ม็อบเผชิญหน้าสัปปายะสภาสถานไร้เหตุรุนแรง จัดกิจกรรมคนละฟากถนน “ครช.” ย้ำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เผากงเต๊ก รธน.2560 ส่วน “ศอปส.” ส่งหนังสือให้ “ชวน” ลงดาบ “ไอ้โม่ง” ที่อยู่เบื้องหลังม็อบเด็ก “กำนัน” เริ่มขยับบอกอย่าก้าวล่วงสถาบัน “ครป.” เตรียมนัด 30 องค์กรหนุนเด็กจัดกิจกรรม “พุทธิพงษ์” แจงดำเนินคดีเว็บปูดข่าวมั่วแล้ว พร้อมจี้แพลตฟอร์มต่างประเทศต้องเดินเครื่อง หากเมินเฉยมีโทษปรับหนักแน่
เมื่อวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม ที่สัปปายะสภาสถาน หรือรัฐสภา ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุม 2 กลุ่มมาจัดกิจกรรม ประกอบด้วยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ที่นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันฯ (ศอปส.) นำโดยนายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู และ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โดยผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายต่างอยู่กันคนละมุมถนน โดย ครช.ปักหลักอยู่บริเวณทางเข้าออกหลักของรัฐสภา ถ.สามเสน ส่วน ศอปส.รวมตัวอยู่ฝั่งศูนย์ราชการฯ กทม. ถ.ทหาร
ทั้งนี้ กลุ่ม ครช.เริ่มดำเนินกิจกรรมแสดงละครเงียบล้อการเมือง และมีตัวแทนแต่ละกลุ่มมาปราศรัยแสดงจุดยืนไม่แก้ไข แต่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น โดยนายอนุสรณ์อ่านแถลงการณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างมาเพื่อผลประโยชน์ของบางกลุ่ม และสร้างเงื่อนไขอย่างแน่นหนาในการแก้ไข จึงจำเป็นต้องทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นกลุ่มจึงขอยื่นหนังสือแก่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เพื่อให้ยื่นร่างพระราชบัญญัติประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และบรรจุในวาระการพิจารณาของสภาให้ออกเป็นกฎหมายต่อไป
จากนั้นนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ออกมารับหนังสือและระบุว่า พรรคฝ่ายค้านมีความคิดไปในทิศทางเดียวกันกับทุกท่านที่มา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ โดยร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข พรรคฝ่ายค้านร่างและลงชื่อเรียบร้อยแล้ว พร้อมเสนอต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 17 ส.ค.
จากนั้นกลุ่ม ครช.ทำกิจกรรมเผากงเต๊ก ส่งรัฐธรรมนูญกลับไปให้ท่านใช้เอง โดยเมื่อผู้ชุมนุมเผาพานรัฐธรรมนูญกระดาษเรียบร้อยก็ได้แยกย้ายเลิกทำกิจกรรม
ส่วนกลุ่ม ศอปส.เริ่มต้นชุมนุมบริเวณศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) ถ.ทหาร จากนั้นได้เคลื่อนมายังบริเวณป้ายรถเมล์หน้ารัฐสภา ถ.สามเสน โดยนายสุเมธอ่านแถลงการณ์ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันต้องการความรู้รักสามัคคี แต่มีกลุ่มบุคคลเคลื่อนไหวนำสถาบันพระมหากษัตริย์มายุยงให้แตกแยก เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น กลุ่มนักเรียนอาชีวะและนักศึกษา ประชาชนที่มีใจรักสถาบันและแผ่นดินไทยเห็นว่าถึงเวลาที่จะรวมตัวกันประท้วงกลุ่มคนเหล่านั้น ที่ใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือทำลายชาติ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ พวกเราจึงรวมตัวกันจัดตั้งศูนย์ ศอปส.ขึ้นเพื่อดำเนินการท้วงติงให้สติต่อกลุ่มเยาวชน พ่อแม่ ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่รัฐ ให้ตระหนักถึงภัยคุกคามของชาติ โดยกลุ่มจะใช้วิธีการต่อต้านโดยการเปิดเผยชื่อบุคคลที่ชังชาติ และดำเนินการกับกลุ่มที่หมิ่นสถาบันอย่างถึงที่สุด
“หากมีกลุ่มจาบจ้วงสถาบัน พวกผมก็จะไปยืนดูอย่างสงบนิ่ง และสบตาทุกคนที่จาบจ้วง ผมจะล็อกเป้าทุกคน แต่ล็อกเป้ามาเจรจากัน” นายสุเมธกล่าว
จี้ลงดาบไอ้โม่งอยู่เบื้องหลัง
จากนั้นนายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มารับหนังสือจากกลุ่ม ศอปส. โดยตัวแทนนักเรียนอาชีวะอ่านเนื้อหาในหนังสือที่ยื่นข้อเรียกร้องถึงประธานสภา ขอให้รัฐสภาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะกลุ่มได้ข้อสรุป 3 ข้อ คือ 1.มีกลุ่มการเมืองที่มีเจตนาไม่ดีต่อสถาบัน ซึ่งอยู่เบื้องหลังการชุมนุมและส่งชุดความคิดไม่ถูกต้อง 2.ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง กลุ่มนักการเมืองพยายามสร้างวาทกรรมแบ่งแยกพรรคการเมืองออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือประชาธิปไตย อีกฝ่ายคือเผด็จการ การกระทำเช่นนี้ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด และ 3.ปัจจุบันกลุ่มการเมืองใช้วาทกรรมแบ่งแยกประชาธิปไตยออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
“ในนามกลุ่มพิจารณาแล้วว่า รัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันด้านประชาธิปไตยที่มีหน้าที่ให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยให้ถูกต้อง ต้องดำเนินการดังนี้ 1.ควบคุมการเมืองที่ปลุกปั่นอย่าให้ดำเนินการเช่นนี้อีก และตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองเหล่านี้ พร้อมลงโทษตามความผิดรัฐธรรมนูญ และ 2.ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเพื่อปกป้องไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะแม้ผมเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็ยอมรับไม่ได้ที่ใครจะมาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเรา” ตัวแทนเยาวชนกล่าว
ขณะที่นายแทนคุณกล่าวหลังรับหนังสือว่า การมาครั้งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุมใช้สันติวิธีจึงจะนำข้อเรียกร้องนี้เรียนต่อประธานสภาต่อไป และยินดีรับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม เพราะต้องการให้ใช้กลไกของรัฐสภาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุม ศอปส.ได้ร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนแยกย้ายกันกลับ
ด้านนายศักดิ์ชัย ชาติพุดซา นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า อยากเรียกร้องกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวชุมนุม โดยเฉพาะเรื่องการจาบจ้วงสถาบันอยากให้หยุด การที่ท่านจะเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญหรือเรื่องอะไรก็ตามจากรัฐบาลก็เรียกร้องไปตามสิทธิของท่าน แต่ขอย้ำว่าให้อยู่ในกรอบ
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ระบุว่า ในวันศุกร์ที่ 14 ส.ค. เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ครป.จะเชิญเครือข่ายภาคประชาชนและ 30 องค์กรประชาธิปไตยมาระดมความคิดเห็น และทางออกเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในสถานการณ์วิกฤติ โดยมีวาระสำคัญ 3 วาระ คือ 1.แสดงพลังสนับสนุนขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย 2.เรียกร้องรัฐบาลปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ยุติการติดตามข่มขู่คุกคามนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และ 3.นำเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ก่อนจะบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคมครั้งที่ 2
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการชุมนุมของม็อบทั้ง 2 กลุ่มว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างในทางการเมืองเป็นเรื่องปกติที่มีมาโดยตลอด สิ่งหนึ่งที่จะเรียนคือการใช้โอกาสในการสื่อสารในส่วนของโซเชียลมีเดีย อยากจะให้ระมัดระวังเพราะบางข้อมูลเป็นข้อมูลที่บิดเบือน
“ยืนยันว่าความเห็นต่างเป็นสิ่งปกติในทางระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องระมัดระวัง การละเมิดสิทธิ์คนอื่นและสถาบันหลักของประเทศ ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ว่าใครก็คงจะยอมไม่ได้” นายพุทธิพงษ์กล่าว
เชื่อม็อบไม่ชนม็อบ
เมื่อถามถึงความกังวลว่าทั้ง 2 ม็อบจะเผชิญหน้ากันหรือไม่ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า คิดว่าเป็นไปได้น้อยเพราะทั้งสองฝั่งก็มีนักคิดของตัวเอง ทุกคนแสดงความเห็นต่างกันทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่ว่าการปะทะกันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย ในอดีตที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยการปะทะกันทำให้เกิดความเสียหายและสูญเสีย คิดว่าเราควรแสดงออกแบบคนรุ่นใหม่โดยใช้เหตุและผล ทั้งการใช้ผ่านโซเชียลมีเดียหรือแสดงออกผ่านทางการชุมนุม ซึ่งพยายามติดตามดูว่าถ้าไม่ผิดกฎหมาย ไม่ไปละเมิดหรือก้าวล่วงสถาบันหลักก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าไปละเมิดยืนยันว่าดำเนินคดีแน่นอน
นายพุทธิพงษ์ยังกล่าวถึงการดำเนินคดีในเว็บเพจต่างๆ ว่า ในเวลา 7 วันที่ผ่านมามีเว็บที่มีการบิดเบือนเข้ามาประมาณ 3 พันเรื่อง ส่งศาลไปแล้วกว่า 700 เรื่อง หากศาลมีคำสั่งออกมาเราจะดำเนินการไปยังแพลตฟอร์มต่างประเทศเพื่อให้ปิดหรือลบตามคำสั่งศาลภายใน 15 วัน หากไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน เราจะดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มต่างประเทศนั้นๆ ซึ่งมีทั้งโทษอาญาและโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีการปรับรายวันไม่เกิน 5 พันบาท
นายพุทธิพงษ์ยังกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของ กปปส.ในอนาคตว่า เรื่องนี้อยู่ในความรู้สึกของทุกคน หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นก็คงมีคนออกมาเสมอ ไม่ว่าจะมาจากฝั่งไหน ตนเองเป็นคนหนึ่งที่เคยออกมาเคลื่อนไหว อยากเตือนไปถึงน้องๆ ว่าการออกมาชุมนุมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือเกิดการสูญเสียขึ้น หากจะทำอะไรต้องตัดสินใจให้ดีและอยู่ในกรอบกฎหมาย และหลังจากชุมนุมทุกครั้งจะมีการดำเนินคดีขึ้นโรงขึ้นศาล ไม่ว่าจะผิดหรือถูกก็ต้องใช้เวลานานมากกว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญอยากให้น้องๆ ทุกคนที่ออกมาได้ระมัดระวัง เพราะเสียเวลาและเสียโอกาส
ส่วน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.ชี้แจงกรณีสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ได้โพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า มีเยาวชนแกนนำที่จะจัดกิจกรรมในจังหวัดพิษณุโลก หายตัวไปติดต่อไม่ได้ 3 คน และล่าสุดถูกอุ้มไปไว้ในค่าย ตชด.เพื่อให้งานในวันที่ 9 ส.ค.ล่ม ว่าจากการตรวจสอบไม่พบมีการดำเนินคดีหรือการควบคุมตัวผู้ใดตามที่โพสต์แต่อย่างใด ซึ่งขอฝากไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมโดยเฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ออกมาจัดกิจกรรมสามารถกระทำได้ แต่ต้องกระทำภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางช่องทางออนไลน์ต่างๆ นั้นก็ควรตรวจสอบข้อมูลก่อน เนื่องจากการเผยแพร่หรือแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และทำให้สังคมเกิดความสับสนและประชาชนตื่นตระหนกได้
วันเดียวกันยังคงมีการแสดงความคิดเห็นถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะความคิดเห็นของ
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า วันนี้ต่างคนต่างคิดแต่ยังไม่เคยได้พูดกัน ตอนนี้ยังไม่มีใครส่งอะไรมา ขอรอให้ตกผลึกก่อน ส่วนที่เคยบอกว่ารัฐบาลมีธงแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รอให้นายกฯ เป็นผู้ควักธงออกมา ทั้งนี้รัฐบาลมีส่วนในการใช้รัฐธรรมนูญนี้ ตั้งแต่มีการประกาศใช้ก็มองเห็นจุดอ่อน ส่วนจะแก้อะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แก้ รธน.ต้องใช้ทุกฝ่าย
เมื่อถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลพร้อมเป็นเจ้าภาพ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ทราบจะไปถึงขนาดไหน แต่ทุกคนต้องเข้าใจว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียงของ ส.ส.และ ส.ว. และบางประเด็นต้องอาศัยเสียงของประชาชน ถ้าเข้าใจตรงนี้กันแล้วทุกอย่างก็จะเดินไป
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า ความเห็นต่างกันบ้างถือเป็นเรื่องปกติ แต่ที่สุดคงต้องใช้เสียงข้างมากว่าควรแก้ในประเด็นไหน วิธีการอย่างไร ส่วนกำหนดเวลารัฐบาลเหลือกว่า 2 ปีจะทันหรือไม่นั้น เวลาก็มีอยู่เท่านี้ ฉะนั้นเรื่องเวลาก็ต้องบริหารกัน บางอย่างอาจทันสมัยนี้ บางอย่างอาจไม่ทัน แล้วแต่จังหวะ ฉะนั้นเวลามีค่า และอะไรที่เราเห็นตรงกันและสามารถทำได้ทันก็ต้องอาศัยความร่วมมือกัน
“เหมือนขับรถออกจากบ้าน บางทีเกิดอุบัติเหตุโดยไม่รู้ตัวก็ได้ หรืออาจเรียบร้อยไม่มีอะไรก็ได้ ยิ่งตอนนี้มีการปรับคณะรัฐมนตรีแล้ว ผมเชื่อว่าตอนนี้อารมณ์ของสังคมให้ความสำคัญเรื่องโควิด และหลังโควิดคือเรื่องเศรษฐกิจ ตอนนี้ทุกคนกลัวตกงาน เรื่องปากท้อง ถ้าเรื่องเศรษฐกิจไปได้ด้วยความเรียบร้อย พี่น้องประชาชนก็ต้องสนับสนุนให้รัฐบาลได้ทำงานต่อจนครบเทอม“ นายสุวัจน์กล่าว
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยได้ประชุมและประเมินสถานการณ์ การชุมนุมของประชาชนเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ากระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญจุดติดขึ้นมาแล้ว วันนี้มีการเถียงกันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราหรือแบบมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และจะทำอย่างไรให้มีการแก้ไขโดยเร็วที่สุด พรรคเพื่อไทยขอ 3 อย่าที่รัฐบาลอย่ากระทำต่อประชาชน 1.อย่าไปข่มขู่ คุกคามนิสิต นักศึกษาประชาชน 2.อย่าดำเนินการเกินกรอบกฎหมาย อย่าแจ้งข้อหาหนักเกินกว่าความเป็นจริง และ 3.อย่าจัดม็อบชนม็อบ
“พรรคเพื่อไทยมองว่าวิกฤติการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง เสียงที่ประชาชนขับไล่รัฐบาลเป็นเสียงประชาชน ดังนั้นควรเปิดช่องทางให้ทุกฝ่ายร่วมกันค้นหาทางออกให้ประเทศชาติ” นายอนุสรณ์กล่าว
นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เห็นด้วยสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยสำหรับการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมไม่ได้สร้างความเสียหายให้ประเทศ มีแต่ทำงานให้ประเทศด้วยความตั้งใจ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันเหมือนรัฐบาลในอดีต ดังนั้นการชุมนุมขับไล่จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวโต้ว่า สงสัยว่าสติของนายธนกรยังดีอยู่หรือไม่ เพราะประเทศชาติเสียหายทุกวันนี้เพราะใคร ไปถามชาวบ้านเดินถนนดูก็รู้ นักเรียนนิสิตนักศึกษายังออกมาประท้วงทั่วประเทศเหมือนไฟลามทุ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |