ธุรกิจค้าทาสของชาวผู้ดี


เพิ่มเพื่อน    

 

     ตลอดช่วงเวลา 4 ศตวรรษของการขนทาสแอฟริกันลงเรือเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังดินแดนโลกใหม่ของชาวยุโรป อังกฤษเข้าไปร่วมวงไพบูลย์อยู่เกือบ 300 ปี กินส่วนแบ่งจำนวนทาสมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงโปรตุเกส ทว่าความมั่งคั่งที่ได้รับมานั้นดูจะเหนือกว่า

                สรุปข้อมูลจากเว็บไซต์ The National Archives หัวข้อ Britain and the Slave Trade และเว็บไซต์ Wikipedia หัวข้อ Slavery in Britainได้ว่า “พลเรือเอกเซอร์จอห์น ฮอว์กินส์” คือพ่อค้าชาวอังกฤษคนแรกในธุรกิจค้ามนุษย์ที่ว่านี้ โดยได้รับอนุญาตจากควีนเอลิซาเบธที่ 1 อย่างเป็นทางการ ปี 1562 เรือค้าทาสเที่ยวแรกออกจากอังกฤษไปยังเซียร์ราลีโอนในแอฟริกา เขาปล้นเรือของโปรตุเกสชิงเอาทาสมาได้ประมาณ 300 ชีวิต แล้วล่องเรือข้ามแอตแลนติกนำไปแลกกับไข่มุก, หนังสัตว์ และน้ำตาลที่ซานโตโดมิงโก (ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐโดมินิกัน) ขนลงเรือ แล้วนำกลับอังกฤษ ขายทำกำไรได้อย่างงาม

                หลังจากนั้นอีก 2 ปี เซอร์จอห์น ฮอว์กินส์ ออกเดินทางอีกครั้ง คนของเขาจับทาสแอฟริกันได้ 400 คน นำไปขายที่ “ริโอ เด ลา ฮาจา” (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโคลัมเบีย) ทำกำไรได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และในทริปที่ 3 ปี 1565 เขาทั้งซื้อทาสจากแอฟริกาโดยตรงและปล้นเอาจากเรือโปรตุเกสก่อนนำไปขายในแคริบเบียนเช่นเคย


แผนผังเรือทาสของอังกฤษ ภาพโดย คริสโตเฟอร์ โจนส์/พิพิธภัณฑ์บริสตอล

                ประมาณกันว่า เซอร์จอห์น ฮอว์กินส์ ได้ขนส่งทาสประมาณ 1,500 คน ตลอดการเดินทาง 4 ครั้งของเขา (บางแหล่งข้อมูลระบุว่า 3 ครั้ง) กระทั่งในปี 1568 การค้าทาสของอังกฤษก็ต้องหยุดชะงักลงไปเมื่อสูญเสียเรือ 5 ลำ จากทั้งหมด 7 ลำ ในการสู้รบกับเรือของสเปน กว่าอังกฤษจะกลับเข้าสู่ธุรกิจนี้อีกครั้งต้องรออีกราว 70 ปี หลังจากได้เวอร์จิเนียในอเมริกาเหนือเป็นอาณานิคม

                เซอร์จอห์น ฮอว์กินส์ ได้รับเกียรติจากกองทัพเรืออังกฤษให้เรือรบขนาดใหญ่ใช้ชื่อ HMS Hawkins เรือลำนี้ประจำการระหว่างปี 1919 ถึง 1947 นอกจากนี้โรงพยาบาลในเมืองเคนต์ก็ยังใช้ชื่อ The Hospital of Sir John Hawkins สะพานในเมืองนี้ถูกเรียกตามชื่อของเขา ขณะที่ในบ้านเกิดเมืองพลีมัธมีจัตุรัสชื่อ Sir John Hawkins Square แต่ไม่นานมานี้ทางสภาเมืองพลีมัธมีแผนที่จะเปลี่ยนชื่อ เนื่องจากเกิดการประท้วงหลังเหตุการณ์เสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์”

                ในช่วงการเคลื่อนไหว Black Lives Matter มีการทำลายรูปปั้นและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบการค้าทาสเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐและอังกฤษ

                บทความ Britain was built on the back, and souls, of slave (อังกฤษถูกสร้างขึ้นจากแรงงานและวิญญาณของทาส) เขียนโดย Imran Khan ในเว็บไซต์ข่าว Aljazeera กรณีรูปปั้นของ “เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน” ที่สร้างขึ้นในปี 1895 ถูกลากลงจากฐานและนำไปทิ้งในอ่าวบริสตอล

                โคลสตัน คือราชาค้าทาสแห่งบริษัท Royal African Company (RAC) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 บริษัทนี้ผูกขาดการค้าทอง, เงิน, งาช้าง และทาสแอฟริกัน ตั้งขึ้นโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 และดยุคแห่งยอร์ก โคลสตันไต่ขึ้นไปถึงตำแหน่งรองข้าหลวงใหญ่ (ข้าหลวงใหญ่คือดยุคแห่งยอร์ก ต่อมาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 2) จอห์น ล็อก นักปรัชญานามกระเดื่อง ผู้ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตย” ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนด้วย (ต่อมาล็อกได้เปลี่ยนจุดยืนในเรื่องการค้าทาส)

                ทาสผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กถูกขนจากแอฟริกามายังบริสตอล เมืองชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ แล้วถูกตีตราด้วยโลโก้ RAC ของบริษัท ก่อนส่งต่อไปยังแคริบเบียนและส่วนอื่นของทวีปอเมริกา ทาสเหล่านี้ส่วนมากมาจากไอวอรีโคสต์ จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 84,000 คนที่ถูกขนลงเรือ ตายระหว่างการเดินทางไปถึงราว 19,000 คน

                ความร่ำรวยจากธุรกิจค้าทาสของโคลสตันได้เปลี่ยนมาเป็นเงินบริจาคจำนวนหนึ่งให้แก่เมืองบริสตอลของเขา ส่วนมากเป็นเงินที่มอบให้กับการศึกษาและโรงพยาบาล ผู้คนในเมืองนี้จึงมอบความรักให้เขาเป็นการตอบแทน นำไปสู่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษของโคลสตันระหว่างปี 1710 ถึง 1713

                เว็บไซต์ The Abolition Project บทความเรื่อง British Involvement in the Transatlantic Slave Trade ให้ข้อมูลว่า ในยุคต้นๆ ของการค้าทาสแอฟริกันของพ่อค้าทาสชาวอังกฤษนั้นจะขายทาสให้กับอาณานิคมของสเปนและโปรตุเกสเป็นหลัก จากนั้นเมื่ออังกฤษเข้าไปล่าดินแดนในแคริบเบียนและอเมริกาเหนือบ้าง โดยต้องสู้รบกับชาติยุโรปอื่นๆ ไปด้วย พ่อค้าทาสอังกฤษจึงได้ป้อนทาสให้กับอาณานิคมตัวเองนับแต่นั้น

                จำนวนเรือทาสของอังกฤษระหว่างปี 1562 ถึงปี 1807 มีประมาณ 10,000 เที่ยว ไม่นับเรือทาสที่ออกจากดินแดนอื่นของจักรวรรดิอังกฤษที่มีอีกประมาณ 1,150 เที่ยว

                นักประวัติศาสตร์ “เดวิด ริชาร์ดสัน” ได้คำนวณว่าเรือของอังกฤษน่าจะขนทาสแอฟริกันไปยังอเมริกาประมาณ 3.4 ล้านคน มีเพียงโปรตุเกสเท่านั้นที่ขนทาสไปมากกว่า คือประมาณ 5 ล้านคน โดยที่โปรตุเกสได้เริ่มค้าทาสก่อนและเลิกค้าทาสหลังอังกฤษเกือบ 50 ปี

                มีการบันทึกไว้ว่าทาสแอฟริกันคนแรกขึ้นฝั่งในอาณานิคมอังกฤษคือ เวอร์จิเนีย เมื่อปี 1619 ส่วนบาร์เบโดสคืออาณานิคมแรกในแคริบเบียน ปี 1625 จากนั้นก็ได้ครอบครองจาไมกา ปี 1655

                ความต้องการแรงงานทาสในการผลิตน้ำตาลในบาร์เบโดสและเกาะต่างๆ ใน “บริติชเวสต์อินดีส์” พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ในคริสต์ทศวรรษที่ 1660 มีทาสแอฟริกันถูกขนไปในเรืออังกฤษประมาณ 6,700 คนต่อปี กระทั่งในคริสต์ทศวรรษที่ 1760 หรือ 100 ปีต่อมา อังกฤษกลายเป็นชาติที่ยึดเบอร์ 1 ในการค้าทาส นั่นคือทุกๆ ปีที่มีชาวแอฟริกันถูกขนข้ามแอตแลนติกไปยังดินแดนโลกใหม่ปีละประมาณ 80,000 คน อังกฤษมีส่วนแบ่งเกินครึ่ง คืออยู่ที่ราวๆ ปีละ 42,000 คน

                กำไรจากธุรกิจทาสได้มีส่วนช่วยให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษทำได้สำเร็จ และแคริบเบียนก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิอังกฤษโพ้นทะเล เกาะไหนที่ปลูกอ้อยผลิตน้ำตาลก็จะเป็นเกาะที่มีมูลค่าสูงมาก เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 18 เงินทองจากไร่อ้อยในเวสต์อินดีส์ได้ไหลสู่อังกฤษประเทศแม่ 4 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (มูลค่าเงินขณะนั้น) มากกว่าดินแดนอื่นๆ ในโลกรวมกันที่ได้แค่ 1 ล้านปอนด์


ภาพประกอบบทความ Life on board slave ships จาก blackhistorymonth.org.uk

                เจมส์ ฮิวส์ตัน พ่อค้าทาสชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เคยบันทึกไว้ว่า “ช่างเป็นการค้าที่ทำกำไรและนำความรุ่งโรจน์มาให้มากมายอะไรขนาดนี้ มันคือบานพับที่ทำให้ประตูของการค้าอื่นๆ หมุนเปิดปิดได้”

                รายได้หลักของอังกฤษประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 1750 ถึง 1780 มาจากภาษีสินค้าในอาณานิคมทวีปอเมริกา เงินที่ได้จากการค้าทาสและแรงงานทาสเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของอังกฤษไปตลอดกาล ผู้ที่อยู่ในธุรกิจค้าทาสได้สร้างแมนชั่นหรูเป็นที่อยู่อาศัย ตั้งธนาคาร รวมถึงสามารถบุกเบิกอุตสาหกรรมใหม่ๆ

                บทความนี้ยังระบุไว้ด้วยว่า ใครหรือฝ่ายไหนบ้างที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจค้าทาส ซึ่งได้แก่ เจ้าของเรือทาสชาวอังกฤษ ทำกำไรเที่ยวละ 20-50 เปอร์เซ็นต์ โดยที่พวกเขาไม่เคยเดินทางออกจากประเทศอังกฤษ, พ่อค้าทาสที่ซื้อและขายทาสแอฟริกัน, เจ้าของฟาร์มในอาณานิคมผู้ใช้แรงงานทาสในการเพาะปลูกพืช คนเหล่านี้เมื่อเกษียณแล้วมักกลับไปใช้ชีวิตในอังกฤษโดยมีคฤหาสน์หลังโตสร้างไว้รอท่า บางคนก็ใช้เงินที่ได้มาในการกรุยทางสู่การเป็นผู้แทนราษฎร นอกนั้นก็อาจจะลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เป็นส่วนสนับสนุนสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรม, ผู้นำของชาวแอฟริกันที่จับชาวแอฟริกันขายให้กับชาวยุโรป, ท่าเรือต่างๆ ในอังกฤษ โดยเฉพาะลอนดอน บริสตอลและลิเวอร์พูล ระหว่างปี 1700 ถึง 1800 ประชากรในเมืองลิเวอร์พูลเพิ่มขึ้นจาก 5,000 คน เป็น 78,000 คน, ธนาคารต่างๆ ที่ได้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยจากผู้ที่มาขอกู้เงินทำธุรกิจค้าทาส, คนทั่วไปได้งานทำมากขึ้นในอังกฤษ โรงงานผลิตสินค้าขายหรือนำไปแลกกับทาสแอฟริกันมากขึ้น ในเมืองเบอร์มิงแฮมมีผู้ผลิตปืนถึง 400 เจ้า ขายปืนได้ปีละราว 10,000 กระบอกให้กับพ่อค้าทาส ฯลฯ

                รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมายยกเลิกการค้าทาสทั่วทั้งจักรวรรดิอังกฤษในปี 1807 โดยที่การใช้แรงงานทาสอย่างถูกกฎหมายนั้นยังมีอยู่ต่อไปจนถึงปี 1833 จึงได้มีพระราชบัญญัติเลิกใช้แรงงานทาสออกมา มีผลบังคับใช้ 1 ปีหลังจากนั้น แต่กว่าการใช้แรงงานทาสจะหมดไปจริงๆ ก็ประมาณปี 1838

                บทความของ The Guardian เรื่อง The history of British slave ownership has been buried : now its scale can be revealed เมื่อปี 2015 ได้เปิดเผยเอกสาร T71s ของ University College London โครงการ The Legacies of British Slave-ownership

                หลังจากมีพระราชบัญญัติเลิกใช้แรงงานทาสออกมา รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งคณะกรรมการจ่ายค่าชดเชยให้กับนายทาสทั้งหลายประมาณ 46,000 คน สำหรับการสูญเสียสมบัติในครั้งนี้ โดยเป็นเงินกู้ก้อนโตมีกำหนดใช้คืนระยะยาว

                คณะกรรมการดังกล่าวได้คำนวณเงินที่ต้องจ่ายให้กับผู้มีแรงงานทาสในครอบครอง แล้วจ่ายเงินออกไปให้นายทาสเป็นจำนวนเงิน 20 ล้านปอนด์ ในปี 1834 คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เทียบกับค่าเงินในปัจจุบันจะตกอยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านปอนด์ (ปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 21,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 850,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับกรณีจำนำข้าวของไทย) ถือเป็นการจ่ายเงินให้เอกชนมากสุดเป็นประวัติการณ์ของอังกฤษ ไม่นับการช่วยเหลือสถาบันการเงินในวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2009

                เอกสาร T71s บอกไว้หมดว่าใครมีทาสกี่คน ได้รับเงินชดเชยจากภาษีประชาชนเท่าไหร่ คนดังและผู้ยิ่งใหญ่ อาทิ จอห์น แกลดสโตน บิดาของวิลเลียม แกลดสโตน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลาต่อมา ได้รับเงินชดเชย 106,769 ปอนด์ เทียบเท่ากับ 80 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน สำหรับการสูญเสียทาส 2,508 ราย จึงไม่แปลกใจที่สุนทรพจน์แรกของวิลเลียม แกลดสโตน หลังเข้ารับตำแหน่งคือการกล่าวปกป้องการใช้แรงงานทาส

                ชาร์ลส์ แบลร์ ปู่ทวดของ “จอร์จ ออร์เวลล์” ยอดนักประพันธ์ ครอบครองทาส 218 ราย ได้รับเงินชดเชย 4,442 ปอนด์ เทียบเท่ากับ 3 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน นอกจากออร์เวลล์แล้วยังมีเทือกเถาเหล่ากอผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคน เช่น นักเขียนใหญ่ “แกรห์ม กรีน” กวีดัง “เอลิซาเบธ บราวนิง” สถาปนิกนาม “เซอร์จอร์จ กิลเบิร์ต สก็อต” รวมถึงบรรพบุรุษของ “เดวิด คาเมรอน” อีกหนึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

                บทความ How Britain is facing up to its secret slavery history ของเว็บไซต์ BBC  ระบุว่า ภาษีประชาชนที่นำมาชดเชยให้กับนายทาสทั้งหลายนั้น รัฐบาลเพิ่งจะใช้หนี้หมดเมื่อปี 2015 นี้เอง อีกทั้งแรงงานทาสจำนวน 800,000 คนที่ได้รับการปลดปล่อยตามกฎหมายในครั้งนั้นต้องใช้แรงงานฟรีต่อไปอีก 6 ถึง 12 ปี โดยนายทาสเรียกพวกเขาว่าเป็น  “ผู้ฝึกงาน” เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำกำไรต่อเนื่อง ทั้งที่ได้รับเงินชดเชยไปแล้ว

                จูเลียต โรเมโร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซี มีพ่อแม่เป็นชาวตรินิแดดและบาร์เบโดส ปัจจุบันเป็นนักเขียนบทละคร กล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้ฉันช็อกมากก็คือผู้หญิงทำงานอย่างฉัน ลูกหลานของแรงงานทาสในอดีตเป็นผู้ที่ต้องจ่ายหนี้ก้อนนี้ให้กับรัฐบาลด้วย”

                “…และผู้ที่ได้รับเงินชดเชยไม่ใช่ทาส แต่กลับเป็นเจ้าของทาส”

                โรเมโร เขียนบทละครเรื่อง The Whip ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าทาส กล่าวอย่างหัวเสียว่า “เราต้องสงสัยว่าเราเคยถูกกดขี่ขนาดไหน ต้องถามว่าเหตุใดภาษีของเราต้องนำไปจ่ายให้กับคนที่กดขี่เรา ซึ่งเราไม่เคยทราบ ไม่เคยได้เรียนเรื่องเหล่านี้ในชั้นเรียน”

                เพราะฉะนั้นหากมีใครออกมาโวยวายเรื่องการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว เราก็สามารถเล่าเรื่องธุรกิจค้าทาสของชาวผู้ดีอังกฤษให้ฟังเป็นการแลกเปลี่ยนได้ครับ.

 

////

 

 

 

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"