ตำรวจพิสูจน์หลักฐานรับคำนวณความเร็วพลาด เชื่อ 'อ.สายประสิทธิ์' ยันไม่มีวิ่งเต้นคดีบอส


เพิ่มเพื่อน    

13 ส.ค.63 - ที่ห้องประชุม 414 รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ร่วมกับ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และกองทุน ที่มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ร่วมกันเป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในการสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส มาชี้แจงต่อกมธ.เป็นครั้งที่ 3 หลังจาก 2ครั้งแรก ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้โดยตรงไม่ได้มาชี้แจงด้วยตัวเอง ทำให้มีการเรียกเป็นครั้งที่ 3

โดยตอนหนึ่งของการประชุม หลังจากนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ได้ชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อ กมธ.กฎหมาย เสร็จสิ้นแล้ว ในส่วนของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ สบ. 4 กลุ่มงานตรวจเคมีฟิสิกส์ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ชี้แจงและยอมรับว่า การคำนวณความเร็วรถครั้งแรกได้ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ที่ในสำนวนเป็น 79.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะเชื่อการคำนวณของ อาจารย์สายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพราะเห็นว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียง ประกอบกับมีเวลาในการพิจารณาสำนวนน้อย จึงเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจ

แต่หลังจากนั้น ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาไปตรวจสอบ และพบว่าคลาดเคลื่อน ร้อยละ 46 ต่อมาได้รายงานผู้บังคับบัญชาใหม่ว่าความเร็วอยู่ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตั้งแต่ปี 2559 จึงไม่ได้กลับคำให้การ แต่มาพบว่า ไม่ปรากฎในสำนวน ประกอบกับเข้าใจผิดว่าข้อหานี้ขาดอายุความแล้วจึงไม่ได้ตามเรื่อง และไม่เคยชี้แจงต่อกรรมาธิการของสนช. ขอยืนยันว่า ตนไม่เคยได้รับคำสั่งจากใครให้วิ่งเต้นคดีนี้ ยินดีพร้อมให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน การทำคดีให้ประชาชนทำด้วยความยุติธรรมด้วยความทุ่มเทตลอดมา 

นายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่าที่มาของความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาจากการที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ มีข้อตกลงร่วมกันในการตรวจพิสูจน์คดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชน โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2555 ตนได้ร่วมตรวจสอบสถานที่เพื่อวัดความเร็วของรถเฟอร์รารี่ เพื่อต้องการวัดความเร็วให้แม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเลือกกำหนดจุดจากกล้องวงจรปิดตัวเดียวกันกับที่บันทึกภาพได้ โดยให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน 2 คน ไปอยู่คนละจุดกัน คนหนึ่งอยู่ในตำแหน่งที่รถยนต์เฟอร์รารี่เต็มคันเข้ามาในเฟรมของภาพ คนที่ 2 ยืนอยู่จุดที่รถยนต์เฟอร์รารี่ออกจากเฟรมของกล้องจนถึงขอบซ้ายสุด

จากนั้นทำการวัดระยะทางที่รถเคลื่อนที่จริงบนถนนที่เกิดเหตุจริง ในวันนั้นเราได้ระยะทาง 3 กม. ซึ่งเมื่อพิจารณาจากกล้องวงจรปิดพบว่ารถคันนี้วิ่งเร็วกว่าคันอื่นที่อยู่บนถนนในวันเดียวกันโดยวิ่งเร็วกว่า 2 เท่า ซึ่งเป็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาที่ผ่านหน้ากล้องวงจรปิดจะมีเวลาผ่านหน้ากล้องไม่ถึง 1 วินาที ดังนั้น ในวันที่ 6 ก.ย. 2555 เราได้ความเร็วรถโดยประมาณแล้วว่ารถยนต์คันนี้เคลื่อนที่ด้วยระยะทาง 30 เมตร ในเวลาไม่ถึง 1 วินาที ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นอัตราความเร็วกิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วพบว่ามีความเร็ว 108 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเราแน่ใจแล้วว่ารถยนต์เฟอร์รารี่คันนี้วิ่งเร็วกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแน่นอน

ขณะเดียวกัน หลังจากนั้นในวันที่ 7 ก.ย. 2555 ได้รับคลิปบันทึกภาพกล้องวงจรปิดจากพนักงานสอบสวน จึงได้นำมาวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยใช้โปรแกรม ฮีโร่ เวกเตอร์  โดยนำภาพจากกล้องวงจรปิดมาแสดงทีละภาพ เพื่อพิจารณาว่าภาพรถเฟอร์รารี่ที่อยู่ด้านขวามือสุดเต็มคันจนถึงด้านซ้ายมือสุดเต็มคันทีระยะห่างเท่าใด ซึ่งวัดได้เป็นช่วงเวลาคือ 0.63 วินาที หรือน้อยกว่า 1 วินาที ซึ่งสมการที่คำนวณความเร็วคือสมการคงที่เป็นสมการเดียวโดยมีอัตราเฉลี่ยคือ ระยะทางในการเคลื่อนที่ หารด้วย เวลา เราจึงนำ 31 เมตร หารด้วยเวลา คือ 0.63 วินาที ได้ผลลัพท์มาคือ 49 เมตรต่อวินาที เมื่อเปลี่ยนเป็นความเร็วจะได้เท่ากับ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อคำนวณได้ก็ทำบันทึกส่งไปที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน

โดยสาเหตุที่ไม่สามารถส่งความเห็นตรงถึงพนักงานสอบสวนได้ เพราะตนเองอยู่ในฐานะที่ปรึกษาของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง จึงต้องส่งเรื่องตามขั้นตอน ซึ่งได้ระบุในบันทึกว่า รถเฟอร์รารี่คันนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วระหว่าง 160-184กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ขอยืนยันความมั่นใจในตัวเลขความเร็วที่ได้ทำการพิสูจน์และไม่ทราบถึงสาเหตุที่ตำรวจได้ทำการพิสูจน์ความเร็วของรถใหม่โดยไม่ได้มีการนำผลการพิสูจน์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ จุฬาฯ เข้าบรรจุในสำนวนการสอบสวน

นายณรงค์ โพธิเกตุ ทันตแพทย์ ผู้ทำการรักษาฟันให้นายวรยุทธ ชี้แจงว่า นายวรยุทธ เข้ามาเป็นคนไข้ของตนเองเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2554 มาปรึกษาเรื่องการทำฟันเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป ครั้งสุดท้ายที่มาพบตนเองคือวันที่ 29 ส.ค. 2555 ซึ่งบริเวณที่นายวรยุทธได้ทำการครอบฟันไว้มีการขยับ ทำให้มีอาการอักเสบและบวมแดง จึงได้ทำการรักษาและจ่ายยา คือยาอะม็อกซีซิลลินในปริมาณ 500 มิลลิกรัม เพื่อให้รับประทานทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"