พิรุธอื้อเตะถว่ งคดี‘บอส’


เพิ่มเพื่อน    

  "เนตร" เบี้ยวแจงคณะทำงานสอบอัยการคดีบอส "บวรศักดิ์" เผย 5 อัยการให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ พบพิรุธร้องขอยุติคดีกว่า 10 ครั้งเตะถ่วงคดี จ่อเรียก “ผบ.ตร.-ร.ต.ต.พงษ์วิวัฒน์”  ให้ข้อมูล คกก.ชุดใหญ่ ตร.ถกนัดสุดท้ายสรุปปมไม่แย้งอัยการ จับตาประชุม ก.อ. 18 ส.ค. พิจารณาออกระเบียบสอบเนตร

    ที่สำนักงานกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม เวลา 13.00 น. มีการประชุมคณะทำงานตรวจสอบอัยการ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนของอัยการกรณีสั่งไม่ฟ้องในคดีวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยมีนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เข้าร่วมฟังการชี้แจงด้วย  
    โดยที่ประชุมได้เชิญนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.), นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา, นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เข้าชี้แจง แต่นายอรรถพลและนายเนตรไม่ได้เข้าชี้แจง มีเพียงนายประยุทธ์และคณะอัยการที่ทำคดีดังกล่าวเข้าชี้แจงเท่านั้น ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวใช้เวลา 5 ชั่วโมง
    ต่อมาเวลา 18.00 น. นายประยุทธ์กล่าวภายหลังเข้าชี้แจงว่า มาชี้แจงในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ โดยมาให้ถ้อยคำว่าเราตรวจสอบอะไรอย่างไรบ้าง และผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร และได้นำเสนอเรียนอัยการสูงสุดประเด็นไหนอย่างไร ส่วนกรณีนายเนตรที่ไม่ได้เข้าชี้แจงนั้น ไม่ขอแสดงความเห็น
    จากนั้น นายบวรศักดิ์เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เชิญอัยการมาร่วมชี้แจงคือ 1.นายประยุทธ์ 2.นายสมใจ โตศุกลวรรณ์ เนื่องจากในเวลานั้นที่สำนวนมาถึงนายสมใจ เป็นรองอธิบดีอาญากรุงเทพใต้ 3.น.ส.นิภาพร รุจนรงค์ รองอัยการสูงสุด สมัย ร.ต.ต.พงษ์วิวัฒน์  ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด เป็นคนเสนอความเห็นว่าให้ยุติการขอความเป็นธรรม 4.นายเพียรศักดิ์ สมบัติทอง อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 5.นายนิติ สุขเจริญ ซึ่งเป็นอัยการ ดำรงตำแหน่งรองเลขานุการอัยการสูงสุด และเป็นผู้ช่วย ร.ต.ต.พงษ์วิวัฒน์ ซึ่งนายเพียรศักดิ์และนายนิติมีความเห็นว่าควรยุติเรื่อง ซึ่งจากการชี้แจงเราได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก ทางอัยการให้ความร่วมมือดี โดยจะต้องเอาข้อมูลที่ได้มาประมวลอีกครั้ง ส่วนรายละเอียดข้อมูลนั้นต้องไปถามนายวิชา เพราะวันที่ 11 ส.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ที่สำนักงานกฤษฎีกา และจะเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ร.ต.ต.พงษ์วิวัฒน์ มาให้ข้อมูล
    อย่างไรก็ตาม ขอยกตัวอย่าง เช่นการร้องขอความเป็นธรรมที่มีถึง 7 ครั้ง แต่ข้อเท็จจริงมีการร้องขอความเป็นธรรมกว่า 10 ครั้ง     ซึ่งส่งผลให้คดีเกิดความล่าช้า ทั้งนี้ การร้องขอความเป็นธรรมทั้ง 10 ครั้งมาจากหลายฝ่าย แต่ส่วนใหญ่มาจากผู้ต้องหา และมีคำสั่งให้ยุติเรื่องทั้งหมด แต่ก็มีการร้องขอมาเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าการที่นายคณิต ณ นคร ออกระเบียบร้องขอความเป็นธรรมเพื่ออำนวยความยุติธรรม แต่วันนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือถ่วงคดี ซึ่งเห็นว่าต้องมีการแก้ไข โดยอาจจะเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ที่น่าจะต้องเขียนเป็นกฎหมายให้ชัดเจน เช่น ผู้ร้องขอความเป็นธรรมจะต้องมาร้องด้วยตัวเอง จะให้มีการร้องขอความเป็นธรรมได้กี่ครั้ง จะสามารถเอาพยานหลักฐานเดิมมาร้องได้หรือไม่ เป็นต้น
    ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมมีจุดไหนที่ทำให้เห็นว่ารองอัยการสั่งไม่ฟ้องนั้น นายบวรศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามอัยการ แต่ในที่ประชุมได้มีการซักถามพร้อมขอพยานหลักฐานในเรื่องดังกล่าวด้วย
    เมื่อถามว่า มีการซักถามเรื่องดุลยพินิจของนายเนตร ที่กลับสำนวนสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า อัยการชี้แจงว่าเป็นดุลยพินิจ ว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือผิดวินัยหรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการอัยการ แต่ปัญหาตอนนี้ที่เกิดขึ้นคือการจะเอาผู้ต้องหามาฟ้องคดีได้อย่างไรนั้นคือปัญหา
    เมื่อถามย้ำว่า ในการชี้แจงของอัยการวันนี้ได้เห็นภาพรวมที่อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า อัยการได้มีการชี้แจงแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งขณะนี้เรากำลังขอไทม์ไลน์ทั้งหมดในเรื่องของการร้องขอความเป็นธรรมทั้ง 10 ครั้ง ว่ามีการร้องขอความเป็นธรรมที่ไหนอย่างไรบ้าง    
    สำหรับแนวทางสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนายวรยุทธให้พ้นผิดอย่างไรบ้างนั้น นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ว่ากันไปตามเนื้อผ้า  เพราะกระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใด ตนพูดเสมอว่าความไม่เป็นธรรมในคดี หากประชาชนเกิดความรู้สึกไม่เชื่อมั่นว่าไม่เป็นธรรม จะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองมากที่สุด ฉะนั้นทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน ดูแลความยุติธรรมของบ้านเมือง ให้เกิดการอำนวยความยุติธรรมที่แท้จริง ทั้งนี้ยืนยันว่าจะมีการเชิญนายเนตรและอัยการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะนายเนตรจะต้องมาชี้แจง ส่วนจะเป็นวันไหน จะแจ้งให้ทราบภายหลัง
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำสำนวนคดีนายวรยุทธ เปิดเผยว่า ได้สอบสวนครบถ้วนทุกประเด็นแล้ว ซึ่งได้ให้คณะกรรมการฯ ไปดำเนินการสรุปรายละเอียดทุกประเด็น เพื่อนำมาเสนอในที่ประชุมวันที่ 10 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ขณะที่ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ทราบว่าจะส่งเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการไม่เห็นแย้งอัยการ มาให้คณะกรรมการฯ ในวันที่ 10 ส.ค. เช่นเดียวกัน โดยวันที่ 11 ส.ค.นี้ คณะกรรมการฯ จะประมวลสรุปผลการตรวจสอบเสนอต่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เพื่อพิจารณาสั่งการ รวมทั้งกำหนดวันแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดผลการตรวจสอบต่อไป
    ด้านนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาทางออกคดีที่รองอัยการสูงสุดกลับคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธว่า ในวันที่ 18 ส.ค.นี้ จะมีการประชุม ก.อ. โดยมีวาระการประชุมที่น่าสนใจ 3 เรื่อง คือ 1.การประชุมแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับอธิบดีอัยการและรองอธิบดีอัยการ 2.เรื่องคดีนายวรยุทธ ตนกับนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) จึงได้คุยกันว่าจะเชิญอดีต อสส. และอดีตรอง อสส.ให้เข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีของนายเนตรว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่
    อย่างไรก็ตาม แม้ตนกับ อสส.จะตกลงกันได้แล้ว แต่ต้องให้ ก.อ.พิจารณาเห็นชอบว่าควรตรวจสอบหรือไม่ กรรมการที่เสนอชื่อไป ก.อ.จะเห็นชอบด้วยหรือไม่ หรือจะเสนอชื่อใครเพิ่มหรือลดได้อีก ส่วนคุณสมบัติผู้ที่ถูกทาบทาม จะต้องเป็นอดีต อสส.หรือรอง อสส. ส่วนจะต้องมีความอาวุโสระดับไหน แล้วแต่จะคุยกัน ถ้าหากคุยกันได้ลงตัวแล้วถึงค่อยไปทาบทามบุคคลนั้น ว่าจะสามารถมาเป็นคณะบุคคลตรวจสอบเรื่องนี้ได้หรือไม่
    3.ในกรณีตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ และการออกระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับเรื่องการสอบวินัย เขียนไว้ว่า อสส.จะสอบวินัยข้าราชการอัยการได้ ยกเว้นระดับรอง อสส. ส่วนมาตรา 74 ที่บัญญัติว่าการจะตั้งกรรมการสอบสวนชั้นต้นได้อย่างไร ต้องเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์ ก.อ.กำหนด และในระเบียบ ก.อ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้น กรณีข้าราชการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยฯ 2554 ข้อ 3 บัญญัติไว้ว่า ให้ผู้บังคับบัญชาดังต่อไปนี้มีอำนาจดำเนินการสอบสวนชั้นต้น (1) อัยการสูงสุด สำหรับข้าราชการอัยการ ทุกตำแหน่งยกเว้นรองอัยการสูงสุด จึงเกิดปัญหาว่า ถ้าไม่มีระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์แล้วก็จะสอบสวนชั้นต้นรอง อสส.และ อสส.ไม่ได้
    นายอรรถพลกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะหลังจากออก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการแล้ว มี ก.อ.คนหนึ่งได้เสนอให้ออกระเบียบที่ว่านี้ แต่ยังไม่ได้ออก ในสมัยที่ตนเป็น อสส. ได้เขียนร่าง ระเบียบนี้ขึ้นมา ไม่ทันได้ออกก็พ้นตำแหน่งก่อน มาคราวนี้เมื่อมีปัญหาเกี่ยวข้องกับรอง อสส.แล้ว จึงต้องมีการออกระเบียบก่อน มิเช่นนั้นจะสอบระดับรอง อสส.ไม่ได้ ตนได้สั่งการให้ทางอธิบดีสำนักงานคณะกรรมการอัยการร่างระเบียบแล้วให้นำเสนอมายังตนพิจารณา เพื่อที่จะนำเข้าวาระการประชุมในวันที่ 18 ส.ค.นี้ด้วย
    “คณะบุคคลที่ ก.อ.พิจารณาตั้งวันที่ 18 ส.ค.นี้ จะได้รับมอบหมายหน้าที่ในการตรวจสอบดุลพินิจของนายเนตร รอง อสส.ตามมาตรา 30 (10) เนื่องจากผู้ที่จะถูกตรวจสอบชั้นต้นเป็นรอง อสส. ทาง ก.อ.จึงต้องออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ในการสอบว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไร ระเบียบต้องผ่านก่อนถึงจะสอบได้” ประธาน ก.อ.ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"