พัฒนารถไฟพัฒนาประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

           การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น โดยเฉพาะระบบราง นอกจากช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในด้านการขนส่งทั้งขนคนและสินค้า ซึ่งที่ผ่านมานั้นรัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งรัดให้เกิดโครงการเมกะโปรเจ็กต์อย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมในฐานะที่กำกับดูแลงานด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเร่งดำเนินงาน

                ทั้งนี้ หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เจ้ากระทรวงหูกวางอย่าง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ประกาศสนองนโยบายรัฐบาลด้วยการเร่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย 20 ปี (2561-2580) ตามยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4 มิติ ทั้ง ทางบก ที่เร่งรัดขยายโครงข่ายถนนสายหลักและสายรองเพื่อเชื่อมโยงครอบคลุมทุกพื้นที่ สร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่กาญจนบุรี บางปะอิน-โคราช เปิดปี 2566, มอเตอร์เวย์เอกชัย-บ้านแพ้ว, นครปฐม-ชะอำ และขยายสายพัทยา-มาบตาพุด เข้าสนามบินอู่ตะเภา

                โดยเฉพาะในด้านภาคตะวันออก ที่มีโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนา การขนส่งทางน้ำ เพื่อรองรับเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ควบคู่ไปกับพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนองและชุมพร เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ด้านทางอากาศ ก็เร่ง ขยายสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง รวมถึงการพัฒนาสนามบินภูมิภาค

                รวมไปถึงการพัฒนา-ขนส่งทางราง ซึ่งการที่จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศเพิ่มขนส่งทางราง 30% โดยเฉพาะเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายระบบราง โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ ตามข้อสั่งการสำคัญของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ สร้างคุณภาพชีวิตด้านการขนส่งเดินทางที่ดีให้ประชาชน ประกอบด้วย งานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่แบ่งเป็น ระยะที่ 1 จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2563 เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565

                และเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, มาบกะเบา-ชุมทางจิระ, นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า ให้ รฟท.เร่งดำเนินการแก้ไขพร้อมรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบทันที

                และงานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่แบ่งเป็น ระยะที่ 2 อีก 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.73 แสนล้านบาท ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย, เด่นชัย-เชียงใหม่, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

                อย่างไรก็ตามล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนอย่าง บมจ.เกียรติธนาขนส่ง เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่สถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่น้ำ อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำหรับเป็นลานคอนเทนเนอร์และจุดขนถ่ายรองรับการขนส่งสินค้าทางรางในอนาคต

                ทั้งนี้ สถานีรถไฟบ้านกระโดนถือเป็นจุดยุทธศาสตร์การขนส่งรองรับโครงการรถไฟรางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในพื้นที่ชนบทกับเมืองและเส้นทางระหว่างประเทศ และนำร่องดึง บมจ.วินีไทย ซึ่งเป็นคู่ค้ากับ บมจ.เกียรติธนา เปลี่ยนโหมดการขนส่งจากรถบรรทุกมาเป็นราง เส้นทางบ้านกระโดน/โคราช-มาบตาพุด/ระยอง เพื่อขนส่งสินค้าเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโดยตรง

            อย่างไรก็ตาม ได้เร่งพัฒนาสร้างทางคู่อย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในพื้นที่ชนบท เมืองและระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ และแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟโดยใช้แนวทางการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ หรือทางลอดใต้ทางรถไฟ รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหาจราจรและลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้อีกด้วย ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และเสริมระบบเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง สามารถแข่งขันและเป็นฮับระดับโลก.

 

บุญช่วย ค้ายาดี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"