13 ส.ค.63 - ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.กฤษณะ ทรัพย์เดช จเรตำรวจ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้ดุลพินิจข้าราชการตำรวจกรณีไม่เห็นแย้งอัยการคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ใช้เวลาชี้แจงนานกว่า 1 ชั่วโมง จึงเสร็จสิ้น
พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า วันนี้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการเสร็จสิ้นแล้ว โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งเพิ่มเติม 3 ประเด็น คือ มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ว่าการไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เป็นการกระทำที่ชอบหรือไม่ 2.ให้ตั้งชุดพนักงานสอบสวนทำคดีนี้ใหม่ โดยใช้พยานหลักฐานที่รวบรวมมาได้ใหม่ และ3.มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 11 นาย ที่เคยเป็นผู้สอบสวนและทำคดีนี้ โดยระบุว่ามีกี่คนที่โดนลงโทษแล้ว และที่ไม่ได้โดนลงโทษ ว่าทำอะไรบ้าง ซึ่งบางคนยังมีการเลื่อนตำแหน่งอยู่
ด้านพล.ต.ท.จารุวัฒน์ ได้ไล่ไทม์ไลน์เหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคดีที่อยู่ในอำนาจชั้นพนักงานสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2555- 4มีนาคม 2556 ช่วงที่สอง ชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2556 - 20 มกราคม 2563 ในชั้นนี้ผู้ต้องหาได้ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมา 2556 จนทำให้อัยการอาญาใต้ฯ มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมถึง 10 ครั้ง ซึ่งพยานที่อัยการสั่งให้สอบเพิ่มเติมเป็นผู้ให้ปากคำชั้นพนักงานสอบสวน จำนวน 4 ปาก เป็นพยานเพิ่มเติมชั้นอัยการ 16 ปาก และช่วงที่สาม การทำความเห็นแย้ง
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับผลการตรวจสอบความบกพร่อง ของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ไม่พบความบกพร่อง เนื่องจากการพิจารณาคำแย้งคำสั่งพนักงานอัยการ แย้งได้เฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย กฎระเบียบ ว่าตามที่พนักงานอัยการกล่าวอ้างมาถูกต้องหรือไม่ โดยจะนำความในคำพิพากษาศาลฎีกา หรือความเห็นทางกฎหมายจากผู้เชี่ยวชาญประกอบเหตุผลการพิจารณา และพิจารณาจากข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่ปรากฎในสำนวนที่อัยการส่งมาเท่านั้น และแย้งได้เฉพาะประเด็นที่สามารถกลับความเห็นของพนักงานอัยการได้ ไม่มีอำนาจทำการสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม หรือหยิบยกพยานหลักฐานนอกสำนวนมาพิจารณาได้ เนื่องจากอำนาจการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ในประเด็นข้อเท็จจริงที่นำมาพิจารณาต้องประกอบด้วยพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันสามารถหักล้างความเห็นไม่ฟ้องของพนักงานอัยการได้
ผู้ตรวจสำนวนพิจารณาในกองคดีอาญาทุกระดับ มีผู้พิจารณาก่อนเสนอ พล.ต.ท.เพิ่มพูน มี 4 ราย ซึ่งทุกคนมีอิสระในการเห็นแย้งหรือไม่แย้งคำสั่งของอัยการ โดยผู้ตรวจสำนวนทุกคนมีความเห็นไม่แย้งตรงกัน ส่วน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ผู้มีอำนาจในการพิจารณาทำความเห็นไปตาม ป.วิอาญามาตรา 145/1 ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ
ทั้งนี้ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง คระกรรมการยังพบข้อบกพร่องหลายแห่ง จึงจะประมวลเรื่องเสนอ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผบ.ตร. พิจารณาดำเนินการ ในประเด็น ดังนี้
1.นำเรียนข้อบกพร่องทั้งหมดที่พบของตำรวจ และจะตรวจสอบว่ากรณีใดบ้างที่ ป.ป.ช. ได้พิจารณาชี้มูลไปแล้ว กรณีบกพร่องที่ยังไม่ได้มีการชี้มูลหรือลงทัณฑ์ ทางคณะกรรมการจะพิจารณามีความเห็นเสนอ ผบ.ตร. เพื่อพิจารณาสั่งการดำเนินการทางวินัยต่อไป หากพบความผิดทางอาญาจะเสนอให้ดำเนินคดีอาญาต่อไป
2.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบข้อเท็จจริงงเพิ่มเติม เช่น รายงานการคำนวณความเร็วจากผู้เชี่ยวชาญมายืนยันความเร็ว ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และผู้เชี่ยวชาญอื่น ก็ยืนยันที่ความเร็ว 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญแก่คดีที่สามารถพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา เพื่อให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาตามกฎหมายได้ เห็นควรส่งพยานหลักฐานรายละเอียดข้อเท็จจริงไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินการตาม ป.วิอาญามาตรา 147 ต่อไป
3.คณะกรรมการตรวจพบความบกพร่องในการดำเนินคดีเรื่องยาเสพติดให้โทษ ที่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยได้สอบถามเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบปากคำเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ แล้วพบว่าสารแปลกปลอม ทั้ง 2 ชนิด ที่เกิดในร่างกาย เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับโคเคน ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น การใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน ไม่ทำให้เกิดสารแปลกปลอมดังกล่าวได้ ซึ่งกรณีความผิดการเสพโคเคน มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับ 1 หมื่น ถึง 6 หมื่นบาท และยังมีอายุความอยู่ เห็นควรให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีในเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ผบ.ตร. ได้สั่งการว่าจะเข้ามาดูแลการสั่งคดีเรื่องแย้งความเห็นของพนักงานอัยการด้วยเองทุกคดี
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ยังกล่าวอีกว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ได้มีการชี้แจงกับคณะกรรมการชุดนี้แล้ว โดยทางคณะกรรมการมีการพิจารณาและเชื่อคำให้การของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ เพราะเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีความสำคัญต่อคดี โดยทาง ผบ.ตร. จะส่งพยานหลักฐานให้อัยการไปดำเนินคดีใหม่ตาม ป.วิอาญา มาตรา 147 ทำให้มีการรื้อคดีนี้ขึ้นมาทำใหม่ 2 ข้อกล่าวหาในส่วนของคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และข้อหาเสพยาเสพติดประเภท 2 (โคเคน) มีอัตราโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี ส่วนเรื่องการขอถอนหมายแดงของตำรวจสากลนั้น หากมีการรื้อคดีใหม่ก็สามารถที่จะเสนอขอหมายแดงใหม่ได้
ทั้งนี้ ตนเข้าใจถึงความห่วงใยของพี่น้องประชาชน และมีความสนใจในเรื่องการทำคดีครั้งนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันว่าจะไม่ปกป้องผู้กระทำผิด ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ส่วนการกระทำความผิดของตำรวจหากพบจะมีการลงทันฑ์อย่างเด็ดขาด โดยขณะนี้จากการตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนกับการกระทำความผิดตำแหน่งสูงสุดในขณะนั้นคือระดับรองผู้บัญชาการ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นใคร เพราะตนเองไม่ใช่คณะกรรมการทางด้านวินัย แต่หนึ่งในนั้นมีชื่อของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ ที่จะต้องถูกสอบวินัย และดำเนินคดีตามประมาลกฎหมายอาญามาตรา 157 กับตำรวจทั้ง 14 นาย เป็นพนักงานสอบสวนชุดเก่า 11 นาย และชุดใหม่ 3 นาย ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนกระแสข่าวที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ มีคำสั่งจากตำรวจชั้นผู้ใหญ่ให้กลับคำให้การเรื่องความเร็วรถนั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีใครกดดัน พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ ให้กลับคำให้การ ก่อนหน้านี้ในการเรียกมาสอบ ตนเองก็ปล่อยให้เจ้าตัวอธิบายอย่างเต็มที่ ไม่มีความกดดันแต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ เคยจะไปให้การในเรื่องวิธีคำนวนความเร็วมาแล้ว แต่พนักงานสอบสวนบอกว่าคดีหมดอายุความแล้ว วันนี้ตนเองตั้งใจมาพูดในเรื่องของข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ จะไม่มีการคาดเดา ซึ่งหากจะบอกว่าใครผิดหรือไม่ผิดก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวเพิ่มว่า วันนี้จะมีการเรียกสอบผู้เชี่ยวชาญของกองพิสูจน์หลักฐานที่เป็นคนกลางในเรื่องของความเร็วรถเกี่ยวกับวิธีการคำนวนซึ่งพบว่าพนักงานสอบสวนเชื่อว่าความเร็วที่ถูกต้องของรถคือ 177 หรือกว่า 80 ซึ่งตรงกับวิธีการตรวจสอบในครั้งแรก ยืนยันว่าไม่มีการฟอกขาวให้ใคร และจะตรวจสอบเฉพาะทางตำรวจ ไม่ขอก้าวล่วงไปถึงทางอัยการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อบกพร่องของผู้เกี่ยวข้องกับการสอบสวนที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบเพิ่มเติม คือ 1.ไม่ดำเนินการตรวจสอบปัสสาวะ เพื่อตรวจสารเสพติดเมื่อได้ตัวผู้ต้องหา 2.ไม่เก็บหลักฐานคำให้การสอบสวนพยานเพิ่มเติมไว้ตามระเบียบ 3.ผู้ออกรายงานให้การไม่ตรงกับรายงาน 4.พนักงานสอบสวนไม่ออกหมายจับตามคำสั่งพนักงานอัยการ ส่วนข้อบกพร่องของผู้เกี่ยวข้องที่ถูกแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี วันที่ 25 เมษายน 2559 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงานปปช.ดำเนินการตามกฎหมาย วันที่ 17 ธันวาคม 2562 ปปช.มีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาโทษทางวินัย วันที่ 31 มีนาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งลงโทษทางวินัย
สำหรับข้อบกพร่องของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีจราจรที่ 632/2555 ของสน.ทองหล่อ ตามคำสั่งตร.ที่ 228/2559 ลง 22 เมษายน 2559 1.ไม่ได้ทำการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ทำการตรวจค้นบ้านผู้ต้องหาในวันเกิดเหตุประกอบสำนวนการสอบสวน 2.ไม่ได้ทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์และไม่ได้รวบรวมพยานหลักฐานในทันทีเป็นเหตุให้ขาดพยานหลักฐานในการฟ้อง 3.ไม่ได้สอบสวนปากคำผู้นำตัวผู้ต้องหามามอบตัวประกอบสำนวน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาไปที่ไหนอย่างไร เพื่อสอบสวนขยายผลและอาจจะใช้เป็นพยานหลักฐานยืนยันในเรื่องความเมา และข้อเท็จแห่งคดี
4.การทำสัญญาประกันปล่อยตัวชั่วคราวบกพร่อง ผู้ต้องหาได้เข้ามอบตัวเอง จึงไม่ใช่ผู้ถูกจับกุมและไม่มีหมายจับ ตามป.วิ.อาญา มาตรา 134 วรรคท้าย พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจให้ประกันตัว ซึ่งจะต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปที่ศาล เพื่อขอหมายขังทันที
5.การใช้ดุลพินิจของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
6.ผลการตรวจวิเคราะห์สารเสพติดที่เป็นสารเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงในร่างกายจากการเสพโคเคน (ยาเสพติดประเภท 2) และคำให้การของแพทย์ผู้ตรวจพิสูจน์ยืนยันว่าพบสารที่เกิดจากการเสพโคเคนในร่างกายผู้ต้องหาไม่นำเข้าพิจารณาในการทำความเห็นในข้อหาขับรถโดยประมาทฯ และไม่มีการพิจารณาในเรื่องข้อหาเสพยาเสพติด
7.พนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่ง บก.น. 5 ที่ 183/55 ลง 4 ก.ย. 55 ไม่กำกับดูแลให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่เป็นไปตามป.วิ.อาญามาตรา 134 วรรคท้าย 8.คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่ง บก.น. 5 ที่ 183/55 ลง 4 ก.ย. 55 ไม่ขอขยายเวลาการสอบสวนตามคำสั่งตร. ที่ 960/37 ลง 10 ส.ค. 37 เมื่อได้ทำการสอบสวนครบกำหนดระยะเวลา 9.คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่ง บก.น. 5 ที่ 183/55 ลง 4 ก.ย. 55 มีหลักฐานการรับสำนวนของพนักงานอัยการ แต่ไม่รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และไม่ส่งตัวผู้ต้องหาไปขอให้ศาลออกหมายขังเมื่อการสอบสวนครบกำหนดเวลา 6 เดือนตามป.วิ.อาญามาตรา 113 วรรคสอง 10.ผกก.สน.ทองหล่อ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ไม่ได้กำกับดูแลการสอบสวนโดยใกล้ชิดทั้งที่เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |