ไม่เดือด! 2ม็อบประชันหน้าสภา โชว์พลังก่อนแยกย้ายกลับ


เพิ่มเพื่อน    

10 ส.ค. 63 - ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้มีการชุมนุมหน้ารัฐสภา 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และ 2.ศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันฯ(ศอปส.) นำโดยนายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู ซึ่งทั้งสองกลุ่มต่างทำกิจกรรมในพื้นที่ของตนเอง

โดย ครช. ปักหลักชุมนุม บริเวณทางเข้า-ออกรัฐสภา ถ.สามเสน ภายใต้จุดยืน “ไม่แก้ไข เขียนใหม่เท่านั้น”  เริ่มดำเนินกิจกรรมแสดงละครเงียบล้อการเมือง และมีตัวแทนจากแต่ละกลุ่มมาปราศรัยแสดงจุดยืนไม่แก้ไข แต่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น

นอกจากนี้ นายอนุสรณ์ แถลงการณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างมาเพื่อผลประโยชน์ของบางกลุ่ม และสร้างเงื่อนไขอย่างแน่นหนาในการแก้ไขตามมาตรา 256 ขณะเดียวกันเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง เพราะตระหนักว่าความเลวร้ายที่พวกเขาได้เจออยู่ตอนนี้และในอนาคตมาจากรัฐธรรมนูญ และต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน เพื่อประชาชน แม้จะมีการตอบสนองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากภาคการเมืองทั้ง ส.ส. และ ส.ว. แต่ก็แก้ไขเฉพาะมาตรา และเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม จึงจำเป็นต้องมีการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น ทางกลุ่มจึงขอยื่นหนังสือแก่วิปฝ่ายค้าน เพื่อให้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้บรรจุในวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้ออกเป็นกฎหมายต่อไป

จากนั้น นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน มารับหนังสือจาก ครช.  โดยนายสุทิน กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านมีความคิดไปในทิศทางเดียวกันกับทุกท่านที่มาวันนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา เหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข พรรคฝ่ายค้านร่างและลงชื่อเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเสนอต่อรัฐสภา แต่รอให้มีการพิจารณาร่วมกับ ส.ว. และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน และจะยื่นในวันจันทร์ที่ 17 ส.ค. แต่บันไดที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญคือ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งได้รับจาก ครช. วันนี้ ฝ่ายค้านจะนำไปตรวจสอบสาระและข้อกฎหมาย ก่อนที่จะให้สมาชิกลงชื่อและเสนอภายในวันพฤหัสบดีหรือวันศุกร์ ภายในสัปดสห์นี้  ทั้งนี้แต่เมื่อเข้าสู่วาระของสภาแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะต้องร่วมมือกันให้มากขึ้น พร้อมชี้แจงว่าร่างแก้ไรรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านมี 2 เรื่องหลักคือแม้มาตรา 256 และตั้ง สสร. ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกันกับ ครช. แน่นอน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีความเห็นแก้ไข 3 ประเด็น คือ มาตรา 256, มาตรา 269-272 ตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภามีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีและไม่ยึดโยงกับประชาชน, มาตรา 279 ยกเลิกการรับรองคำสั่ง คสช.

จากนั้น ทางกลุ่มฯ ทำกิจกรรม “ เผากงเต๊ก ส่งรัฐธรรมนูญกลับไปให้ท่านไปใช้เอง” โดยเมื่อผู้ชุมนุมเผาพานรัฐธรรมนูญกระดาษเรียบร้อยก็ได้แยกย้ายเลิกทำกิจกรรม

ขณะที่ กลุ่มศอปส. เริ่มต้นชุมนุมบริเวณ ศูนย์ราชการกรุงเทพมหนคร (เกียกกาย) ถ.ทหาร จากนั้นได้เคลื่อนมายังบริเวณป้ายรถเมล์หน้ารัฐสภา ถ.สามเสน โดยนายสุเมธ อ่านแถลงการณ์ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันต้องการความรู้รักสามัคคี แต่มีกลุ่มบุคคลเคลื่อนไหว โดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์มายุยงให้แตกแยก เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น กลุ่มนักเรียนอาชีวะและนักศึกษา ประชาชนที่มีใจรักสถาบันและแผ่นดินไทยเห็นว่าถึงเวลาที่จะรวมตัวกันประท้วงกลุ่มคนเหล่านั้นที่ใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือทำลายชาติ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ พวกเราจึงรวมตัวกันจัดตั้งศูนย์การประสานงานนักศึกษาอาชีวะประชาชนปกป้องสถาบัน(ศอปส.) ขึ้นเพื่อดำเนินการท้วงติงให้สติต่อกลุ่มเยาวชน พ่อแม่ ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่รัฐ ให้ตระหนักถึงภัยคุกคามของชาติ โดยกลุ่มจะใช้วิธีการต่อต้านโดยการเปิดเผยชื่อบุคคลที่ชังชาติ และดำเนินการกับกลุ่มที่หมิ่นสถาบันอย่างถึงที่สุด

“หากมีกลุ่มจาบจ้วงสถาบัน พวกผมก็จะไปยืนดูอย่างสงบนิ่ง  และสบตาทุกคนที่จาบจ้วง ผมจะล็อกเป้าทุกคน แต่ล็อกเป้ามาเจรจากัน” นายสุเมธ กล่าว

จากนั้น นายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้รับหนังสือจากกลุ่มศอปส. โดยตัวแทนนักเรียนอาชีวะ อ่านเนื้อหาในหนังสือที่ยื่นถึงนายชวน ว่า ข้อเรียกร้องถึงประธานสภาฯ ขอให้รัฐสภาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ในห้วงเวลาที่ผ่านมาได้มีกลุ่มบุคคลออกมาชุมนุมโจมตีรัฐบาลและมีการกล่าวร้ายพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง ในนามกลุ่มจึงได้รวมตัวกันพูดคุยถึงปัญหาว่าเจตนาของผู้กลุ่มชุมนุมดังกล่าวมีเจตนารมณ์อย่างไร ซึ่งจากการประชุมได้ข้อสรุป 3 ข้อ คือ 1. มีกลุ่มการเมืองที่มีเจตนาไม่ดีต่อสถาบัน ซึ่งอยู่เบื้องหลังการชุมนุมและมีการส่งชุดความคิดไม่ถูกต้อง 2. ตั้งแต่ก่อนการเลือก กลุ่มนักการเมืองพยายามสร้างวาทกรรมแบ่งแยกพรรคการเมืองออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือประชาธิปไตย อีกฝ่ายคือเผด็จการ การกระทำเช่นนี้ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด และ3. ปัจจุบันกลุ่มการเมืองใช้วาทกรรมในการแบ่งแยกประชาธิปไตยออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

“ในนามกลุ่มพิจารณาแล้วว่ารัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันด้านประชาธิปไตยที่มีหน้าที่ให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยให้ถูกต้องต้องดำเนินการดังนี้ 1.ควบคุมการเมืองที่ปลุกปั่นอย่าให้ดำเนินการเช่นนี้อีก และตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองเหล่านี้พร้อมลงโทษตามความผิดรัฐธรรมนูญ และ2.ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเพื่อปกป้องไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สุดท้ายนี้พวกเราขอยืนยันว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยจะต้องเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่วนตัวผมเป็นเด็กรุ่นใหม่ยอมรับไม่ได้ที่ใครจะมาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเรา” ตัวแทนเยาวชน ระบุ

ด้าน นายแทนคุณ กล่าวหลังรับหนังสือว่า การมาครั้งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุมใช้สันติวิธีในการแสดงออกถึงระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะนำข้อเรียกร้องนี้เรียนต่อประธานสภาฯต่อไป และขอบคุณที่ดำเนินกิจกรรมชุมนุมโดยสงบภายใต้กรอบกติกา ยืนยันว่าไม่ได้เลือกข้างเลือกฝ่ายใดในการรับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม ยินดีรับทุกกลุ่ม เพราะต้องการให้ใช้กลไกของรัฐสภาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
จากนั้น ทางกลุ่มผู้ชุมนุมศอปส. ได้ร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนแยกย้ายกันกลับ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"