รัฐธรรมนูญต้องมีการแก้ไข นายกฯ-รัฐบาลนิ่งเฉยไม่ได้
ความเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประกาศสนับสนุนให้มีการแก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อเป็นกุญแจนำไปสู่การแก้ไข รธน. จากนั้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ประกาศสนับสนุนการแก้ไข รธน.เช่นกัน ส่วนความเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา แกนนำแฟลชม็อบนักศึกษา-เยาวชนปลดแอกที่ตอนนี้แปรสภาพมาเป็นคณะประชาชนปลดแอก ก็นัดชุมนุมใหญ่วันที่ 16 ส.ค. เพื่อทวงถามข้อเรียกร้องเรื่องการร่าง รธน.ฉบับใหม่
สำหรับโอกาสและความเป็นไปได้ที่การแก้ไข รธน.จะสำเร็จได้หรือไม่ ในทัศนะนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่เชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนญ “ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” วิเคราะห์เส้นทางการแก้ไข รธน.ต่อจากนี้ว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ และจะแก้สำเร็จหรือไม่
"ดร.ปริญญา-นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน" อธิบายถึงเหตุผลที่ควรแก้ไข รธน.ฉบับปัจจุบัน โดยยกเหตุการณ์การแก้ไข รธน.ในปี 2535 และปี 2538 มาเป็นบทเรียนและตัวอย่าง โดยกล่าวว่า ผมขอเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2560 กับรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่เกิดจากการทำรัฐประหารของคณะ รสช.ที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เอามาเปรียบเทียบ เพราะมันมีอะไรที่คล้ายกันหลายเรื่อง เวลานั้นผมเป็นนักศึกษา (เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท.) ตอน รสช. (พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.สส.เป็นหัวหน้า) ทำรัฐประหาร ก็มีการออก รธน.ฉบับชั่วคราว แล้วก็ยกร่าง รธน.ออกมาเป็น รธน.ฉบับถาวร โดยคนร่างก็คนเดียวกันคือ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ แต่ตอนนั้นแก้ไขเร็วมาก หลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาปี 2535 แค่ไม่กี่วัน ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญวันเดียว 4 มาตรา ที่มีสาระสำคัญคือ เป็นการลดอำนาจของคณะรัฐประหาร รสช.-ลดอำนาจของ ส.ว. ที่ตอนนั้น รสช.ก็ใช้กลไก ส.ว.ในการสืบทอดอำนาจ และแก้ไขให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. รัฐธรรมนูญปี 2534 ประกาศใช้เดือนธันวาคม 2534 ใช้มาแค่ครึ่งปี คือถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2535 ก็มีการแก้ไขแล้ว โดยแก้เรื่องการสืบทอดอำนาจเป็นเรื่องแรกเลย หลังจากนั้นพอถึงปี 2538 ก็มีการแก้ไขใหญ่ เพราะคนในสังคมเกิดความรู้สึกร่วมกันว่า รธน.ฉบับดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตย มีการวางกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมโดยสันติก็คงไม่เกิดเหตุการณ์พฤษภา ปี 2535
“ดร.ปริญญา” เล่าประวัติศาสตร์การแก้ไข รธน.ในประเทศไทยให้ฟังต่อไปว่า ในปี 2538 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2534 ของ รสช. ถึงขนาด “ให้ยกเลิกตั้งแต่หมวด 3 ของรัฐธรรมนูญเป็นต้นไป และให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน ..." พูดง่ายๆ ร่างใหม่เกือบหมด เหลือแค่หมวด 1 คือบททั่วไป กับหมวด 2 พระมหากษัตริย์เท่านั้น หมวดที่ 3 เป็นต้นไปยกเลิกหมด เรียกว่าร่างใหม่เลย แต่แม้ว่าจะแก้ไขมากขนาดนี้ ในปี 2539 ก็ยังเกิดกระแสเรียกร้องให้ร่างใหม่หมดทั้งฉบับเพื่อ “ปฏิรูปการเมือง” แล้วก็มีการแก้ไขมาตรา 211 ที่เป็นมาตราว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 และทำให้รัฐธรรมนูญ 2534 ของ รสช.สิ้นสภาพไป
“อาจารย์ปริญญา-คณะนิติศาสตร์ มธ.” กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง รัฐธรรมนูญปี 2534 และรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มาจากการยึดอำนาจเหมือนกัน และทั้ง 2 ฉบับวางกลไกการสืบทอดอำนาจไว้เพื่อให้ผู้ยึดอำนาจเป็นนายกฯ ต่อได้หลังเลือกตั้ง แต่ที่แตกต่างกันคือ รัฐธรรมนูญปี 2534 ตอนนั้นยังไม่มีองค์กรอิสระ ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เลยวางกลไกการสืบทอดอำนาจไว้ในองค์กรอิสระด้วยโดยผ่าน สนช. และตอนนี้ก็คือ ส.ว.ที่มาจากการเลือกของ คสช. เพราะ ส.ว.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้เองเป็นที่มาของข้อครหาที่ว่า องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับ คสช.
...การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เกิดขึ้นเวลานี้คล้ายกับที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2539-2540 ที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ว่าง่ายๆ คือไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราเคยทำสำเร็จมาแล้ว ถามว่าจำเป็นต้องมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับกันอีกไหม ผมเห็นว่าระบอบการปกครองใดก็แล้วแต่ ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ แต่ระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ มีกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติโดยให้จบที่หีบบัตรเลือกตั้ง คือฝ่ายไหนจะมีอำนาจ จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองก็จบที่หีบบัตรเลือกตั้ง ครบปี 4 ปีก็มาเลือกตั้งกันใหม่ โดยรัฐบาลและสภาก็ยังต้องฟังเสียงประชาชนด้วย เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ
“ดังนั้นรัฐธรรมนูญก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ตอนนี้เรากำลังมีปัญหาเหมือนตอนปี 2534-2535 คือกติกาที่ใช้บังคับทางการเมืองเป็นกติกาที่ประชาชนไม่ได้รู้สึกว่าเขามีส่วนร่วม”
....แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีการทำประชามติ แต่หลักของการทำประชามติ ต้องให้ทุกฝ่ายให้ข้อมูล และความเห็นอย่างเสมอกัน แล้วข้อเท็จจริงอย่างที่ทราบกันคือ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเสนอความเห็นอะไรมากไม่ค่อยได้ ไปรณรงค์ vote no ก็ถูกจับ ถูกดำเนินคดีอยู่ในศาลจนถึงตอนนี้หลายคดี มันจึงเป็นประชามติที่ไม่สมบูรณ์ เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถนำเสนอความคิดเห็นได้มากเท่ากับฝ่ายที่สนับสนุน ผลประชามติก็ออกมาแบบ 60 ต่อ 40 ระหว่างเสียงรับกับเสียงไม่รับ หรือพูดให้ง่ายเข้าคือชนะแค่ 6 ต่อ 4 คือไม่ถึงกับชนะขาดนะครับ ถ้าประชามติสมบูรณ์ผลอาจจะออกมาอีกอย่างก็ได้
...ตอนที่ทำประชามติ มีคำถาม 2 ข้อคือ คำถามแรก จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ส่วนคำถามที่สอง ที่เรียกว่าคำถามพ่วงก็ถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” สรุปง่ายๆ คือถามว่าจะให้ ส.ว.ที่ คสช.เลือกมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.หรือไม่ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งไปทำประชามติไม่ได้เขียนให้ ส.ว.มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ถ้าหากอำนาจ ส.ว.ในเรื่องนี้อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ หรือเขียนคำถามให้ชัดเจนว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกของ คสช.มีอำนาจเลือกนายกฯ“ กระแสต่อต้านรัฐธรรมนูญอาจจะแรงกว่านี้ และให้ฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้พูดอย่างเต็มที่ คำถามพ่วงอาจจะไม่ผ่าน หรือเผลอๆ ร่างรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ผ่านก็เป็นไปได้ เพราะโดยตัวร่างรัฐธรรมนูญผ่านด้วยคะแนนเสียง 61% ส่วนคำถามพ่วงคะแนนลดลงมาเหลือ 57%
“คือไม่ได้ชนะกันขาด แล้วก็เป็นการชนะแบบไม่แฟร์ แล้วก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะอยากให้มีเลือกตั้ง อยากให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ เพราะตอนนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คนก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงลงประชามติรับร่างไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขในภายหลัง ซึ่งตอนนี้มันก็คือเวลานั้นที่ควรต้องมาแก้ไขกันแล้ว”
...ผมพูดมาทั้งหมดเพื่อจะบอกว่าเราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกันไม่ใช่ปัญหา จะขัดแย้งกันก็ยังได้ แต่ตรงกติกาต้องยอมรับกันว่านี่คือกติกาของเรา และจากนี้ไปเราจะต้องทะเลาะกันภายใต้กติกานี้ จะไปล้อมหน่วยเลือกตั้ง ปิดกรุงเทพฯ ยึดทำเนียบฯ ยึดสนามบิน ยึดราชประสงค์ ต้องหมดไป เราบอกว่าต้องจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง แต่ของเรามันไม่จบ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้มีแค่ ส.ส. แต่ยังมี ส.ว. 250 คน ที่มาจาก คสช.มีอำนาจเลือกนายกฯ และโหวตเห็นชอบคนเป็นองค์กรอิสระ รวมถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นี่ผมยังไม่ได้ลงรายละเอียดปัญหาเป็นจุดๆ ในรัฐธรรมนูญ ที่พูดไปคือภาพใหญ่ คือเราต้องทำให้เป็นที่ยอมรับกันก่อนว่าเราจะขัดแย้งกันภายใต้กติกาที่เราตกลงกัน แต่ปัจจุบันยังไม่ใช่ เพราะคนจำนวนมากรู้สึกว่ายังเป็นกติกาที่เขาไม่ยอมรับ จึงจำเป็นต้องมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"ดร.ปริญญา" มองไปข้างหน้าถึงโอกาสที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ว่า การแก้ไข รธน.มี 2 วิธี คือ 1.แก้ไขเป็นเรื่องๆ ไปเช่น แก้เรื่องระบบการเลือกตั้ง-อำนาจของสมาชิกวุฒิสภา 2.ร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะแก้เป็นประเด็น หรือร่างใหม่ทั้งฉบับ การโหวตเห็นชอบต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา คือ ส.ส.และ ส.ว.ต้องพิจารณาร่วมกัน แต่ปัญหาคือ ไม่ใช่แค่ต้องการเสียงข้างมากของ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน แต่ต้องได้เสียง ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 ด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้ เพราะเขาเจตนาให้แก้ไม่ได้ถ้า คสช.ไม่เอาด้วย ที่ผ่านมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะใช้เพียงแค่เสียงข้างมากของจำนวนสมาชิกรัฐสภารวมกันเท่านั้น ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน จาก ส.ว. 250 คน แม้อาจไม่ได้เป็นจำนวนที่มาก แต่ว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันไม่ได้มีที่มาอย่างอิสระ แต่มาจากการเลือกของ คสช. ทำให้การได้เสียงเห็นชอบด้วย 84 เสียงดังกล่าวจึงยากมาก หากรัฐบาลไม่เอาด้วย การแก้ไข รธน.จะสำเร็จหรือไม่ ก็อยู่ที่รัฐบาล
"เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ดังกล่าว จึงต้องให้รัฐบาลยินยอมด้วย หรืออย่างน้อยก็ต้องปล่อยฟรีโหวต ที่ปล่อยให้ฟรีโหวตก็ยังไม่แน่ว่าจะได้เสียงถึง 84 เสียง"
-คิดว่าสุดท้ายแล้ว พลเอกประยุทธ์ รวมถึงผู้มีอำนาจในพรรคพลังประชารัฐจะสนับสนุนให้มีการแก้ไข รธน.หรือไม่?
การแก้ไข รธน.ในรอบนี้ผมคิดว่าโดยลำพังเองรัฐบาลคงไม่อยากแก้ไข เพราะหากให้แก้ไขร่างกันใหม่ก็เท่ากับยอมรับว่า รธน.ฉบับปัจจุบันล้มเหลว แล้วเขาจะยอมรับหรือ แต่ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้เห็นว่า เราควรกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนกันได้แล้ว ตอนที่ คสช.ทำรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์บอกว่า "ขอเวลาอีกไม่นาน" แต่ถึงตอนนี้ผ่านไป 6 ปี โดยที่ รธน.ประกาศใช้ปี 2560 แต่กว่าจะเลือกตั้งใหญ่ก็ปี 2562 ถ้าเทียบกับตอนปี 2534 พอประกาศใช้ รธน.แค่ 4 เดือนก็มีการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งในคราวนี้นานกว่ามาก คสช.อยู่ในอำนาจถึง 5 ปีถึงจะมีการเลือกตั้ง แล้วถึงมีการเลือกตั้งและ ส.ว.ที่มาจาก คสช.ก็อยู่ในกลไกที่วางไว้อีก 5 ปี เพราะกว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันจะพ้นจากตำแหน่งคือ 11 พ.ค. 2567 รวมแล้วเป็นเวลา 10 ปีเต็ม หนึ่งทศวรรษเลยที่ คสช.อยู่ในอำนาจ
รัฐธรรมนูญ 2560 ยังไงก็ต้องมีการแก้ไข แต่เราก็รู้กันดีว่าหากรัฐบาลไม่เอาด้วย การแก้ไขก็แทบ เป็นไปไม่ได้เลย ก็ต้องรอให้ ส.ว.ชุดแรกนี้หมดวาระก่อนคืออีก 3 ปีกว่า แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าคนจำนวนมากจะไม่รอแล้ว โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ ซึ่งก็คือภาคต่อของแฟลชม็อบก่อนมีโควิด-19 ที่ตอนนี้ก็เริ่มขยายวง จากเดิมทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ก็เริ่มออกมานอกสถาบัน จากต่างคนต่างทำก็เริ่มมารวมกัน
สิ่งที่ทุกคนไม่อยากเห็นก็คือความสูญเสีย เหตุการณ์รุนแรง การนองเลือด รัฐประหาร เราไม่ต้องการเห็นอีกแล้ว วิธีการก็คือเราควรให้เกิดการเปลี่ยนผ่านโดยสันติ เมื่อรัฐธรรมนูญคือเครื่องมือในการอยู่รวมกัน ก็ต้องมาหาทางที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าตัวเองคือเจ้าของ มีส่วนร่วม ถ้าทำได้ปัญหาก็จบ ที่ก็คือว่าไปตามกระบวนการ เห็นต่างกันได้แต่จบที่หีบเลือกตั้ง หากไม่พอใจอะไรก็ใช้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมายึดกรุงเทพฯ ปิดสนามบิน
อันนี้สำคัญมาก ผมอยากโน้มน้าวรัฐบาลว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มันทำหน้าที่ไม่สำเร็จในการ เป็นกติกาการอยู่ร่วมกันของประชาชนและของประเทศ และแก้ปัญหาอย่างสันติภายใต้กติกา เพราะคนรู้สึกว่ากติกานี้ไม่ได้เป็นกติกาของประชาชนในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นกติกาของ คสช.ที่เอื้อต่อ คสช.ในการมีอำนาจต่อไปมากกว่า
-หากนายกฯ บอกว่าไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปสั่งอะไรไม่ได้ และ ส.ว.ก็เป็นอิสระไปสั่งไม่ได้เช่นกัน?
ก็ ส.ว.ชุดปัจจุบันเขาเลือกมา ส.ส.อาจจะก้ำกึ่งว่านายกฯ จะไปสั่ง ส.ส.ได้หรือไม่อย่างไร แต่ ส.ว.อย่าลืมว่า คสช.เป็นคนเลือกมา ผมไม่ได้บอกว่าให้นายกฯ ไปสั่ง แต่มันคือกระบวนการที่ไปขอความร่วมมือ ขอความสนับสนุนที่นายกฯ ในระบอบประชาธิปไตยทำได้อยู่แล้ว เพราะอย่างการที่นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ออกมาจากมติ ครม. ก็ต้องไปขอเสียงจากรัฐสภาให้โหวตผ่าน แล้วทีทำไมร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ของรัฐบาลถึงผ่านได้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. พูดง่ายๆ อะไรที่จะไม่ทำก็จะมาบอกว่าสั่งไม่ได้
-เรื่องการแก้ไข รธน.จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคมได้ไหม หากมีการอ้างว่าประชามติ 16 ล้านเสียงที่เห็นชอบ รธน.อาจไม่เห็นด้วยให้แก้ไข?
คือคนที่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ในตอนนั้น มีเยอะเลยนะครับที่รับเพราะอยากให้มีการเลือกตั้ง แล้วก็ไม่รู้เลยว่าจะมีการสืบทอดอำนาจผ่าน ส.ว.แบบนี้ หากลบตรงนี้ออกไปตัวเลขคนที่รับร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ อาจจะน้อยกว่าตัวเลขคนที่ไม่รับก็ได้ แล้วถ้าหากดูตัวเลขคะแนนเสียงของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 23 มีนาคม 2562 พรรคการเมืองแบ่งเป็นพรรคที่ประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ กับพรรคการเมืองที่ประกาศไม่เอาพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมีพรรคการเมือง 3 พรรคที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รวมคะแนนแล้วคือ 8 ล้านคะแนน ขณะที่พรรคการเมืองซึ่งประกาศไม่เอาพลเอกประยุทธ์ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และอื่นๆ รวมแล้วได้ 16 ล้านคะแนน หากไม่มี ส.ว. 250 เสียงที่พลเอกประยุทธ์เลือกไว้ก็ไม่มีทางได้เป็นนายกฯ หรอกครับ เพราะคะแนนแพ้กันครึ่งๆ
ฉันทานุมัติในการเอาหรือไม่เอาพลเอกประยุทธ์จึงชัดเจนตั้งแต่วันเลือกตั้ง 23 มีนาคม 2562 แล้ว แต่ถามว่าต้องเกรงใจ 8 ล้านเสียงที่เอาพลเอกประยุทธ์ไหม ก็ต้องเกรงใจ เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เสียงข้างมาก ต้องเคารพเสียงข้างน้อยด้วย แต่ปัญหาคือเรากำลังพูดถึงรัฐธรรมนูญที่คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่เอาพลเอกประยุทธ์เขาไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่จะให้ใช้กันต่อไป จึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ดังนั้นถ้าจะถามว่าแล้วจะเกิดความขัดแย้งจากการแก้ไข รธน.ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเวลานี้เราก็ขัดแย้งกันอยู่แล้ว แต่ที่ผมเสนอคือให้ยุติความขัดแย้งด้วยการมาตกลงกติกากัน โดยหากจะเห็นต่างทะเลาะกันก็ต้องอยู่ภายใต้กติกา วิธีการที่จะหยุดความขัดแย้งก็คือ การมาตกลงกันดีกว่าว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ภายใต้กติกาแบบไหนที่เราจะมาตกลงกัน ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มันไม่สำเร็จในข้อนี้ ผมเองก็ไม่ได้ปักใจว่าต้องมาร่างใหม่ทั้งฉบับเสมอไป จะแก้เป็นจุดๆ ก็ได้ ในจุดที่เป็นปัญหาทั้งหลาย เช่น ระบบเลือกตั้ง, เรื่องของ ส.ว. พวกนี้ที่ต้องแก้ แต่มันต้องแก้เยอะ แล้วก็แก้ที่มาไม่ได้ ร่างใหม่ทั้งฉบับจึงมีข้อดีอยู่มาก
"ผมเห็นว่านายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้หรอกครับ รัฐธรรมนูญก็ใช้มา 3 ปีกว่า เห็นข้อบกพร่องเยอะแล้ว ก่อนเลือกตั้งครั้งหน้ายังไงก็ต้องแก้ เพียงแต่จะยอมให้แก้แบบให้ร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับหรือไม่เท่านั้น ซึ่งตอนนี้นายกรัฐมนตรีเขาก็ให้สัมภาษณ์แล้วนี่ครับว่าเห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะแก้อย่างไรหรือจะแก้จริงหรือไม่ หรือแค่ลดกระแสเรียกร้องของนักศึกษาก็ต้องติดตามกันต่อไป"
เมื่อถามถึงว่ามีข้อเสนออย่างไรในการทำให้กระบวนการแก้ไข รธน.เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง "ดร.ปริญญา นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน" มีความเห็นว่า ลำดับแรกต้องมาพูดกันให้ชัดก่อนว่า การแก้ไข รธน.รอบนี้หากจะทำ จะทำอย่างไร จะแก้เป็นรายมาตรา แก้เป็นเรื่องๆ แต่มันก็ไม่จบหรอก ก็จะเหมือนตอนแก้ รธน.ปี 2534 ที่สุดท้ายก็ต้องมาร่างกันใหม่ทั้งฉบับอยู่ดี หรือจะให้มีการยกร่าง รธน.กันใหม่ทั้งฉบับเลย สิ่งนี้คือเรื่องแรกที่ต้องมาตกลงกัน ก็ต้องรอฟังรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร
"รัฐบาลจะไม่ทำอะไรเลยคงไม่ได้ เพราะในทางการเมืองเสียงเรียกร้องต่างๆ จะดังมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกระแสที่มาแรงที่สุดก็คือ การเรียกร้องจากนิสิตนักศึกษาที่เรียกร้องให้แก้ไข รธน. ยุบสภา รัฐบาลนิ่งเฉยไม่ได้กับกระแสการเมืองแบบนี้ รัฐบาลต้องฟัง"
ถามความเห็นถึงท่าทีการสนับสนุนให้มีการแก้ไข รธน.จากคนฝ่ายรัฐบาล อย่างเช่นคณะกรรมาธิการชุดนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่แถลงข่าวแสดงท่าทีสนับสนุนการแก้ไข รธน. คิดว่าเป็นเรื่องของการต้องการที่จะลดกระแสแฟลชม็อบหรือไม่ เรื่องนี้ "ดร.ปริญญา" กล่าวตอบว่า เราไปสรุปแบบนั้นก็ไม่ได้ว่าเขามีเจตนาแค่นั้น คือเขาอาจมีเจตนาต้องการให้มีการนำไปสู่การแก้ไข รธน.จริงๆ ก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ กมธ.ชุดดังกล่าวต้องไปผลักดันเรื่องนี้ต่อ เพราะหาก กมธ.จบแค่แถลงข่าวให้แก้ไขมาตรา 256 แล้วก็ยื่นให้รัฐบาล ก็แสดงว่าสิ่งที่ กมธ.ทำไปก็ แค่กลบกระแส ถ้า กมธ.จะทำเรื่องแก้ไข รธน.จริงๆ คนใน กมธ.ตั้งแต่ประธานลงมาต้องไปผลักดันเรื่องนี้ต่อเนื่อง เช่นขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ไปเดินสายพบพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงเดินสายไปคุยกับ ส.ว.เพื่อไปบอกว่าสิ่งที่คณะ กมธ.ทำข้อเสนอออกมา มันคือทางออกของบ้านเมืองระยะยาวอย่างแท้จริง
-คิดว่าการแก้ไข รธน. สุดท้ายแล้วจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์?
ผมเชื่อว่า รธน.ฉบับปัจจุบันยังไงก็ต้องมีการแก้ไขแน่นอน ผมไม่เชื่อว่า รธน.ปี 2560 จะเป็น รธน.ฉบับถาวรได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมา รธน.ไทยที่เรียกกันว่า รธน.ฉบับถาวรก็ไม่มีฉบับไหนถาวร ก็จบลงด้วยการถูกฉีกทิ้งทุกฉบับ แต่มันควรจะพอเสียที รธน.ไทยที่มีมาแล้ว 20 ฉบับ มันควรจะมาถึงฉบับสุดท้ายเสียที โดยการนำบทเรียนทุกอย่างที่เราเคยผิดพลาดมาดูว่า ที่ผ่านมาเราล้มเหลวตรงไหน เราต้องพอแล้วกับการรัฐประหาร การฉีกทิ้ง รธน.แล้วก็ร่างใหม่แล้วก็ฉีกทิ้งและมีการนองเลือด ทุกอย่างควรจบได้แล้ว เรามาตั้งหลักกันดีกว่าว่าสิ่งที่เคยผ่านมาเราจะไม่ให้เกิดขึ้นอีกแล้ว ซึ่ง รธน.ปี 2560 มันไม่ตอบโจทย์ตรงนี้เพราะมาจากผู้ยึดอำนาจ แล้วมีการวางกลไกการสืบทอดอำนาจ ผมเชื่อว่ายังไงก็ต้องมีการแก้ไข รธน.อย่างแน่นอน แต่จะสำเร็จหรือไม่ความจริงก็ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล ตัวพลเอกประยุทธ์ที่เป็นอดีตหัวหน้า คสช.ที่เลือก ส.ว. 250 คนไว้แต่เพียงอย่างเดียวหรอกครับ เพราะถ้าประชาชนพร้อมใจกันเรียกร้อง นายกรัฐมนตรีและ ส.ว.เขาก็ขัดขวางไม่ได้หรอกครับ ดังเช่นตอนปี 2540 มีเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติเศรษฐกิจเวลานั้นก็เป็นตัวเร่ง คนเห็นว่าเศรษฐกิจมันพังเพราะการเมืองแย่ ทำให้คนเห็นว่าต้องปฏิรูปการเมือง จนเกิดกระแสกดดันทำให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ลงมติรับร่าง รธน.
"ส่วนรอบนี้ต้องดูว่าประชาชนจะเห็นด้วยแค่ไหนในเรื่องการแก้ไข รธน. ถ้าเกิดกระแสจากประชาชนเป็นดังเช่นในปี 2540 ผมเชื่อว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 และจะเกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญในกระบวนการประชาธิปไตยและเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายจริงๆ ได้ครับ" ดร.ปริญญากล่าวย้ำ.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
.....................................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |