ไม่มีความยุติธรรมในโลกนี้หรอก


เพิ่มเพื่อน    

 

ที่มาภาพ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตายจากไปครบ 21 ปี (2542-2563)  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกผู้นี้ ไม่เพียงเป็นต้นแบบของนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และข้าราชการเท่านั้น แต่ท่านยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้คนที่ใฝ่หา “สันติประชาธรรม” อีกด้วย

 

อาจารย์ป๋วยเห็นว่า สังคมที่พึงปรารถนานั้น ต้องประกอบด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ มีสมรรถภาพ มีเสรีภาพ มีความชอบธรรม และมีความเมตตากรุณา อันสมควร “ประยุกต์กับสภาวะปัจจุบันของไทยเพื่อเป็นการชี้ช่องทางว่า เพื่ออนาคต เราทุกคนควรร่วมมือร่วมใจกันทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งสังคมในอุดมคติ”

 

แม้อาจารย์ป๋วยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2519 แล้ว แต่ก็ยังไม่ล้าสมัยไปสำหรับสังคมไทยในปี 2563 ที่กำลังปรารถนาถึงสังคมที่มีสมรรถภาพ คือ “ผู้ปกครองสังคมนั้นจะต้องใช้หลักวิชาดำเนินการของรัฐในทุกแง่ทุกมุม เพื่อให้สังคมนั้นดำเนินชีวิตไปโดยลงทุนน้อยที่สุด ได้ผลมากที่สุดตามเป้าหมาย”

 

มีเสรีภาพ คือ “เสรีภาพในการพูด การเขียน การคิด การชุมนุมกันโดยสันติและปราศจากอาวุธ”

 

มีความเมตตากรุณา เพราะ “ความเมตตาเป็นสิ่งที่ค้ำจุนโลก อหิงสาและสันติทำให้สังคมมีความสุขได้”

 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความชอบธรรมหรือที่มีผู้เรียกว่าความยุติธรรมนั้น หมายถึง “ภายในสังคมนั้น มนุษย์ทุกคนเสมอกันในกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นลูกเศรษฐี ขุนนางมียศถาบรรดาศักดิ์ประการใด ถ้าทำผิดกฎหมายต้องได้รับโทษเช่นกระยาจกคนยากไร้ หรือถ้าทำดีก็มีรางวัลตอบแทนเสมอกัน ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง

 

เหลือเชื่อว่า ผ่านมา 44 ปี ลูกเศรษฐีทำผิดกฎหมาย กลับไม่ได้รับโทษ

 

อาจารย์ป๋วยยังยกตัวอย่างต่อไปว่า “ในสังคมที่มีความยุติธรรมนั้น เรื่องความสงบเรียบร้อยเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง  ทหาร ตำรวจ อัยการ ตุลาการ ต้องมีสมรรถภาพและทำงานด้วยความเอาใจใส่และเที่ยงธรรม

ท่านเน้นว่า “ตำรวจต้องทำหน้าที่โดยปราศจากความหวาดเกรงต่ออิทธิพลทั้งหลายและไม่ลำเอียง ... ใครคิดปฏิวัติโดยใช้กำลังเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาฐานเป็นกบฏก็ต้องจับกุม เพราะทหารและตำรวจเป็นที่พึ่งของราษฎร ไม่ใช่เป็นนายของราษฎร

 

ผ่านมา 44 ปี ผู้คนในสังคมไทยก็ยังเรียกร้องต้องการให้ตำรวจทำหน้าที่โดยปราศจากความหวาดเกรงต่ออิทธิพลทั้งหลายอย่างไม่ลำเอียง

 

อาจารย์ป๋วยยังอธิบายหลักความยุติธรรมในสังคมของท่านต่อไปอีกว่า “อัยการและตุลาการต้องทรงไว้ซึ่งเกียรติ อยู่เหนืออิทธิพลของเงิน ของการขู่เข็ญ และของอำนาจ

 

แน่นอนว่า เกียรตินั้นไม่มีใครให้ได้ ถ้าบุคคลนั้น ๆ ไม่ทรงไว้ซึ่งเกียรติของตน

 

ถึงที่สุดแล้ว ถ้าสังคมไทยเป็นสังคมพึงปรารถนาได้จริง ท่านว่า “ในสังคมที่มีความชอบธรรมนั้น ใครทำดีจะได้ดี ใครทำชั่วจะได้ชั่ว  นรกหรือสวรรค์อยู่ในชาตินี้เอง ไม่ต้องรอไปในชาติหน้า  ผู้ที่ปลอมตัวว่าเป็นคนดีย่อมจ

อยู่ในฐานคนดีอยู่ไม่นาน จะมีผู้คนพบในไม่ช้า

 

สิ่งที่อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้ในปาฐกถาเรื่อง “เหลียวหลัง แลหน้า” ข้างต้นนี้ ดูจะเป็นสังคมในอุดมคติเกินไป ดูจะเป็นสังคมในฝันที่ไกลเอื้อมเกินไป  กระนั้นก็ดี ท่านเคยให้หลักคิดที่น่าสนใจมากไว้ประการหนึ่ง คือ สิ่งที่ดีนั้นปฏิบัติยาก ไม่ใช่ปฏิบัติไม่ได้ ต้องพยายามปฏิบัติให้ได้  สิ่งที่เลวนั้นปฏิบัติง่ายสักปานใด ก็ดีขึ้นมาไม่ได้

แม้ท่านจะไม่ได้เขียน แต่ก็หมายรวมถึงว่า สิ่งที่เลวนั้นจะปฏิบัติยากสักเพียงใด ก็จะดีขึ้นมาไม่ได้ดุจกัน

 

ในชีวิตของอาจารย์ป๋วยเอง ถ้าท่านเป็นแต่เพียงข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต ทรงไว้ซึ่งจริยธรรมอย่างไร้ที่ติ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้สามารถ เป็นนักการศึกษาผู้มีวิสัยทัศน์ เป็นนักพัฒนาที่คำนึงถึงความกินดีอยู่ดีของประชาชน  ชีวิตของท่านก็คงจะไม่ต้องประสบความผันผวนในชีวิต จนถึงขั้นต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไปในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 

แต่อย่างที่พวกเราทราบกันอยู่แล้วว่า อาจารย์ป๋วยเป็นมากกว่านั้น เพราะท่านมีความกล้าหาญทางจริยธรรม จึงต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อโอกาสในการกำหนดชะตากรรมของสังคมที่เราอาศัยอยู่ และแน่นอนว่า ในช่วงท้ายของชีวิตของท่านในเมืองไทย ท่านเกี่ยวพับกับการเมือง การร่างรัฐธรรมนูญ และเรื่องความเป็นธรรมในสังคม

 

กล่าวคือ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจารย์ป๋วยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2518 

ในบรรยากาศทางการเมืองอันร้อนแรงหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516  อาจารย์ป๋วยตกอยู่ในที่นั่งลำบาก นักศึกษาไม่พอใจอาจารย์ป๋วยที่ดูจะไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวมากนัก ฝ่ายชนชั้นปกครองผู้ทรงอำนาจก็ระแวง

 

อาจารย์ป๋วยว่า เป็นพวกหนุนหลังยุยงนักศึกษาให้ออกมาเคลื่อนไหว

 

ในบรรยากาศแบบนี้ เพื่อนสนิทคนหนึ่งของอาจารย์ป๋วย คือ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร จึงเป็นห่วงอาจารย์ป๋วย และไม่ค่อยชอบใจนักที่ท่านไปพัวพับการงานการเมืองและงานด้านรัฐธรรมนูญ

อาจารย์ป๋วยบันทึกบทสนทนากับเพื่อนคนนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

ครั้งหนึ่งคุณเคยเตือนผมที่ผมเกี่ยวข้องมากเกินไปกับปัญหาความเป็นธรรมของปัจเจกชน ความเป็นธรรมของสังคม และเสรีภาพ  คุณพูดว่า ไม่มีความยุติธรรมชนิดสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ในโลกนี้หรอก  และผมก็ตอบคุณว่า ก็เพราะอย่างนั้นซิ เราถึงต้องใช้ความพยายามเป็น 2 เท่า เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดได้ใกล้ความยุติธรรมสมบูรณ์ให้มากที่สุด

 

คุณหญิงสุภาพพูดถูกว่า ไม่มีความยุติธรรมชนิดสมบูรณ์ 100% ในโลกนี้ และในสังคมไทย

 

แต่ก็เพราะสถานการณ์ในสังคมแบบนี้เอง ที่ทำให้คนอย่างอาจารย์ป๋วยต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อให้สังคมไทยไปสู่จุดที่ใกล้เคียงกับการมีความยุติธรรมสมบูรณ์ให้มากที่สุด

 

อาจารย์ป๋วยมีคนเดียว และอาจารย์ป๋วยตายจากไปแล้ว 21 ปี

 

ผู้คนในปัจจุบันนี้ต่างหากที่จะต้องตอบกับตัวเองว่า เมื่อไม่มีความยุติธรรมสมบูรณ์ในโลกนี้ ในสังคมนี้ เราจะทำอย่างไร? จะปล่อยให้ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นต่อหน้า ดำรงคงอยู่อย่างถือว่าไม่ใช่ธุระของเรา หรือจะพยายามมากขึ้นหลายเท่า ให้ความยุติธรรมบังเกิดขึ้นในสังคมนี้สักที

           

กษิดิศ อนันทนาธร

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"