หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลไม่น้อย หลังมองไปข้างหน้าแล้วเห็นว่า สถานการณ์รุกเร้าจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะแฟลชม็อบ นักศึกษา-ประชาชน ที่เคลื่อนไหวภายใต้ชื่อ คณะประชาชนปลดแอก ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำเนินการ 3 เรื่อง 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยุบสภา 3.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการนัดชุมนุมใหญ่กันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคมนี้
เพราะหลังหลายฝ่ายเห็นสถานการณ์ที่ตึงเครียด ตลอดช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม ไปจนถึงช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม ในหลายจุด เช่น หน้า สน.บางเขน, หน้าศาลอาญาฯ และที่สี่แยกปทุมวัน ที่มี ปฏิกิริยาของประชาชน-นักศึกษา แนวร่วมแฟลชม็อบ ที่แสดงออกต่อการที่ตำรวจเข้าทำการควบคุม ดำเนินคดี อานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก สองแกนนำ-ผู้ประสานงานแฟลชม็อบ ก่อนที่สุดท้าย สถานการณ์จะคลี่คลายลง หลังทั้งนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ได้รับการปล่อยตัว
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสถานการณ์โดยรวม ทำให้นักการเมือง ทั้งซีกรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-สมาชิกวุฒิสภา-นักวิชาการ ออกมาประเมินสถานการณ์ด้วยการแสดงความเป็นห่วงว่า หากฝ่ายต่อต้านรัฐบาล-เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากมีแนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็น กลุ่มเยาวชน นักศึกษา โดยที่ข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ได้รับการตอบสนองหรือไม่มีความคืบหน้าใดๆ ปรากฏให้เห็นจนฝ่ายเคลื่อนไหว แฟลชม็อบพอใจ ทำให้ยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ขยายวงไปเรื่อยๆ และมีประชาชนเข้าร่วมด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่สามารถลดทอนกระแสความไม่พอใจรัฐบาลลงได้ แม้จะมีการวิธีการปลดล็อกไปแล้ว
เช่นการแสดงท่าทีของพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในสมัยประชุมหน้า แต่หากกลุ่มผู้เคลื่อนไหวมองว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลอาจดึงเกมยาว และยังคงนำเรื่องแก้ไข รธน.มาเป็นประเด็นข้อเรียกร้องเคลื่อนไหวอีก
นั่นย่อมทำให้อุณหภูมิการเมือง ความไม่พอใจต่อกันของสองฝ่าย คือ ฝ่ายนักศึกษา-ประชาชน-คณะประชาชนปลดแอก กับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและไม่เอาแฟลชม็อบ ก็จะคุกรุ่น เขม็งเกลียวไปเรื่อยๆ เสมือนหนึ่งนับถอยหลังรอวันที่ กาน้ำระเบิด-ลาวาปะทุ
อันเป็นเรื่องที่พลเอกประยุทธ์ ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารประเทศ ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการป้องกัน-สกัดกั้นไม่ให้เกิดเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันของทั้งสองฝ่าย เพราะถ้าเกิดเหตุแล้วมีการสูญเสียเกิดขึ้น รัฐบาลก็สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกสร้างกระแสว่าหมดความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป
ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ก็คือการทำกิจกรรมการเมืองกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมการเมืองโดยมีนักศึกษาและกลุ่มประชาชนเชียงใหม่ไปร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่ง
ขณะเดียวกันเริ่มพบว่า กลุ่มหนุนบิ๊กตู่-รัฐบาล และต่อต้านแฟลชม็อบ ก็เริ่มก่อตัวออกมาเคลื่อนไหวกันบ้างแล้วเช่นกัน
เช่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา กลุ่มพลังมวลชนที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มนักรบเมืองย่า และคนโคราชปกป้องสถาบัน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้น
ตามข่าวพบว่า แกนนำกลุ่มดังกล่าวได้อ่านแถลงการณ์ ใจความตอนหนึ่งว่า ...ขณะนี้ได้มีกลุ่มเคลื่อนไหวของประชาชน นักเรียน นักศึกษา หลายๆ กลุ่ม ซึ่งยื่นข้อเสนอให้แก้ รธน.-ยุบสภา ซึ่งก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ที่ทางกลุ่มกังวลคือ มีบางคน บางกลุ่ม ออกมาโจมตี จาบจ้วง สถาบันฯ อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย
"พวกเราเล็งเห็นว่า ถ้าปล่อยไปอย่างนี้คงจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าของทั้งสองกลุ่มไม่ได้ ซึ่งทางเราก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายไม่ว่ากลุ่มไหน"
นอกจากนี้ ในวันจันทร์ที่ 10 ส.ค. ก็พบว่า พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้เคลื่อนไหวนัดประชาชนหน้ารัฐสภา ในที่ 10 สิงหาคม เวลา 10.10 น. เพื่อทำกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง โดยมีแนวร่วมศูนย์กลางประสานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันฯ หรือ ศอปส.เข้าร่วมด้วย
พลโทนันทเดช บอกถึงกิจกรรมดังกล่าว จะมีการแถลงข่าวแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์เวลานี้ จากนั้นจะร่วมกันร้องเพลงชาติ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วก็แยกย้ายกันกลับ
"ประเมินแล้วหลังจากนี้ ฝ่ายที่เคลื่อนไหวเขาจะเคลื่อนไหวแรงขึ้นเรื่อยๆ และจะพยายามที่จะต้องหาเรื่องก่อกวนให้ได้ เพื่อทำให้รัฐบาลมีการจับกุมคนของฝ่ายนั้น เพื่อให้เกิดอะไรบางอย่างขึ้น" พลโทนันทเดช อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ วิเคราะห์ไว้
การเคลื่อนไหวของทั้งฝ่าย นักศึกษา-ประชาชน ที่ต่อต้านรัฐบาล-เรียกร้องให้แก้ไข รธน. และฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล-ไม่เอาแฟลชม็อบ หลังจากนี้ไม่ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปถึงจุดใด แต่หากทั้งสองฝ่าย รวมถึงรัฐบาล ยึดในหลักที่ว่า "เห็นต่างได้ แต่ไม่ใช้ความรุนแรง" รวมถึงต้องเลี่ยงไม่ให้มีการเผชิญหน้ากันของฝ่ายที่เห็นต่าง ก็จะทำให้สถานการณ์หลังจากนี้อาจค่อยๆ คลี่คลายไปตามสถานการณ์แต่ละช่วงขณะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |