เมื่อเขาบังคับให้ผมเป็น 'อาร์เคเค'


เพิ่มเพื่อน    

19 เม.ย.61-  เว็บไซต์ข่าวด่วน ข่าวเด่น สถานการณ์ชายแดนใต้ https://www.southernreports.org/   รายงาน บทความ  เรื่อง  "เมื่อเขาบังคับให้ผมเป็น อาร์เคเค" เป็นการสัมภาษณ์อดีตแนวร่วมอาร์เคเค โดย ลมใต้ สายบุรี  รายละเอียดระบุว่า

“ตั้งแต่เกิดเหตุคนร้ายปล้นปืนค่ายทหารที่ปิเหล็ง เมื่อต้นปี 47 จำได้ว่าหมู่บ้านของผมจากผู้คนที่เคยอยู่กันอย่างสงบ กลับได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นภายในหมู่บ้าน การใช้ชีวิตได้ผิดแปลกแตกต่างไปจากเดิม จนบางครอบครัวจำใจต้องย้ายไปอาศัยอยู่ที่อื่น แต่ครอบครัวของผมไม่ได้ย้ายไปไหน ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน บ้านที่อยู่อาศัยกันมาหลายช่วงอายุคน”

เป็นบทเริ่มต้นในการสนทนาของผู้เขียนกับอดีตผู้หลงผิดท่านหนึ่งที่เคยเข้าร่วมทำการเคลื่อนไหวกับกลุ่มขบวนการ ได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตชาวบ้าน หลังจากได้เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหาร ซึ่งหลังจากนั้นความรุนแรงได้ขยายเป็นวงกว้างได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปทุกหย่อมหญ้า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ทำลายสถาบันครอบครัว และชุมชนที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จากน้ำมือการกระทำของนักรบ RKK ซึ่งเป็นสมาชิกแนวร่วมขบวนการ BRN ซึ่งในขณะนั้นได้ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เข่นฆ่า ลอบวางระเบิด อย่างไร้ความปราณี และไร้มนุษยธรรม อีกทั้งยังข่มขู่ประชาชนผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่ให้การสนับสนุน จนต้องย้ายหนีละทิ้งถิ่นฐาน หรือแม้กระทั่งโดนลอบทำร้ายจนบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ก็ยังมีอีกบางส่วนที่โดนบีบบังคับต้องจำยอมเข้าสู่ขบวนการ

จุดเริ่มต้นกับการเข้าร่วมสมาชิก อาร์เคเค

อดีตผู้หลงผิดได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วังวนของความชั่วร้ายด้วยการเข้าสู่ขบวนการ เป็นสมาชิก RKK ทั้งที่ในส่วนลึกแล้วไม่อยากจะเข้าร่วมจำใจ จำยอม เพื่อเหตุผลบางอย่าง

“ผมย้ายไปอยู่ที่อื่นเหมือนหลายๆ ครอบครัวที่ได้ย้ายหนีจากการคุกคามของกลุ่มขบวนการไม่ได้ เนื่องจากลูกสาวทั้งสองของผมยังเล็กอยู่ โดยเฉพาะคนโตกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่ง ส่วนคนเล็กเพิ่งคลอดได้แค่ 10 กว่าวันเอง ครอบครัวผมอยู่อย่างมีความสุข แม้จะไม่ร่ำรวยอย่างใครเขา”

“ผมจำเป็นต้องไปอยู่กับขบวนการ เป็นความคิดของผมที่โลดแล่นเข้ามา ณ ตอนนั้น ซึ่งคิดว่าเป็นหนทางเดียวเมื่อผมเป็นสมาชิกแนวร่วมแล้วจะสามารถคุ้มครองให้คนในครอบครัวของผมปลอดภัยไม่ถูกข่มขู่ คุกคาม และหมายเอาชีวิตจาก RKK”

ปี พ.ศ.2548 อดีตผู้หลงผิดท่านนี้ได้เป็นสมาชิกแนวร่วมขบวนการอย่างเต็มตัว แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมขบวนการนานถึง 8 ปีเต็ม กลับพบว่าไม่มีสิ่งที่ดีใดๆ เลยที่เข้ามาสู่ชีวิต แถมความเป็นอยู่ประจำวันของครอบครัวก็ย่ำแย่ มิหนำซ้ำสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนาจะได้มา นั่นคือหมายจับของศาล มีทั้งหมาย ป.วิ.อาญา และหมาย พ.ร.ก. ชีวิตถึงทางตันอนาคตดับมืดไร้แสงสว่างคลำหาทางออกไม่เจอ อีกทั้งปัญหาสุขภาพประดังเข้ามารุมเร้า พื้นที่รับผิดชอบที่ทำการเคลื่อนไหวอยู่ไม่มีแม้ยารักษา อยู่อย่างยถากรรม ขบวนการไม่ได้ให้การช่วยเหลือและได้รับการเหลียวแล อย่างเช่นที่เขาเคยพูดไว้อย่างสวยหรูในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหลอกให้คนเข้าร่วมขบวนการ ซึ่งในตอนนั้นอยากกลับไปหาลูกเมียเพื่อทำการรักษาตัวที่บ้าน แต่ก็กลัวเจ้าหน้าที่จับกุม จะเข้ามอบตัวก็ไม่มีเงินทองในการต่อสู้คดีความในชั้นศาล

“ผมเป็นคนแรกในหมู่บ้านที่เข้าเป็นสมาชิกของขบวนการ เริ่มต้นงานแรกด้วยการพ่นสี ทำลายป้ายจราจร ป้ายบอกทาง เผายางรถยนต์สร้างความปั่นป่วน ใช้รถจักรยานยนต์ในการลาดตระเวนเส้นทางในเขตรับผิดชอบที่แกนนำมอบหมาย เพื่อทำการหาเป้าหมายในการก่อเหตุ และเส้นทางในการหลบหนี หลังจากนั้นได้รับการสั่งการให้ก่อเหตุด้วยการลอบยิง โดยเลือกเป้าหมายที่อ่อนแอไร้ทางต่อสู้ เด็ก ผู้หญิง หรือคนชรา ไม่มีการแยกแยะชาวไทยพุทธ-มุสลิม”   

อดีตผู้หลงผิด ยังได้กล่าวถึงหน้าที่รับผิดชอบอีกอย่างหนึ่ง คือ การหาสมาชิกแนวร่วมที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงที่จะทำการก่อเหตุ ให้มาร่วมประชุม วางแผนเตรียมการกับแกนนำ โดยให้รับผิดชอบในการเตรียมการในการสนับสนุนเรื่องอาหารการกิน รวมทั้งที่ซ่อนตัวทั้งก่อนก่อเหตุ และหลังจากการก่อเหตุเสร็จสิ้นแล้ว

“ผมได้รับฟังข่าวสารว่าหน่วยงานภาครัฐ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดต่างจากรัฐ สามารถเข้ามารายงานตัว แสดงตน เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนของกฎหมายกับโครงการพาคนกลับบ้าน”

อดีตผู้หลงผิดได้กล่าวพร้อมกับสีหน้า แววตายิ้มแย้มอย่างเปี่ยมสุขเมื่อได้ทำการเล่าเรื่องราวของตนมาถึง ณ ตรงนี้ ซึ่งได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งสำคัญของตนเองและครอบครัว แสงสว่างรำไรรออยู่เบื้องหน้านำพาไปสู่ทางออกทั้งที่ก่อนหน้านี้มืดมิดเหมือนคนที่สิ้นอนาคต หลังจากนั้นได้หาโอกาสกลับมาบ้านพูดคุยกับครอบครัว และตัดสินใจเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นยังไม่มีความมั่นใจในวิธีการและกระบวนการขั้นตอนสักเท่าไหร่ แต่เมื่อได้รับการแนะนำ และช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างจริงใจ ในการอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ทุกขั้นตอนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สุดท้ายศาลสั่งไม่ลงโทษปล่อยตัวให้เป็นอิสระ

“ชีวิตของผมเหมือนตายแล้วเกิดใหม่จริงๆ ผมไม่ต้องใช้จ่ายค่าดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้ใช้เงินสักบาท แต่ที่สำคัญที่สุดคือทุกวันนี้ผมมีความสุข อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา พ่อ- แม่-ลูก ดำเนินชีวิตตามปกติเหมือนกับคนทั่วๆ ไปในหมู่บ้าน ผมและเพื่อนๆ อีกหลายคนได้เล็งเห็นว่า โครงการพาคนกลับบ้าน ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นโครงการที่ดี จึงอยากเชิญชวนไปยังผู้ที่หลงผิด มีความเกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ หนีหมายศาล หลบหนีการจับกุม และกลัวการถูกดำเนินคดีความ ได้มีโอกาสกลับเนื้อกลับตัวหันหลังให้กับขบวนการ แล้วกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ประตูสู่การกระทำความดีได้เปิดกว้างไว้สำหรับพวกเราทุกคน”

ชีวิตที่ต้องตกเป็นทาสรับใช้ขบวนการ BRN ชีวิตที่ต้องให้ใครต่อใครตราหน้าว่าเป็นแนวร่วมโจรใต้ มีแต่สร้างรอยบาปให้กับตัวเอง การกระทำที่ผิดต่อหลักคำสอนศาสนา อีกทั้งในทางกฎหมายบ้านเมืองมีคดีความติดตัว ต้องหลบหนีการติดตามจับกุมใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ได้อยู่กับครอบครัวเชื่อได้ว่ายังมีผู้ที่คิดต่างจากรัฐอีกหลายคนที่ต้องประสบกับชะตากรรมเช่นนี้ ตัวอย่างเรื่องราวของอดีตผู้ที่เคยหลงผิดที่ได้รับโอกาสจาก “โครงการพาคนกลับบ้าน” จนนำมาสู่การมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่กับครอบครัว สังคมไทย และภาครัฐยังเปิดโอกาสให้สำหรับคนที่กล้ากลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีเสมอ…รีบฉวยโอกาสนั้นซะก่อนที่พรุ่งนี้จะไม่มีโอกาส…..

ขอบคุณภาพ,เรื่อง www.southernreports.org/

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"