กสทช.สั่งทรูเยียวยาลูกค้าทั้งแพ่ง-อาญา ชดเชยความเสียหายข้อมูลบัตรประชาชนหลุด ขู่ไม่ดำเนินการปรับวันละ 2 หมื่น "วิษณุ" แจง TRUE-AIS ร้องรัฐอุ้ม เหตุกำไรส่วนอื่น ขาดทุนค่าโทร.-เน็ต โยนคสช.เคาะ
เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เชิญบริษัททรูมูฟเอชมาชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีทำข้อมูลบัตรประชาชนลูกค้าหลุดเป็นจำนวนมากนั้น ในวันที่ 18 เม.ย. สำนักงาน กสทช.ได้มีหนังสือถึงบริษัท เรียล มูฟ จำกัด เรื่องให้ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มีคำสั่งให้บริษัทระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน แก้ไขปรับปรุง และปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม ในเรื่องดังต่อไปนี้
1.จัดให้มีมาตรการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลทั้งทางด้านเทคนิคและการจัดการภายในองค์กรในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยอย่างน้อยต้องปรับระดับรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตามการพัฒนาทางเทคโนโลยี และให้มีการตรวจสอบระบบการรักษาความปลอดภัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของข้อมูล
2.จัดให้มีช่องทางการตรวจสอบจากประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 3.ให้เรียลมูฟ รับผิดชอบและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางแพ่งและทางอาญา และ 4.ให้รายงานผลการดำเนินการตามคำสั่งตามข้อ 1, 2 และ 3 มายังสำนักงาน กสทช. ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำสั่งนี้เป็นระยะๆ ทุก 15 วัน
"หากเรียลมูฟไม่ดำเนินการตามคำสั่งนี้ จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองกำหนดค่าปรับทางปกครองตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อวัน ตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ทั้งนี้ เรียลมูฟมีสิทธิโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวได้โดยยื่นอุทธรณ์ต่อ กสทช. ภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ ตามมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544" นายฐากรระบุ
เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า พร้อมกันนี้ยังได้มีหนังสือถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นๆ ว่าต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลทั้งทางด้านเทคนิคและการจัดการภายในองค์กรในรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละบริการโทรคมนาคม ตามข้อ 10 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมกำหนด โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศอย่างเคร่งครัด
ด้านนายาจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ถือเป็นหัวใจหลักของดีแทคในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ สำหรับการจัดเก็บข้อมูล ดีแทคใช้เซิร์ฟเวอร์ของบริษัท ซึ่งมีการจำแนกข้อมูลเพื่อประโยชน์ต่อการควบคุม และรักษาความปลอดภัยของข้อมูลโดยการเข้ารหัส ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรง ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลจะจำกัดให้เพียงผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ได้แก่ ฝ่ายการจัดการ ฝ่ายบริหารข้อมูล และหน่วยงานลูกค้าสัมพันธ์ เช่น คอลเซ็นเตอร์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากพบการเข้าถึงข้อมูลลูกค้าที่ไม่ถูกต้อง บริษัทจะเข้าสืบสวนโดยทันที ตลอดจนการใช้ระบบสุ่มตรวจอีกด้วย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมว่า การประชุมผู้เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันถึงความจำเป็นสำหรับการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่ หากจำเป็นเพราะเหตุใด ถ้าจะช่วยจะช่วยอย่างไร ซึ่งต้องได้ประโยชน์ทั้งหมด โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้หลักการไว้ว่า ถ้าต้องช่วยเหลือต้องสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประเทศชาติเศรษฐกิจได้ประโยชน์และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการและส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต่อไปหากได้ข้อสรุปอย่างไรต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม คสช.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทั้งทรูและเอไอเอสมีกำไรพอสมควรนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะให้ความเป็นธรรมหรือช่วยเหลืออย่างไร เพราะต้องเสนอ คสช.พิจารณาก่อน อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ตัวแทนทั้งสองบริษัทได้ชี้แจงโดยอธิบายให้เห็นภาพตัวเลขที่เห็นว่ามีกำไรนั้น มีที่มาจากผลประกอบการส่วนใดบ้าง ซึ่งทั้งสองบริษัทมีกิจการในเครือกว่า 50 รายการ ตัวเลขรายได้จึงรวมมาจากทั้งหมด และชี้แจงว่ามีกำไรจากเรื่องอื่น ส่วนรายได้จากโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตยังขาดทุน เพราะประมูลมาแพง
“ได้นัดประชุมผู้เกี่ยวข้องมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งได้รายงานให้ คสช.รับทราบ และในวันศุกร์ที่ 20 เม.ย. จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารืออีกครั้ง และจะรายงานให้ คสช.ทราบในวันจันทร์ที่ 23 เม.ย. ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อใด ขึ้นอยู่กับ คสช.” นายวิษณุกล่าว และว่า ข้อห่วงใยหากรัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้วอาจเสียประโยชน์ของแผ่นดินนั้น เป็นสิ่งที่กำลังพิจารณาอยู่ ส่วนจะพิจารณาออกเป็นมาตรา 44 หรือไม่นั้น อยู่ที่คสช.จะตัดสินใจ แต่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องสรุปให้ได้ภายในเดือน เม.ย.นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงประเด็นการคืนใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิทัล รวมถึงการโอนสิทธิ และการควบรวมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่รับไม่ได้กับการคืนใบอนุญาต เพราะส่วนใหญ่ลงทุนอุปกรณ์ โครงข่ายไปแล้วจำนวนมาก สู้วิธีขายใบอนุญาตไม่ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |