร่ " ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าว และหวังว่าเมื่อนายกฯ ได้รับข้อมูลที่คณะกรรมการร่วมสรุปจะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง รื้อแล้วปลูกป่า ถ้าไม่รื้อความขัดแย้งจะยังคงดำรงอยู่  

 

                                       สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เชิงดอยสุเทพ ภาคประชาชนให้รื้อถอนเข้าสู่การฟื้นคืนสภาพป่า 


    จุดยืนภาคประชาชน เขายืนยันเสนอแนวทางฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศร่วมกันระหว่างราษฎร์-รัฐ เป็นโอกาสดีที่จะเป็นช่องทางปลุกสำนึกและพลังความร่วมมือของพลังประชารัฐทุกภาคส่วน ทั้งนี้  จะมีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญร่วมกับประชาชนฟื้นฟู อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ
    ส่วนแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่นั้นไม่ใช่การดำรงสิ่งปลูกสร้างไว้ให้กับหน่วยงานอื่นหรือวัตถุประสงค์อื่นซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกมาก ธีระศักดิ์ชี้ต้องรื้อลงมาเพื่อจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสภาพป่าตามหลักวิชาการต่อไป และการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินรณรงค์ให้ใช้มาตรา 44 รื้อทิ้ง 
    ด้าน บัณรส บัวคลี่ หนึ่งในภาคีเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ระบุว่า รัฐบาลต้องตัดสินใจแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงใจ  เพราะผลกระทบจากการก่อสร้างบ้านพักตุลาการแสดงผลออกมาผ่านปรากฏการณ์ ดิน น้ำป่า สภาพเปลี่ยนแปลง และจะเป็นแบบอย่างของการรุกพื้นที่ต่อไปในอนาคตอันใกล้ เวลานี้เมืองขยายออก นี่ คือ ทำเลทอง คนโลภจ้องตะครุบอยู่แล้ว นี่คือศูนย์เรียนรู้ที่คนในอนาคตจะได้รู้
        บัณรส บอกต่อด้วยว่า ภาคประชาสังคมไม่ใช่พวกเอะอะก็ทุบทิ้ง  แต่พื้นที่ส่วนบนไม่เหมาะสมจริงๆ บนดอยมีลำห้วยใหญ่ 2 สาย ทางซ้ายลงอ่างน้ำแม่จอก  ส่วนตัวโครงการบ้านพักไปสร้างทับบนลำห้วยแม่ชะเยือง ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ข่า พญามังรายสร้างเมือง ถือแม่ข่าเป็น 1 ใน 7 ไชยมงคลของเมืองเชียงใหม่ น้ำในสายน้ำหล่อเลี้ยงเมืองมาแต่โบราณ หมู่บ้านเข้าไปทำ ไปดัดแปลงผิวดิน เปิดหน้าดิน ปรับสโลปสันปันน้ำอะไรบ้าง ไม่มีใครรู้ อบต.ดอนแก้ว เจ้าของท้องที่ก็ไม่รู้ ขนาดผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่รู้ เป็นสิ่งที่ได้จากที่ประชุม( 9 เม.ย.61 ) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ มองผลกระทบออกการเปิดหน้าดิน ไถปรับขนานใหญ่แบบนั้น ทางน้ำเปลี่ยน
    " แล้วถ้ามีกิจกรรมของมนุษย์ข้างบน น้ำจากการเหลือใช้ น้ำทิ้ง น้ำจากกิจกรรมอาคารบ้านพักส่วนหนึ่งจะไหลลงอ่างแม่จอก  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของเชียงใหม่ ดูแลโดยกรมชลประทาน เป็นแก้มลิงเสริม หากน้ำหลักจากแม่แตงไม่พอก็ใช้ทำประปาให้คนเชียงใหม่ทั้งเมือง ปกติยังเป็นแหล่งประปาให้หน่วยทหารแถวนั้นกินอาณาบริเวณถึงสนามกีฬา 700 ปี จนขณะนี้จังหวัดหรือหน่วยงานยังไม่รู้เลยว่า สภาพการเปลี่ยนแปลงต้นน้ำ ทางน้ำ แหล่งน้ำ และผลกระทบต่อแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคมีหรือไม่ ถ้ามีมากหรือน้อยแค่ไหน จะหาทางแก้ต่อไป มีแต่ตั้งธงไม่รื้อ" บัณรส กล่าว และเสนอให้หน่วยงานในท้องที่ตรวจสอบ ผลกระทบ เสนอแนวทางแก้ไขป้องกันที่เหมาะสมที่สุดขึ้นไปเพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจ 

 

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ มีชมรมจักรยานร่วมคัดค้านโครงการอย่างสันติวิธี

       สำหรับเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ประกอบด้วย ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ ชมรมร่มบิน ชมรมจักรยานเสือภูเขา กลุ่มรักษ์แม่ปิง กลุ่มฮักเชียงใหม่ ภาคีคนฮักเจียงใหม่ เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม กลุ่มมือเย็นเมืองเย็น มูลนิธิไทยรักษ์ป่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เครือข่ายอาสาเฝ้าระวัง 9 (ทสม.)คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม (คอมส.) ชมรมอนุรักษ์เชียงใหม่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนรักษ์เชียงใหม่ ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติบ้านปางแฟนและสมาคมชาวเหนือ
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"