จากที่ Global COVID-19 Index (GCI) ที่ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 เป็นอันดับหนึ่งของโลกโดยใช้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ดูภาพรวมในมิติต่างๆ ตั้งแต่ในด้านการฟื้นตัว (Global Recovery Index) และด้านความรุนแรงของการระบาด (Global Severity Index) โดยประเทศไทยได้รับการประเมินให้ได้คะแนนดีที่สุดในทั้งสองมิติจาก 184 ประเทศทั่วโลก
ซึ่งคะแนน 70% มาจากตัวชี้วัด 4 ด้าน การประเมินผล (คะแนนสูง หมายถึงฟื้นตัวได้ดี) ประกอบด้วย 1.จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังดูแลอยู่ (Active Case) ต่อประชากร 2.ผู้ที่รักษาหายแล้วต่อผู้ติดเชื้อ 3.จำนวนการตรวจต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ 4.จำนวนการตรวจต่อประชากร ส่วนอีก 30% เป็นคะแนนคงที่ซึ่งได้มาจากดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (The Global Health Security Index : GHS) ที่ประเมินโดยมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกา ใน 3 หมวดหมู่ คือ 1.ความสามารถในการตรวจพบและรายงานการติดเชื้อ 2.ความสามารถในการตอบสนองอย่างรวดเร็วในการควบคุมโรค 3.ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขในการรักษาผู้ติดเชื้อ และ 4.ดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
โดยประเทศไทยติดอันดับ 1 ของโลก (ณ วันที่ 29 ก.ค.2563) ด้วยคะแนนรวม 82.27 และจัดอยู่ในกลุ่มเรตติ้ง 5 คือ ประเทศที่บรรเทาการระบาดของไวรัสได้ก้าวหน้าที่สุดในโลก
อีกดัชนีที่ GCI ใช้วัดคือ Global Severity Index เป็นดัชนีที่แสดงถึงความรุนแรงของสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ประมวลผลจาก (คะแนนน้อย หมายถึงความรุนแรงน้อย) คะแนน 70% เป็นค่าความรุนแรง ซึ่งวิเคราะห์ประจำวันมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1.จำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากร 2.สัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ และต่อประชากร
ขณะที่ คะแนน 30% เป็นคะแนนคงที่ที่ได้มาจากดัชนีความปลอดภัยทางสุขภาพทั่วโลก (The Global Health Security Index : GHS) ที่ประเมินโดยมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อวัดความพร้อมของแต่ละประเทศในการรับมือกับโรคระบาด แบ่งเป็น 2 หมวด ประกอบด้วย 1.ความสามารถในการป้องกันโรคระบาด 2.ความสามารถของระบบสาธารณสุขในการควบคุมการระบาด ซึ่งประเทศไทยได้คะแนนรวม 10.70 อยู่ในกลุ่มเรตติ้ง 1 หมายถึงประเทศที่รับมือกับวิกฤติได้ดี โดยมีเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อต่ำ และมีผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร
ต่อมา ลองวิเคราะห์คะแนนที่ประเทศไทยได้ อย่างแรกคือ ความสามารถในการตรวจพบและรายงานการติดเชื้อ แน่นอนว่านอกจากเราจะมีบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล แต่กลุ่มคนสำคัญที่ทำให้สามารถเร่งตรวจหาคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้นั้น คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยในช่วงที่ยังมีผู้ติดเชื้อในประเทศ มี อสม.เข้ามาช่วยเหลืองานสาธารณสุข 1.5 ล้านคน จนได้รับการยกย่องให้เป็น “ฮีโร่ไร้เสื้อกาวน์”
โดยผลการดำเนินงานของ อสม. คือ การเคาะประตูบ้านเฝ้าระวังโรค เป็นจำนวนทั้งสิ้น 12,730,083 หลังคาเรือน ภายใต้รูปแบบการทำงาน 4 กลุ่ม หลังจากที่ไวรัสแพร่ระบาด 1.อสม.ด่านหน้า ปฏิบัติหน้าที่ติดตามกลุ่มเสี่ยง (home quarantine) และปฏิบัติงาน ณ จุดคัดกรองชุมชน 2.อสม.เคาะประตูบ้านค้นหากลุ่มเสี่ยง และให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชน 3.อสม.กลุ่มสนับสนุน เช่น ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ฯลฯ 4.อสม.ที่ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19
ในส่วนขั้นตอนการทำงาน แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมระดับจังหวัด โดยจะมีการเตรียมการตั้งแต่ข้อมูล คอยติดตามสถานการณ์โรค ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด ถัดมาเป็นการเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ ปรอทวัดไข้ หน้ากากอนามัย สื่อให้ความรู้/คำแนะนำ และแบบฟอร์มรายงานผล 2.อสม.เคาะประตูบ้าน 3.คัดกรองด้วยการซักประวัติ สอบถามอาการ และวัดไข้ 4.ประสานงานต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเจ้าหน้าที่จะทำการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 หรือไม่ หากพบเชื้อจะถูกส่งตัวไปรักษา 5.กรณีที่ไม่พบเชื้อ กลุ่มเป้าหมายจะยังคงถูกติดตามอาการ 14 วัน โดยเฝ้าระวังอาการ และจะมี อสม.เข้าไปวัดไข้ทุกวัน 6.รายงานผลผ่านช่องทางออนไลน์ จึงไม่แปลกที่ต่างชาติต่างชื่นชม อสม.ไทย ซึ่งหลายประเทศยากจะเลียนแบบ
ในส่วนการตอบสนองควบคุมโรคที่เห็นง่ายๆ จากกรณีพบผู้ติดเชื้อชาวอียิปต์ใน จ.ระยอง ที่เมื่อตรวจสอบพบได้ส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลทันที ส่วนบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ได้มีการจับตรวจหาเชื้ออย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่พบเชื้อในภายหลัง ส่วนสถานที่ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าต่างตื่นตัวอย่างมาก บางห้างถึงขั้นปิดเพื่อทำการบิ๊กคลีนนิ่งครั้งใหญ่ พ่นน้ำยา เช็ดพื้นผิวสัมผัสทันที นอกจากนี้ยังมีการจัดรถตรวจหาเชื้อลงไปในพื้นที่เพื่อตรวจให้กับชาวระยองทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ แน่นอนว่ารัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอทั้งค่าตอบแทน รวมถึงเสนอบรรจุบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้เข้าเป็นข้าราชการ อีกทั้งในการป้องกันโรคทางกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งสั่งซื้อ รวมทั้งจัดทำหน้ากาก N95 รวมทั้งชุดป้องกัน PPE เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับบุคลากรหน้างานเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจเป็นอย่างยิ่งของรัฐบาล
ในส่วนของคะแนน Global Severity Index เนื่องจากประเทศไทยไม่ค่อยพบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อจำนวนมาก บวกกับเป็นประเทศแรกที่มีการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างจริงจังหลังจากเคสสนามมวย และสถานบันเทิง จึงทำให้รัฐบาลมีการตื่นตัวที่ไวมากในการควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งยังมีการประกาศเคอร์ฟิว โดยในช่วงล็อกเต็มรูปแบบ ปิดสถานประกอบการเกือบทุกแห่ง รวมถึงสถานที่ทำงานที่ได้มีการรณรงค์ให้ทำงานที่บ้านอย่างจริงจัง เพื่อลดการสัมผัสระหว่างบุคคล ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ
อีกทั้ง ช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนัก ประชาชนมีการตื่นตัวป้องกันโรคไม่น้อยกว่ารัฐบาล เห็นได้จากจำนวนการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย รวมทั้งแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีช่วงหนึ่งที่ขาดแคลนจนทำให้ร้านค้าบางเจ้าต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ ทำให้เห็นว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีการติดเชื้อภายในประเทศแค่ 2,444 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตแค่ 58 ราย ทั้งนี้แม้จนถึงปัจจุบันจะไม่พบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นเวลานาน แต่ก็เห็นได้ว่าประชาชนก็ยังมีหน้ากากอนามัยติดตัวอยู่เสมอ
นอกจากนั้น ระบบการแพทย์ไทยจากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ดีที่สุด อันดับ 6 ของโลก โดยได้คะแนนทั้งหมด 67.99 เต็ม 100 แบ่งออกเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน 92.58 คะแนน ด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ 17.37 คะแนน ด้านค่าใช้จ่าย 96.22 คะแนน ด้านการเข้าถึงยา 67.51 คะแนน และความพร้อมของรัฐบาล 89.91 คะแนน ดังนั้นจึงส่งผลต่อการป้องกันโควิด-19 ในไทยด้วย
แม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะดีแค่ไหนก็ยังไม่ควรประมาทอยู่ดี เพราะสถานการณ์โลก ณ ขณะนี้ที่ไม่กี่วันก็จะมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 20 ล้านคนแล้ว จากประสบการณ์ที่เคยมี การแพร่ระบาดในวงกว้างในไทยเกิดจากผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่คน และตอนนี้เห็นได้ว่าคนไทยหลายคนกำลังการ์ดตก ดูได้จากข่าวที่มีการจัดคอนเสิร์ต และสถานบันเทิงในหลายพื้นที่ ลองคิดว่าถ้ามีผู้ติดเชื้อแค่คนเดียวอยู่ในวงนั้น แล้วคนไปดูส่วนใหญ่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย สถานการณ์จะย่ำแย่กว่ากรณีสนามมวย เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถประมาทได้ เพราะไทยก็ไม่อยากตกที่นั่งลำบากเหมือนกับประเทศตะวันตก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |