11 ส.ค. 2563 นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า บริษัทฯ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tram Bus) มาใช้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางขนาดรอง
ทั้งนี้โดยจะเชื่อมต่อพื้นที่ภายในสถาบันการศึกษา กับระบบขนส่งมวลชนหลัก ได้แก่ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่สถานีลาดกระบังและใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะ ระบบ E-Payment และ Non-Payment ผ่านบัตรแรบบิท ที่สามารถเชื่อมต่อกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งภายใต้ความร่วมมือนี้จะทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประสบการณ์จริงอีกด้วย
อย่างไรก็ตามยังจะเป็นโอกาสอันดีที่ทางบริษัทฯ จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชน และระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงฟังก์ชันการใช้งานด้านดิจิทัลอื่นๆ กับ สจล. ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ มีผลงานวิจัยมากมาย และยังสามารถนำมาใช้ในการศึกษาเพื่อนำไปสู่การเรียนการสอนในชั้นเรียนได้อีกด้วย
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปฯ กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้มีการศึกษารูปแบบ “ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง” (Tram Bus) ในเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ไว้จำนวน 2 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากสถานีลาดกระบัง-หัวตะเข้ ระยะทาง 4 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีพระจอมเกล้า และสถานีหัวตะเข้เส้นทางที่ 2 วิ่งรอบภายในพื้นที่ของสถาบัน และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์
สำหรับรถรางไฟฟ้าล้อยางเป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ได้รับความนิยมใช้ตามเมืองหลวงต่างๆ ในต่างประเทศ มีลักษณะคล้ายรถโดยสารทั่วไปแต่จะทันสมัยกว่า และมีการพ่วงตู้โดยสาร โดยในรถ 1 ขบวนจะมี 3 ตู้ ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 250 คนต่อขบวน ใช้ความเร็วได้สูงสุด 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่มีมลพิษเนื่องจากใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อน
ทั้งนี้ ใน 2 เส้นทางจะต้องใช้รถรางไฟฟ้าล้อยาง จำนวน 4 ขบวน ในการให้บริการ ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่ใช้บริการภายในสถาบันฯ และประชาชนทั่วไป โดยรูปแบบการใช้บริการสามารถใช้บัตรแรบบิทในการเดินทาง และสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง
“โครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และหากสามารถนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปได้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี โครงการนี้จึงจะเสร็จสมบูรณ์ และเป็นระบบรถรางไฟฟ้าล้อยางแห่งแรกที่จะวิ่งในสถาบันการศึกษาของประเทศไทยและจะเป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่นๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคตได้”นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับบีทีเอส และ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่เป็นเลิศทางด้านธุรกิจระบบขนส่งสาธารณะทางราง สื่อโฆษณาอสังหาริมทรัพย์ และผู้นำทางด้านเทคโนโลยีด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โดยทั้ง 2 บริษัทจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษาให้มีความสะดวกสบาย ทั้งด้านการเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวันให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะการเดินทางสัญจรภายในบริเวณสถาบันฯ และเขตชุมชนใกล้เคียง
อย่างไรก็ตามปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมากเนื่องจากมีทางรถไฟวิ่งผ่านกลางสถาบันฯ มีผู้โดยสารเดินทางมาขึ้น-ลงจำนวนมาก ประชาชนนำรถยนต์ส่วนตัวออกมาขับขี่แทนการใช้ระบบขนส่งมวลชน ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็นเกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดการสะสมมลพิษ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมภายในสถาบันฯ สุขภาพของนักศึกษา และประชาชนทั่วไปอีกด้วย
“จากปัญหาดังกล่าว ทางบีทีเอสฯ ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาโดยการศึกษาเส้นทาง “ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง” (Tram Bus) เพื่อใช้เป็นระบบขนส่งมวลชนหลักในการเดินทางของนักศึกษา และบุคลากรภายในสถาบันฯ ในการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แก้ปัญหาจราจร พร้อมทั้งลดมลพิษภายในสถาบันฯ ให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ และยังสามารถตอบโจทย์ให้แก่นักศึกษาซึ่งเป็นวัยรุ่นยุคใหม่ที่เน้นความรวดเร็ว และสะดวกสบายในการเดินทางเป็นหลัก”นายสุชัชวีร์กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |