“จะไม่ทนธรรมศาสตร์” กระหึ่ม! หลังกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ลามปามสถาบัน “ประยุทธ์” รับไม่สบายใจ “ปริญญา” ร่ายไทม์ไลน์เหตุการณ์ก่อนตบท้ายขออภัยเท่านั้น สภาสูงประชุมเดือด “คำนูณ” ชี้เป็นเนื้อหาที่รุนแรงที่สุดในชีวิต พาเหรดแนะใช้ไม้แข็งจัดการแกนนำ หวั่นเป็นเหตุการณ์ตุลาภาคสอง “จตุพร” เตือนน้องๆ หากหลุดจาก 3 ข้อเสนออันตราย “หญิงหน่อย” รีบถีบตัวพ้นม็อบ
เมื่อวันอังคารที่ 11 สิงหาคม ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกรณีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ขึ้นภายในบริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยเฉพาะการปราศรัยและการฉายภาพโปรเจ็กเตอร์ขนาดยักษ์บนเวที ซึ่งเป็นรูปนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 2 ผู้ต้องหาหนีคดีมาตรา 112 ซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ที่มีข้อความและตราสัญลักษณ์เชิงล้อเลียนและหมิ่นสถาบันฯ
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า ได้ติดตามอยู่ จะไม่ดูได้อย่างไร เมื่อดูแล้วก็ไม่สบายใจ ส่วน 10 ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นก็เสนอมา
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้อีกครั้งว่า เป็นนายกฯ ไม่ติดตามได้อย่างไร ติดตามทุกเรื่อง ซึ่งการชุมนุมเป็นสิทธิ แต่การชุมนุมที่เกินเลยมากๆ ขอถามสื่อ สื่อว่าอย่างไร ทั้งนี้ ปรากฏว่าพอนายกฯ พูดถึงช่วงนี้ สื่อไม่ได้ตอบคำถาม พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวว่า "ตอบสิตอบ ไม่กล้าตอบอีก สื่อก็ต้องแสดงความเห็นบ้างว่าทำยังไงให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเพื่อให้เดินหน้าแก้ปัญหาโควิด-19 ไปได้ ทำอย่างไรให้รัฐบาลทำงานได้ คนเดือดร้อนรอแก้ปัญหาอีกเยอะแยะ ไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่
"การทำแบบนั้นเหมาะสมหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไร กฎหมายอยู่ตรงไหน แล้วอย่าบอกว่าเอากฎหมายไปกดทับ มันไม่ใช่ เพราะถ้าละเมิดทุกคนก็ต้องถูกลงโทษ ไม่เช่นนั้นทุกคนก็เสียหาย เจ้าหน้าที่ก็เสียหาย ไม่ทำงานก็ถูกฟ้องร้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร เพราะฉะนั้นสถาบันต่างๆ ต้องช่วยกันดูแลรับผิดชอบกันบ้าง ไม่ใช่มาลงที่นายกฯ ทั้งหมด ต้องช่วยกัน ประเทศชาติเป็นของใคร เป็นของทุกคน และวันนี้ทุกคนทราบกันดีระหว่างปัญหาประเทศชาติอยู่ตรงไหน หลายอย่างที่เรียกร้องมามันใช่ปัญหาที่ทำได้วันเดียวหรือ 2 วัน หรือเดือนหนึ่งไหม มันกำหนดอย่างนั้นไม่ได้ หลักคิดอย่างนั้นมันไม่ได้ รัฐธรรมนูญเขียนว่าอย่างไร ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่านักศึกษาจะนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า จะนัดชุมนุมที่ไหนก็ว่ากันไป แต่ถ้าผิดกฎหมายก็คือผิดกฎหมาย
ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า กระทรวงดูแลในระดับโรงเรียน พบว่ามีการจัดกิจกรรมอยู่บ้าง แต่ไม่มีเรื่องหยาบคาย เป็นการแสดงออกในสถานะที่พอเพียง ดังนั้นไม่น่ากังวลเท่าไหร่ ส่วนในรั้วมหาวิทยาลัย รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเป็นผู้ดูแล
อัดล้มล้างสถาบันฯ
"เท่าที่ดูคำพูดเป็นเรื่องน่ากังวล ผมคิดว่าคนไทยแสดงความเห็นได้ แต่การแสดงความคิดเห็นที่สร้างความแตกแยก หรือตั้งใจทำลายสถาบันหลักของประเทศ ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ที่สำคัญเวลานี้คนไทยกำลังต้องการความร่วมมือ ที่น่าห่วงคือปัญหาเศรษฐกิจในตอนนี้ ซึ่งอยากให้คนต่างประเทศมาลงทุนในไทย เพราะเราสามารถควบคุมสถานการณ์ โควิด-19 ได้ดี แต่วันนี้กลับมาสร้างความกังวลให้เขาไม่กล้ากลับมา เพราะอาจหวาดระแวง ว่าจะมีการปะทะกันหรือไม่ หรืออาจจะมีความไม่สงบอย่างที่เขาคาดการณ์ไม่ได้ ถือเป็นการทำร้ายประเทศ อยากให้คนไทยร่วมกันหาทางออกในทางที่เหมาะสมของช่วงเวลานี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดี ยอมรับว่าห้ามทุกคนไม่ได้ อาจมีแกนนำที่ตั้งใจอะไรบางอย่าง แต่คนที่มาร่วมเราสามารถอธิบายได้ จากนี้ไปต้องรับฟังข้อมูลข่าวสารบ้าง ทั้งนี้ จากข้อเรียกร้องที่ผมติดตามมา มันน่าอันตรายสำหรับประเทศ เป็นเรื่องที่สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรง หวังว่าแกนนำควรจะพิจารณาความเหมาะสมที่ได้ทำไป" นายณัฏฐพลกล่าว
นายณัฏฐพลกล่าวอีกว่า เชื่อว่าหลายคนในที่ชุมนุมอาจตกใจ และต้องใช้วิจารณญาณในการชุมนุมครั้งต่อไป เพราะบางส่วนอยากแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่กลับมาเจอการแสดงออกในลักษณะล้มล้างสถาบันฯ ผู้มาชุมนุมต้องพิจารณาความเหมาะสมด้วย เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอธิการบดีเองก็คงตกใจ เพราะข้อเรียกร้องรุนแรงและร้อนแรง ในขณะที่ประเทศต้องการความสามัคคี
ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายงานว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. ได้เรียกเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ประชุมติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ มธ. เมื่อวันที่ 10 ส.ค. โดย พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รอง ผบช.น. ปฏิเสธให้ความเห็น โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะมีคณะทำงานแยกพิจารณาอีกชุดหนึ่ง ขณะที่ พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. ยอมรับว่ามาร่วมประชุมติดตามความเคลื่อนไหวชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีการชุมนุม ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องการอนุญาตให้ใช้สถานที่ว่า นักศึกษาผู้จัดการชุมนุมได้ทำหนังสือลงวันที่ 31 ก.ค.2563 ขออนุญาตใช้สถานที่ โดยแจ้งว่าเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ ไม่ได้แจ้งว่ามีการปราศรัยหรือแสดงออกในประเด็นเรื่องอื่นแต่อย่างใด โดยได้รับหนังสือนี้ในวันที่ 5 ส.ค. จึงได้เชิญผู้ขออนุญาตใช้สถานที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร อ.คลองหลวงมาหารือในวันศุกร์ที่ 7 ส.ค. 2563 ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การชุมนุมจะอยู่ในขอบเขต 3 ประเด็นที่ขอจัด หากว่ามีคนที่ปราศรัยในประเด็นที่หมิ่นเหม่หรือผิดกฎหมาย คนพูดก็ต้องรับผิดชอบ และถ้าหากมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือยกป้ายข้อความ หรือการกระทำใดก็แล้วแต่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้วิธีการพูดคุยเจรจา เมื่อได้ข้อสรุปตามแนวทางนี้จึงอนุญาตให้ใช้สถานที่
ปริญญาแค่ขออภัย
“ในขณะชุมนุมช่วงเวลาประมาณ 19.20 น. ได้ไปสังเกตการณ์และไปเยี่ยมเจ้าหน้าหน้าที่ตำรวจที่ช่วยอำนวยการเรื่องความปลอดภัย แต่หลังจากนั้นจึงได้ทราบว่ามีผู้ปราศรัยบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการปราศรัยในทางที่จะเป็นปัญหาได้ดังที่ปรากฏ ผมขอเรียนว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะให้เสรีภาพในการแสดงออก แต่การแสดงออกควรต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพึงระวังในเรื่องละเอียดอ่อนและเรื่องที่อาจนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคม และแม้ว่าเนื้อหาหลักของการชุมนุมจะเป็นไปตามขอบเขตดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏเนื้อหาบางส่วนที่อาจจะเลยขอบเขตไป ผมในฐานะรองอธิการบดีผู้อนุญาต ผมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ในเบื้องต้นผมขออภัย และขอน้อมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น”
ขณะเดียวกัน มธ.ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องดังกล่าวเช่นกันว่า ขอแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้มหาวิทยาลัยขอชี้แจงข้อเท็จจริง ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นทางการเมือง ซึ่งผู้จัดได้ขออนุญาตมหาวิทยาลัยในการใช้สถานที่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องใน 3 ประเด็นเท่านั้น แต่ได้เกิดการแสดงออกนอกเหนือขอบเขตที่ได้ขออนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของประชาชนในวงกว้าง ซึ่ง มธ.มิได้นิ่งนอนใจ และจะดำเนินการตามมาตรการภายใต้บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่รับผิดชอบต่อสังคม ดังนี้ 1.การแสดงออกที่เกินกว่าขอบเขตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคลของผู้ที่แสดงออกที่มิใช่นักศึกษา มธ. จึงเป็นเรื่องการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ โดย มธ.จะให้ความร่วมมือและให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย 2.สำหรับการแสดงออกของผู้ที่เป็นนักศึกษา มธ.ที่ไม่เหมาะสมนั้น มหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามข้อเท็จจริงภายใต้ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และ 3.มหาวิทยาลัยจะป้องกันมิให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยจะเคร่งครัดเรื่องการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมที่มีลักษณะเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย
นายโสภณ กมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ออกประกาศโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เรื่อง สร้างความเข้าใจให้สาธารณชนทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันเช่นกันว่า กลุ่มบุคคลที่แอบอ้างนำโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นการแสดงออกของเฉพาะบุคคล โรงเรียนมิได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ก่อนการพิจารณาตามระเบียบวาระได้เปิดให้สมาชิกหารือ โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. หารือว่ารู้สึกอึดอัด คับข้องใจ เพราะการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. มีเนื้อหารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยฟังมาในชีวิต มีข้อเรียกร้องที่ไม่มีคนไทยคนไหนเรียกร้อง เลยเถิดเกินการขับไล่รัฐบาล เกินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
“เสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการทางการเมืองด้วยการรับฟังความเห็นข้อเสนอจากสมาชิกรัฐสภาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 โดยเร็ว แม้สมาชิกของทั้ง 2 สภาจะมีความเห็นหลากหลายแตกต่างกันในหลายกรณี เชื่อว่าทั้ง 2 สภามีความเห็นร่วมกันว่าการกระทำบางอย่างของผู้ชุมนุมบางคนในการชุมนุม 3 ครั้งที่ผ่านมาเกินขอบเขตที่ควรจะเป็นไป ทำให้ข้อเรียกร้องปกติของประชาชนส่วนใหญ่ต้องถูกทำให้เสียหาย สุ่มเสี่ยงจุดชนวนความรุนแรง ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ภาค 2 อันจะสร้างแผลลึกส่งต่อลูกหลานต่อไป”
ส.ว.ชงใช้ไม้แข็ง
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวเช่นกันว่า การชุมนุมเกินเลยกว่าการเรียกร้องยุบสภาขับไล่ ส.ว.และล้มรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 116 ชัดเจน ในเรื่องกระทำการกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดจะก่อความไม่สงบเพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งต้องเร่งแก้ปัญหา ถ้าจะจบในรุ่นเราก็พร้อมจะจบ เพราะเขากำลังเอาเด็กนักเรียนนักศึกษา ซึ่งก็คือลูกหลานเราเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก คนที่อยู่เบื้องหลังเป็นอีแอบไม่กล้าออกมาเผชิญความจริง ทั้งที่จงใจและอยู่เบื้องหลังการล้มสถาบันฯ
“สิ่งที่ยั่วยุวันนี้ ต้องการให้เกิดเหมือน 6 ตุลา 19 และพฤษภา 35 เพื่อนำไปสู่ความฝันอันเพ้อเจ้อ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น 14 ตุลา 16 และฝันไกลไปถึงล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครองแบบ 2475 ซึ่งเขาแอบอ้างว่ายังทำภารกิจไม่สมบูรณ์ เพราะเขาต้องการระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ หรือต้องการเอาพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ภายใต้การบังคับของพวกเขา ถามว่าเด็กเหล่านี้รู้หรือไม่” นายสมชายกล่าวและว่า ขอเสนอให้ใช้ไม้แข็งดำเนินการกับหัวโจกชุมนุม และขอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่จะจัดการชุมนุมรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม เพราะการชุมนุมที่ มธ. รองอธิการบดีออกมาขอโทษไม่เพียงพอ
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายเช่นกันว่า มีคนบางกลุ่มอาศัยจังหวะโอกาสสอดแทรกในการเคลื่อนไหวดังกล่าว จึงขอให้ผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจับกุมคุมขัง ใช้อำนาจเด็ดขาด เพราะทำผิดกฎหมายชัดเจน
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปฏิเสธแสดงความเห็นถึงการชุมนุมที่ มธ.
น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่าถึงข้อเรียกร้อง 10 ข้อในการชุมนุมที่ มธ. ว่าในนาม พปชร. ขอเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะการเรียกร้องเหล่านั้นเป็นการสร้างความแตกแยกภายในชาติ และอาจทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ และขอให้ผู้รับผิดชอบของ มธ.ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวออกมารับผิดชอบ
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ และไม่สบายใจ ขอเรียกร้องให้หยุดดำเนินการในลักษณะก้าวล่วงสถาบันฯ ส่วนจะชุมนุมเรียกร้องในเรื่องอื่นๆ ก็ว่ากันไป การกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนาว่าการชุมนุมท้ายที่สุดมีเจตนาเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายใด
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนเวทีการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.เป็นการหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง สร้างความไม่สบายใจให้กับคนในชาติ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม แบ่งแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงทางสังคม ในที่สุดอาจย้อนอดีตเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จึงอยากเรียกร้องมายังน้องๆ นิสิตนักศึกษาที่กำลังเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ ได้ทบทวนท่าทีและการแสดงออกในการเคลื่อนไหว ขอให้ธำรงไว้ซึ่งเป้าหมาย และข้อเรียกร้องในการชุมนุมที่ชัดเจน อย่าให้มีการครอบงำ แทรกแซงจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี
หญิงหน่อยถีบนักศึกษา
ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตลอดชีวิตการทำงานการเมือง มีจุดยืนเดียวมาตลอดคือการทำงานการเมืองภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเห็นด้วยกับการต่อสู้กับเผด็จการที่บริหารประเทศล้มเหลว ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ทุกข์ยาก ตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน แต่ไม่ควรก้าวล่วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ จนอาจเป็นเหตุของการยึดอำนาจอีกครั้ง
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเช่นกันว่า นักศึกษาที่ชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองขอให้อยู่ในกรอบที่เคยเรียกร้องเอาไว้ 3-4 ข้อก่อนหน้านี้
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ประเทศมีบทเรียนมากพอแล้ว หลีกเลี่ยงการก้าวล่วง ไม่จาบจ้วงสถาบันฯ ชุมนุมภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งเราตระหนักดีว่าการชุมนุมเป็นสิทธิ ความเคารพศรัทธาก็เป็นสิทธิ เราเคารพในความเห็นต่าง และเราต้องไม่ละเมิดสิทธิกันและกัน
ขณะเดียวกันยังมีความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า แม้นักศึกษาและประชาชนจะมีสิทธิชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐบาล พึงปฏิบัติตามกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายชุมนุมโดยสงบ และไม่ละเมิดสิทธิและชื่อเสียงของผู้อื่น
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า ห่วงใยการชุมนุมของขบวนการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว และขอย้ำว่าต้องประเมินสถานการณ์บนความเป็นจริงเสมอ ซึ่งข้อเรียกร้อง 3 ข้อของขบวนการนักศึกษานั้นมีความชอบธรรม แนวโน้มมีความสำเร็จ แต่การเลยเส้นจึงเป็นการสร้างความไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้น แล้วท้ายที่สุดจะไม่ได้อะไร แต่จะเสียประชาธิปไตยไปทั้งกระดาน
“ความสำเร็จต้องยึดตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ถ้าสุดโต่งกันแล้ว สุดโต่งอีกฝ่ายหนึ่งจะออกมา เมื่อสุดโต่งทั้งสองฝ่ายออกมา ก็จะจบลงแบบ 6 ตุลา แล้วปิดท้ายด้วยรัฐประหาร นี่คือความห่วงใย ในอาการที่น่าเป็นห่วง”
นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ อดีตแกนนำ นปช. กล่าวว่า ขอเตือนน้องๆ ในฐานะที่เคยอยู่ในม็อบมาก่อน อย่าหลงเสียงเชียร์ ขอให้ยืนในหลักการให้ชัด เพราะถ้าเกิดอะไรผิดพลาด ไม่มีใครช่วยได้ น้องๆ ยังอยู่ในราชอาณาจักรไทย ขอให้ระมัดระวังข้อกฎหมายที่บังคับใช้ อย่าไปหลงกับคนอื่น ที่ไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักรไทย เขาสามารถพูดอะไรก็ได้ ไม่ต้องรับผิดชอบ น้องๆ อย่าเคลิ้ม อย่าหลง การเดินทางของน้องๆ ใน 3 ข้อเรียกร้อง สวยงามอยู่แล้ว ไม่อยากให้ต้องไปแปดเปื้อน ขอให้น้องๆ เป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีความคิดก้าวหน้า ที่ไม่ใช่คณะของนายธนาธร ขอให้เป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีความคิดก้าวหน้า แต่ไม่ก้าวร้าว ยึดมั่นใน 3 ข้อเรียกร้อง
ในหลวงทรงอดทน
ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กสั้นๆ ว่า เป็นพระเจ้าแผ่นดินของพระราชอาณาจักรนี้ ต้องมีความอดทนเหลือเกิน ถ้าเป็นคนธรรมดาๆ ระเบิดไปนานแล้ว พระเจ้าแผ่นดินของพระราชอาณาจักรนี้ ทรงมีความ อดทน อดกลั้น แม้ว่าในปัจจุบันจะทรงโดนกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ทรงอดกลั้น ไม่โต้ตอบ แถมทรงมีพระเมตตา อภัยโทษไม่เอาผิด เพื่อไม่ให้พสกนิกรของพระองค์ในพระราชอาณาจักรนี้ เกิดการเลือดนองแผ่นดิน
พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ถึงการจัดตั้งกองพันประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าจะมีประจำจังหวัด จังหวัดละอย่างน้อย 1 กองพัน จัดครบทุกจังหวัดจะได้ กองทัพประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดอายุ ไม่กำหนดคุณวุฒิ ขอเพียงคุณสมบัติข้อเดียวคือ จงรักภักดีจริง ไม่โลกสวย
ด้าน ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. แสดงความเห็นถึงการชุมนุมว่า เหตุเกิดที่ธรรมศาสตร์รังสิต เหมือนตั้งใจยั่วยุให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาอีกครั้ง ม็อบนี้แสดงตัวชัดเจนว่าชังเจ้า ฟันธงล่วงหน้าไว้เลยว่าจะไม่เกิดแน่นอน แต่แกนนำน่าจะโดนคดีกันถ้วนหน้า
ศ.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. โพสต์เฟซบุ๊กว่า จะจัดการปัญหาอย่างไร จุดร่วมและจินตนาการที่แตกต่าง ปัญหาแก่นแท้คือจินตนาการต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความแตกต่างกัน จะเรียกว่านี่เป็นปัญหามาตราศูนย์ของรัฐธรรมนูญก็ได้ และมันแสดงปรากฏต่อสาธารณะแล้วจะจัดการความแตกต่างในเพดานนี้ลงมาอย่างไร จินตนาการต่อระบอบเดียวกันที่แตกต่าง เป็นเรื่องทางความคิด แก้ไม่ได้ด้วยอำนาจบังคับ ไม่ว่าอำนาจจากกำลังรุนแรงหรืออำนาจกฎหมาย หากใช้อำนาจบังคับ มีแต่ทำให้ยิ่งแตกต่างออกไปมากขึ้น
“การเมืองไทยต้องอาศัยสติและวุฒิภาวะมากตอนนี้ ควรพยายามเข้าใจเนื้อแท้ของปัญหา ไม่ใช่ปัญหากฎหมายหรือกบฏ แต่เป็นปัญหาความคิด และเลือกทางแก้ที่เข้ากัน เหมาะกับปัญหา มิฉะนั้นจะลุกลามบานปลาย”
นายณัชพล สุพัฒนะ หรือมาร์ค พิทบูล โพสต์เฟซบุ๊กว่า ตามที่เคยแจ้งว่า วันที่ 16 ส.ค. จะไปร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ฟังการปราศรัยของไอ้เด็กเวรแล้วคิดว่ามันไม่ใช่การเรียกร้องประชาธิปไตย หรือเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเจตนาเดิม แต่กำลังใช้การชุมนุมโจมตีสถาบัน จึงเปลี่ยนใจไม่ไปเข้าร่วมกับการชุมนุมในวันนั้น และขอถอนตัว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |